หอฯตากจับตาชายแดนไทย-เมียนมา หลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลยึด"เมียวดี" สำเร็จ

08 เม.ย. 2567 | 04:28 น.

หอการค้าจังหวัดตาก พร้อมรับมือผลกระทบค้าชายแดน หลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมายึด”จังหวัดเมียวดี”สำเร็จ ขณะที่บรรยากาศหน้าด่านพรมแดนยังปกติ เผย 2เดือนแรกของปีนี้มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 10 จากเดือนละ 7,000-10,000 ล้านบาท

 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ในฐานะที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก  กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนแม่สอด-เมียวดี ภายหลังจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาได้เข้ายึดค่ายทหารเมียนมา และควบคุมจังหวัดเมียวดีว่า ทราบว่า เมื่อคืนวันที่ 7 เมษายน 2567 มีเครื่องบินทหารเมียนมาจะมารับข้าราชการของรัฐ และทหารเมียนมา รวมถึงครอบครัว จำนวน 617 คน ที่ท่าอากาศแม่สอด  แต่คาดว่าการเจรจาของ 2 ฝ่ายระหว่างกลุ่มต่อต้าน และรัฐบาลเมียนมายังไม่ลงตัว จึงตีเครื่องเปล่ากลับ

นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง

ทั้งนี้ คาดว่า วันที่ 8-9 เมษายน 2567 หากว่ามีการเจรจาลงตัว จะมีเครื่องบินจากเมียนมาบินมายังท่าอากกาศแม่สอดอีกครั้ง เพื่อนำผู้ลี้ภัยกลับเมียนมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และซับซ้อนของประเทศเพื่อนบ้าน ทางภาคเอกชนชายแดนก็จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 
         
 

ขณะที่วันนี้ บรรยากาศหน้าด่านพรมแดนแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตากยังปกติ มีการเปิดด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดีให้ประชาชน 2 ฝั่งเดินทางได้ตามปกติ เช่นเดียวกันกับการออก และนำเข้า ของไทย-เมียนมา ยังคงดำเนินการตามปกติ  ไม่ได้มีการระงับแต่อย่างใด และเป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ด่านเมียวดี  มีเจ้าหน้าที่ทั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ศุลกากรชุดเดิม ของรัฐบาลเมียนมา มาทำกงานกันตามปกติ

เส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมียนมา ด้านแม่สอด-เมียวดี

ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ทางฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมา คำนึงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางสำคัญในการค้าระหว่างไทย-เมียนมา  ที่มูลค่าการค้ามากกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท เฉพาะปี 2566 มูลค่าการค้าไทย-เมียนมา ผ่านด่านแม่สอด-เมียนดี มากถึง 130,000 ล้านบาท 

เส้นทางทางขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมียนมา ด้านแม่สอด-เมียวดี

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีการสู้รบอย่างหนักตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งจังหวัดเมียวดี ตรงข้ามจังหวัดตาก นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นมานั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ประเมินได้จากตัวเลขที่เคยส่งออกเดือนละ 7,000-10,000 ล้านบาท เริ่มลดลง ดูได้จากตัวเลข 2 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า การส่งออกลดลงร้อยละ10 ขณะที่การนำเข้าจากเมียนมาลดลง ร้อยละ 50 แต่หลังจากนี้ เมื่อสถานการณ์ชายแดนเปลี่ยนแปลง ทางผู้ประกอบการชายแดนไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 
         
 

 นายบรรพต ก่อเกียติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก ในฐานะผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเข้าเมียนมา กล่าวว่า เชื่อว่ากลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา และทหารเมียนมา      จะมีการเจรจาลงตัวในเร็ววันนี้ เพราะแม้ว่าจะสามารถเข้ามายึดจังหวัดเมียวดีสำเร็จ แต่ใน  เชิงเศรษฐกิจทุกฝ่ายจะคำนึงไม่ให้สูญเสียผลประโยชน์ และกระทบต่อการค้าชายแดน โดยเฉพาะเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-เนปิดอว์ ถือว่าเป็นเส้นทางสำคัญที่ค้าขายปีละแสนล้านบาท และใกล้กับเนปิดอว์มากที่สุด  

นายบรรพต ก่อเกียติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก

อีกทั้งแทบจะร้อยละ 90 ประชาชนเมียนมาพึ่งพาสินค้าอุปกโภคบริโภคจากไทย ส่วนปัญหาในประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าต้องจับตาวันต่อ  วัน และทางรัฐบาลไทยอาจจะต้องเตรียมแผนรับมือทั้งความปลอดภัย และการลี้ภัยไว้ด้วย หากสถานการณ์ยืดเยื้อ  

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการชายแดนด้านอำเภอแม่สอด ยังมองว่า เป็นเรื่องปกติที่การค้าชายแดนจะได้รับผลกระทบ และอาจจะต้องชะลอตัวไปในระยะสั้นจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน เพราะเส้นทางการลำเลียงสินค้า    อยู่ระหว่างการทำถนนใหม่ ทำให้การขนส่งสินค้าลำบาก แต่สิ่งหนึ่งที่จะหลีกเลียงไม่ได้คือ ต้นทุนของการขนส่งจะสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งต่อไปการการควบคุมเส้นทางอยู่ในอำนาจของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ก็ต้องดูทิศทางว่า จะมีการบริหารจัดการอย่างไนกับการส่งออก-นำเข้าสินค้าระหว่างไทย-เมียนมา