หัวหน้าดับไฟใต้ "พลเรือนคนแรก" ดีไซน์สันติสุข-ขีดเส้น "ใต้รัฐธรรมนูญ"

23 ก.พ. 2567 | 01:00 น.

"ฉัตรชัย บางชวด" หัวหน้าพูดคุยสันติสุข "พลเรือนคนแรก" กางโรดแมปดับไฟใต้ - เซตซีโร่ความรุนแรง เปิดเบื้องหลัง-เบื้องลึกเจรจาลับสันติภาพ

KEY

POINTS

  • หัวหน้าพูดคุยสันติสุข “พลเรือนคนแรก” กางโรดแมปดับไฟใต้ – เปิดพิมพ์เขียวแผนสันติสุข JCPP คิ๊กออฟ ลงนาม เมษายน 67 ปูทางยุติความรุนแรง 
  • ผ่าโครงสร้าง “คณะเทคนิค” กอ.รมน.ภาค 4 สน.นั่งหัวโต๊ะ จุดชี้ขาด “ข้อตกลงสันติสุข” ไปต่อ หรือ เลื่อนออกไป 
  • เปิดเบื้องลึก “เจรจาลับเบอร์ลิน” จุดเปลี่ยน บีอาร์เอ็น “องค์กรลับ” กลับมาสู่โต๊ะเจรจา โดยยึดหลักสันติวิธี  

แสงสว่างการเจรจาสันติภาพ-สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาอยู่ที่ปลายอุโมงค์อีกครั้ง หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี จรดปากกาลงนามใน “คำสั่งพิเศษ” ตั้ง “คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข” 

“ฉัตรชัย บางชวด” หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขคนล่าสุด-คนแรกที่เป็นพลเรือน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” แบบเอ็กซ์คลูซีพวงในสุดในการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้แทนต่างจากรัฐ

โปร์ไฟล์หัวหน้าพูดคุยสันติสุข “คนที่ห้า” 

ทันทีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 344/2566 แต่งตั้ง “ฉัตรชัย” เป็น “หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” เกิดเครื่องหมายคำถาม ว่า เขาคือใคร ? สาเหตุใด “รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ” ถึงแหวกธรรมเนียมหัวหน้าคณะพูดคุย 4 คนที่ผ่านมา ที่มี “ยศนำหน้า” เป็น “นายพล”  พุ่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย "พลเรือนคนแรก" 

“ฉัตรชัย” เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการแนะนำจุดเริ่มต้นของโปรไฟล์ ว่า เป็นผู้แทนสมช.นั่งอยู่บนโต๊ะคณะพูดคุยตั้งแต่ยุคที่มี "พล.อ.อักษรา เกิดผล" เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ซึ่งขณะนั้นเขายังเป็นผู้อำนวยการกองจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมช. ต่อมาก็ได้รับมอบหมายจาก "อนุสิษฐ คุณากร" เลขาธิการ สมช.ขณะนั้นให้ร่วมวงสันติภาพตลอดมา  

“ผมไปประชุมที่มาเลเซียทุกครั้ง เห็นบรรยากาศการพูดคุย ทุกวันนี้ก็ยังรู้จักกลุ่มผู้เห็นต่าง พอมาถึงยุคของท่านพล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะพูดก็ยังเป็นแทนสมช.ในคณะพูดคุย จนมาถึงยุคพล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย"

แม้ตำแหน่งจะเลื่อนขั้นขึ้นไปตามลำดับจนกระทั่งมาดำรงตำแหน่ง "รองเลขาธิการสมช." ในปัจจุบันก็ยังเป็นตัวแทนสมช.ในคณะพูดคุยมาโดยตลอด”

ดังนั้นการที่ "ฉัตรชัย" ได้รับการแต่งตั้งเป็น "หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขคนที่ห้า" เขาจึงไม่ใช่ “หน้าใหม่” แต่เป็น “คนหน้าเก่า” ที่คลุกวงเจรจามาแล้วกับหัวหน้าพูดคุยสันติสุขทั้ง 3 ยุค 

การเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย “พลเรือน” ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะเขายึดหลักการ ว่า การทำงานต้องเชื่อมทหาร ตำรวจ หน่วยข่าว-หน่วยความมั่นคงทุกฝ่าย เพื่อให้การประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง โดยให้เกียรติทุกคน พร้อมรับฟังข้อติติง ไม่มีสิ่งอื่นแอบแฝง ทำตามอำนาจหน้าที่ 

คอนเนคชันบีอาร์เอ็น-มารา ปาตานี

จุดแข็ง-ข้อได้เปรียบของ “ฉัตรชัย” คือ การเป็น “มือทำงาน” อยู่เบื้องหลัง ที่เป็น “ตัวจริง-เสียงจริง” ในวงเจรจาสันติสุขตั้งแต่เริ่มต้น เขาจึงเห็น "เนื้องาน" ทั้งหมด โดยมี "ทีมงานมันสมอง" เป็น "แบ็กอัพ" และที่สำคัญประสบการณ์ทำให้เขามี "คอนเน็คชั่น" ที่เป็น “กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ” ชนิดมองตาทะลุถึงหัวใจ  

สมช.ยังเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะพูดคุย ซึ่งเขาเป็น "ผู้กำกับฝ่ายเลขาฯ"  ผ่านการบริหารงานองค์กรความมั่นคงและเสนอเรื่องให้กับหัวหน้าคณะพูดคุย เห็นการทำงานเนื้อในทั้งหมด โดยมีทีมงานใน สมช.ทั้งหมดเป็นตัวขับเคลื่อน 

“ผมรู้จักมาราปาตานี บีอาร์เอ็นผมก็รู้จัก อาจจะเป็นข้อดีให้ผมสื่อสารกับเขาได้ง่าย มีอะไรก็พอจะคุยกันได้ เจอกันก็ยิ้มแย้มกัน ส่วนการพูดคุยก็เข้มข้นบนโต๊ะเจรจาไป”

อินไซด์วงเจรจาสันติสุข

“ฉัตรชัย” เล่า “อินไซด์” การพูดคุย “วงในสุด” ตั้งแต่ยุคที่มีพล.อ.อักษรา เป็นหัวหน้าพูดคุย ว่า คุยกับกลุ่มมาราปาตานี เป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยกลุ่มเล็กกลุ่นน้อย เกิดจากการรวมตัวกันหลายกลุ่ม เช่น พูโล บีอาร์เอ็นบางส่วน ไม่แสดงตัวตนมาก อยู่เบื้องหลัง เป็นองค์กรลับอยู่ใต้ดิน 

ต่อมาบีอาร์เอ็นเปิดตัวในยุคที่มีพล.อ.วัลลภ เป็นหัวหน้าพูดคุย จึงมีการคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเห็นชอบร่วมกันใน “หลักการทั่วไป” หรือ General Principal จำนวน 3 ข้อ หนึ่ง ยุติความรุนแรง สอง การปรึกษาหารือสาธารณะ และสามการหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การจัดแผนสันติสุขแบบองค์รวมในปัจจุบัน   

“เราจัดอันดับคุยกับบีอาร์เอ็นก่อน และเปิดช่องให้กลุ่มอื่น ๆ เข้ามาพูดคุยด้วย ไม่เคยปิดกั้นกลุ่มอื่น  ไม่เคยห้ามบีอาร์เอ็นที่จะไปเอากลุ่มอื่นมาร่วมพูดคุย เรายินดีพูดคุยกับทุกกลุ่ม ภาครัฐเจตนาดี จริงจัง จริงใจ ไม่ได้คุยเล่น ๆ คุยจริงจังให้เกิดผล” 

โรดแมปดับไฟใต้ ฉบับ “หัวหน้าพูดคุยพลเรือน”  

“หัวหน้าพูดคุย” กางโรดแมปดับไฟใต้ ฉบับ “พลเรือนคนแรก” ว่า ไม่ใช่ของใหม่ เป็นความต่อเนื่องจาก “หัวหน้าคณะพูดคุยรุ่นพี่”   

