กะเหรี่ยงไม่ปล่อย"ทหารเมียนมา" กลับขึ้นเครื่องที่สนามบินแม่สอด

08 เม.ย. 2567 | 05:03 น.

กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ยังไม่ยอมปล่อยทหารเมียนมา ขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก ตามที่รัฐบาลเมียนมาขอผ่านรัฐบาลไทย ต้องตีเครื่องบินกลับ

เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 7 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด อ.แม่สอด จังหวัดตาก เครื่องบินโดยสารแบบเหมาลำ  Atr 72-600 Myan Ma Airlines ได้บินมารับทหารเมียนมาที่ชายแดนไทย- เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศเมียนมา ทั้งนี้หลังจากที่นายทหารเมียนมาทั้งหมดยอมมอบตัวกับฝ่ายกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง- The Karen National Union(KNU.) และกองกำลังปกป้องประชาชน(PDF.) 

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านได้ยึดค่ายทหาร กรมทหารราบ และที่ตั้งกองบังคับการยุทธวิธี ในพื้นที่บ้านปางกาน บ้านผาลู และในเขตเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.แม่สอด ซึ่งเครื่องบินได้วางแผนจะรับทหารชุดแรกประมาณ 20 คนตั้งแต่ระดับยศพลจัตวา , พันเอก พันโท และพันตรี พร้อมครอบครัว ประมาณ 20 คน

โดยเครื่องบินได้บินมารอที่ท่าอากาศยานแม่สอดประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง ปรากฎว่าคณะนายทหารเมียนมาไม่มา จึงบินกลับไปประเทศทันที เนื่องจากทหาร The Karen National Union -KNU.และฝ่ายต่อต้านยังไม่ยอมปล่อยตัว โดยบรรยากาศในสนามบินเงียบมากมีแต่เจ้าหน้าท่าอากาศยานไปรอช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการจัดการในท่าอากาศยาน  ขณะทางสื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปในท่าอากาศยานได้ เนื่องจากได้ปิดประตูด้านหน้าไว้

สำหรับทหารเมียนมา และครอบครัวที่จะเดินทางไปยังประเทศเมียนมามีทั้งหมด 617 คน แยกเป็นนายทหาร 67 นาย ทหารชั้นประทวน 410 คน ทหารหญิง 56 คน ครอบครัว 81 คน รวมทั้งหมด 617 คน โดยทางรัฐบาลทหารเมียนมาได้ประสานกับทางรัฐบาลไทย ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และใช้เวลาไปรับทหารเมียนมาเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2567 จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2567

กะเหรี่ยงไม่ปล่อย"ทหารเมียนมา" กลับขึ้นเครื่องที่สนามบินแม่สอด

พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ให้ข้อมูล ว่าในตัวจังหวัดเมียวดี ยังคงเหลือฐานของทหารเมียนมาอยู่ 1 ฐาน คือค่ายผาซอง อยู่ในตัวเมืองเมียวดี ห่างจากแนวชายแดนไทย ประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บก.พัน.ร.275 ,กองพันปืนใหญ่ที่ 310 และ บก.พล.ร.เบา 44 ส่วนหน้า

 

สถานการณ์ล่าสุดวันนี้ (8 เม.ย. 67 ) กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ยอมแพ้ แต่ทางฝ่ายทหารเมียนมาในค่ายนี้ยังไม่ตอบรับ คาดว่าจะเจรจาในเรื่องเงื่อนไขกันอยู่ เนื่องจากเป็นที่ตั้งสำคัญ และมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงคือ ผบ.พล.ร.เบา 44 อยู่ด้วย แต่สุดท้ายก็น่าจะยอมแพ้ เพราะฝ่ายทหารเมียนมาไม่สามารถส่งกำลังมาเพิ่มเติม หรือให้การสนับสนุน

ทั้งนี้ แหล่งข่าวคาดการณ์ว่า ในอนาคต หากฝ่ายกะเหรี่ยงหรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา สามารถยึดเมืองเมียวดีไว้ทั้งหมด สิ่งที่จะเกิด 2 ประการคือ

1.ฝ่ายเมียนมาสามารถเจรจากับกลุ่มกะเหรี่ยงได้มีการแบ่งภาษีกันก็จะทำให้การค้าขายสามารถเดินหน้าต่อไปได้  และ2. หากฝ่ายเมียนมาใช้ความรุนแรงปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในแหล่งชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจก็จะเกิดผลกระทบกับประเทศไทยคือน่าจะมีผู้อพยพหนีข้ามมาเป็นจำนวนมาก