เริ่มมีความชัดเจนมาตั้งแต่สมัยที่มีพล.อ.วัลลภ เป็นหัวหน้าพูดคุย เรียกว่า แผนสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) เป็นกรอบการทำงานและกิจกรรมร่วมกันระหว่างรัฐกับกลุ่มผู้เห็นต่างบีอาร์เอ็น เป็นเพียงกิจกรรมที่ทำงานร่วมกัน 

การยุติหรือลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ เปิดช่องทางผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความเห็นเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น ประชาชนในพื้นที่ การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหา

“ไม่ใช่เป็นข้อสรุปที่จะนำไปสู่ผลที่เป็นห่วงกังวล ข่าวที่ออกมาว่า แผน ฯ นี้ นำไปสู่ข้อสรุป ข้อยุติแล้ว และจะไปนำสู่เรื่องนั้น เรื่องนี้ ยังไม่ถึงจุดนั้น เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลสู่การตัดสินใจข้อตกลงสันติภาพ”

“ฉัตรชัย” ขยายความว่า ผลที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เช่น สิ่งที่ฝ่ายเห็นต่างจากรัฐเสนอมีเรื่องอะไรบ้าง และรัฐตอบสนองเรื่องอะไรบ้าง ตอบสนองในสิ่งที่รัฐตัดสินใจแล้วและจะทำอะไรให้บ้าง เช่น เรื่องอัตลักษณ์ วัฒนธรรม 

“เรื่องการเมืองการปกครอง การกระจายอำนาจ ถ้าจะต้องมี ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าทุกฝ่ายยอมรับ ก็จะมีข้อตกลงสันติภาพเกิดขึ้น”
“หากทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามแผนฯ ครบถ้วน เรียบร้อย ตามที่ประกาศไว้ในเดือนเมษายนจนถึงปลายปี 67 รัฐจะต้องตัดสินใจตามขั้นตอน เข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพ สันติสุขเกิดขึ้น”

เซตซีโร่ความรุนแรง-ความรุนแรงเป็นศูนย์

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายใต้ข้อตกลงสันติภาพ ถ้าไม่เกิดเหตุรุนแรงเลย กฎหมายพิเศษไม่มีความจำเป็น รัฐพร้อมยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ก่อน ไม่ต้องรอข้อตกลงสันติภาพด้วยซ้ำ ซึ่งรัฐบาลนี้มีเป้าหมายยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมดให้เร็วกว่าปี 70 เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดการพูดคุย เราคาดหวังว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป จะทำให้เหตุรุนแรงลดลง 

“เชื่อว่าอาจจะมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย ยังก่อเหตุอยู่ แต่ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่า เป็นกลุ่มไหน แต่คนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับแผน แผนต้องเดินหน้าต่อไป ถ้าจะให้ดีที่สุด ความรุนแรงควรจะไปถึงจุดที่ไม่ควรมีเลย หรือเป็นศูนย์ ถือว่าสมบูรณ์แบบ” 

ขณะเดียวกันผู้กระทำผิดกฎหมาย รัฐมีกฎหมายพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 21 เป็นช่องทางให้คนที่เป็นนักรบ มีคดีต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และโครงการพาคนกลับบ้าน

“ผมเคารพคนที่เป็นนักรบ เขาไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน มีอุดมการณ์ เมื่อช่องเปิดแล้ว ทุกอย่างคลี่คลาย รัฐตอบสนองในสิ่งที่เคยคับข้องใจ มีช่องกลับคืนสู่สังคม มีการอภัยโทษ คล้ายกับนโยบาย คำสั่ง 66/23”  

ฝ่ายรัฐประกาศเจตนารมณ์แน่วแน่เรื่องเงื่อนเวลา รู้ว่าอุปสรรคข้างหน้ามี คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เวลาเคลื่อนไปบ้าง แต่หากมีโรดแมปชัดเจน แสดงถึงความตั้งใจ จริงใจ  

“ขึ้นอยู่กับคณะเทคนิคด้วย ถ้าเรียบร้อยดี รับรองแผนจีซีพีพีในเดือนเมษายน แต่ถ้ายังไม่ลงตัว ต้องประชุมอีก 4-5 ครั้ง การรับรองแผนก็อาจจะเลื่อนออกไป”

จุดเสี่ยง “ล้มโต๊ะเจรจา” 

จากประสบการณ์การร่วมโต๊ะเจรา เขาจับสัญญาณได้ทันทีว่า “จุดเสี่ยง” จนทำให้ “ไทม์ไลน์” ไม่เป็นไปตามโรดแมป และเลวร้ายที่สุด นำไปสู่การ “ล้มโต๊ะเจราจา” คือ “แผนหลุด” ออกมาก่อนเวลาอันควร และ “ความพร้อม” ของกลุ่มผู้เห็นต่าง

“สังคมมีคำถาม เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สับสน เกิดกระแสทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีมุมมองหลากหลายมากขึ้น ทั้งมุมฝ่ายรัฐเสียเปรียบ มุมฝ่ายบีอาร์เอ็นเสียเปรียบ”

ทั้งสองฝ่ายต้องถกให้ได้ข้อสรุปก่อน แผนจึงจะออกมาสู่สาธารณะ แต่ข้อตกลงยังไม่ได้ข้อสรุป จะต้องมีการประชุมของ “คณะเทคนิค” ของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้มีข้อสรุป

“การเอามาปล่อยในสื่อต่าง ๆ เรื่องนี้ควรจะอยู่ในที่ประชุม เพราะยังไม่ได้ข้อสรุป กติกาการประชุมที่ตกลงกันไว้ต้องสงวนไว้ก่อน ควรจะเก็บไว้ ได้ข้อยุติค่อยมาแถลง จะเป็นผลดีมากกว่า ไม่ควรปล่อยออกมา”

ทำให้เกิดเป็นกระแสและความเห็นหลากหลายมากขึ้น การขับเคลื่อนยากลำบากในการหาข้อสรุป เสียงแตก เกิดเป็นข้อจำกัด ไม่อยากให้เป็น รายละเอียดมาพูดคุยกันได้ ปรับได้ ยังยืดหยุ่น  

“รัฐไทยพร้อม เป็นปึกแผ่น มีเอกภาพ เราประกาศแล้วต้องทำ เป็นนโยบายของรัฐบาล เป็นหนึ่งเดียว นายกฯ สมช. และ ทหาร ซึ่งร่วมดูตั้งแต่ต้นแล้วว่า ทำได้ แต่กลุ่มบีอาร์เอ็นมีความหลากหลาย ทั้งปีกทหาร ที่มีหลายมุม และปีกการเมือง อาจจะเริ่มทดลองก่อน เช่น การลดความรุนแรงบางพื้นที่ เพื่อแสดงความจริงใจ ทางกลับกันฝ่ายรัฐก็ทำได้จริง” 

เจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายออกไปแล้ว แม้กระทั่งคนในพื้นที่ อยากจะเดินต่อ เวลาอาจจะเคลื่อนออกไปก็เป็นไปได้ หรือแผนจะปรับหรือไม่ 

“ยังเชื่อว่า แผนที่เห็นชอบร่วมกันที่มาเลเซีย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลักการดี บีอาร์เอ็นเห็นด้วย 80 % ส่วนรายละเอียดบางเรื่องที่ละเอียดอ่อนต้องมาถกกัน การรณรงค์แผนต้องผลักดันต่อ เป็นเครื่องมือที่จะไปสู่ข้อตกลงสันติภาพ” 

ผ่าโครงสร้าง “คณะเทคนิค” 

อีกจุดหนึ่งที่จะ "ชี้ขาด" โรดแมปสันติสุข คือ "คณะเทคนิค" โดยฝ่ายไทยมี "พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์" รองผู้อำนวยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็น “หัวหน้าคณะเทคนิค” องค์ประกอบ ภาคประชาชนในพื้นที่ 

“ที่มาของการมอบ พล.ท.ปราโมท เป็นหัวหน้าคณะเทคนิค เพราะจะเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่จะนำมาพิจารณาเรื่องสำคัญด้วย ไม่ใช่สมช.ทำเอง ทหารทำตาม แต่ทหารต้องให้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก”

โดยเทคนิค “คณะเทคนิค” จะประชุมทางเทคนิคอีกสองครั้ง ครั้งแรก ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ครั้งที่สอง ต้นเดือนมีนาคม เพื่อลงรายลึกในรายละเอียดของแผนเจซีพีพีอะไรเป็นข้อจำกัด อะไรทำได้-ทำไม่ได้ให้ลงตัว ชัดเจน ก่อนลงนามรับรองแผนฯ ในเดือนเมษายน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และ “ข้อตกลงสันติสุข” ในช่วงปลายปี 2567

ดีไซน์ข้อตกลงสันติภาพ-ขีดเส้น “ใต้รัฐธรรมนูญ"

“ฉัตรชัย” ในฐานะ “ตัวแทนรัฐไทย” ที่ต้องร่วมวงออกแบบหน้าตา “ข้อตกลงสันติสุข” กับฝ่ายผู้เห็นต่าง “ขีดเส้น” ไว้ชัดเจนว่า ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ เชื่อว่าออกมาแล้วหลักการคือ กรอบใหญ่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลว่าจะขีดเส้นแค่ไหน ยอมตรงจุดไหน

เงื่อนไข-ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นมีหลากหลาย ต้องรอขั้นตอนของการถกเวทีสาธารณะ สุดท้ายต้องประมวลข้อเสนอให้เกิดความพอดี ไม่เกินกรอบ และตอบสนองได้ ฝ่ายผู้เห็นต่างเห็นชอบด้วยว่า ไม่ต้องถึงจุดนั้นแล้ว 

ข้อเสนอหรือเงื่อนไขของกลุ่มผู้เห็นต่างแต่ละกลุ่มส่วนใหญ่คล้ายกัน เช่น การกระจายอำนาจ หลากหลาย แรงไปเลย เลยรัฐธรรมนูญ (แบ่งแยกดินแดน) ลดลั่นลงมาภายใต้รัฐธรรมนูญก็มี แต่รัฐชัดเจนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

“การเรียกร้องต้องคุยด้วยเหตุผล ถ้ามีข้อเสนอและรัฐตอบสนองได้ เป็นผลดีต่อประชาชน อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายต้องยอมรับก็จบ”

“ไม่ใช่ทำเกินขอบเขตและไม่ได้ข้อสรุป ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่การตอบสนองอุดมการณ์สุดโต่งส่วนบุคคล ส่วนองค์กร ถ้าจริงใจต้องนึกถึงประชาชน เรื่องรูปแบบการปกครอง ละเอียดอ่อน ต้องถกกันมาก ต้องตั้งหลักว่า ประชาชนได้ประโยชน์”

คนที่บีอาร์เอ็นไว้ใจ-เชื่อใจมากที่สุดคนหนึ่ง เฉลยถึงเหตุผลที่ต้องคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มแรก เพราะกลุ่มบีอาร์เอ็นเชื่อมโยงกับคนที่ใช้ความรุนแรง หากทำให้ความรุนแรงหมดไปจะเป็นผลดีกับประชาชน แต่ไม่ได้ละทิ้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่น เช่น พูโล มาราปาตานี

เบื้องหลัง “เจรจาลับเบอร์ลิน”

ในฐานะที่ “ฉัตรชัย” เป็นคนทำงานเบื้องหลัง-เบื้องลึก ผ่านประสบการณ์ “ความริเริ่มเบอร์ลิน” กลายเป็นเรื่องเล่า-เล่าขานกันมาในแวดวงนักสันติภาพ

เขาเริ่มเล่าย้อนกลับไปให้ฟังว่า เกิดขึ้นเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเริ่มต้นของการพูดคุย เราพยายามสร้างความไว้วางใจ วางกติกาการคุย ประเด็นที่จะคุย ยังไม่ได้ลงในเนื้อหา 

“ช่วงนั้นเราคุยกับกลุ่มมมารา ปาตานี พอกลุ่มมารา ปาตานี หมดไป เข้าสู่ยุคพล.อ.อุดมชัย ซึ่งเป็นรอยต่อสำคัญ แม้จะเป็นช่วง 1 ปีสั้น ๆ แต่เป็นทีมแรกที่มีโอกาสไปพูดคุยกับบีอาร์เอ็น ซึ่งกำลังเปิดตัวขึ้นมาเพื่อมาพูดคุย พล.อ.อุดมชัยเป็นตัวหลัก โดยมีทีมสมช.ผลักดัน ทำให้กลุ่มบีอาร์เอ็นมีความไว้วางใจมากขึ้น”

เดิมกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็น “องค์กรลับ” ซึ่งเกิดจากความไม่เชื่อมั่นภาครัฐ จึงต้องไปพูดคุยเพื่อสร้างความมั่นใจ เกิดเป็นความไว้วางใจและต้องการกติกาการคุยที่ชัดเจน เช่น คุยแบบไหน อย่างไร ถ้าคุยแล้ว เป็นเรื่องความลับ ไม่เปิดเผย ทั้งสองฝ่ายต้องสงวนไว้ก่อน การพูดต่อสาธารณะต้องได้รับความเห็นชอบก่อน เป็นกติกาที่เป็น “สัญญาใจ” 

ขอให้เขาขยายความคำว่า “สัญญาใจ” หมายถึงความเชื่อมั่นในสมช. การโน้มน้าว การพูดคุย มีอดีตผู้บริหารระดับสูงเคยสร้างความไว้วางใจให้กับบีอาร์เอ็น (จิราพร บุนนาค รองเลขาธิการ สมช.) ผู้เห็นต่างทุกกลุ่มให้การเคารพ โดยการใช้หลักสันติวิธีในการพูดคุย มีความจริงใจ สมช.จึงได้รับอานิสงส์และสืบทอดกันมา 

ส่วนสาเหตุที่บีอาร์เอ็นไว้ใจจนยอมกลับมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง หลายปัจจัย นโยบายภาครัฐเปิดกว้าง หลักประกันความปลอดภัยผู้เห็นต่าง รัฐบาลไทยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ บีอาร์เอ็นเชื่อมั่นว่า รัฐไทยจริงจัง จริงใจ รักษาความลับและให้เกียรติ 

ระหว่างนั้นมีการทดสอบ หยุดก่อเหตุทำได้ไหม เราก็หยุดด้วย บางพื้นที่ ตกลงกันภายใน เช่น ช่วงรอมฎอนสันติสุข ได้ผล 1-2 เดือนหยุดจริง ๆ ไม่มีเหตุเลย ความไว้วางใจจึงมีมากขึ้น

“การคุยทางลับมีมานานแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ โดยมีสมช.เป็นหลัก"

หัวหน้าพูดคุยป้ายแดงทิ้งท้ายว่า ความเป็นพลเรือนทำให้ลดความวาดระแวงไปได้เยอะ สร้างบรรยากาศไว้วางใจ จริงใจ ตอบสนองได้ คนไหนมีปัญหาดูแลได้ ญาติพี่น้องที่อยู่เมืองไทยก็ดูแล ให้เกียรติ ไม่มองว่าเป็นผู้ร้าย มองเป็นผู้เห็นต่าง มีอุดมการณ์ เคารพและรับฟัง  

เปิดพิมพ์เขียว-ไส้ในแผนสันติสุข

สำหรับแผนสันติสุขแบบองค์รวม หรือ "เจซีพีพี" ภายใต้ 3 หลักการที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข-ฝ่ายไทย และตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ-ฝ่ายบีอาร์เอ็นเห็นชอบตรงกันเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  

  • การลด-ยุติความรุนแรง หยุดก่อเหตุ ไม่เคลื่อนย้ายอาวุธ 
  • ทหารลดด่าน ลดการปิดล้อม-ตรวจค้น
  • ประกาศลดพื้นที่-ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนปี 70  
  • เปิดเวทีสาธารณะรับฟังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั่งบีอาร์เอ็น พูโล และมารา ปาตานี  
  • เปิดทาง “นักรบ” บีอาร์เอ็นกลับบ้าน ภายใต้โครงการ "พาคนกลับบ้าน" พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 21