วงเสวนารุมต้าน”ทุนผูกขาด”ยกเป็นวาระประเทศ อัดกลุ่มทุนส่งคนคุมสัมปทานรัฐ

28 ม.ค. 2567 | 11:06 น.

วงเสวนาต้าน “ทุนผูกขาด” ยกเป็นวาระประเทศ “ก้าวไกล”เผยบริษัทต่างชาติรับไม่ได้ ตีจากไทย “ศิธา”โวยตัวแทนทุนส่งคนตัวเองคุมสัมปทานรัฐ “พรรคเป็นธรรม”ฉะแลนด์บริดจ์ “รณกาจ”สับ สุรา ค้าปลีก ไฟฟ้า มีผู้เล่นไม่กี่ราย “นิสิต”จี้แก้ปัญหา “ศิโรตน์”หวั่นผูกขาดเชิงแพลตฟอร์ม

วันที่ 28 ม.ค. 67 ที่โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท องค์กรส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาด Fair Competition & Anti-Monopoly Organization (FCAM) จัดเสวนาหัวข้อ “การแข่งขันที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาดในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง ภาคประชาชน สมาคมทนายความ และอีกหลายองค์กรร่วมเสวนาอย่างคับคั่ง

นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องทุนผูกขาดเป็นวาระสำคัญ ประเทศไทย ประสบปัญหา 3 เรื่อง การแข่งขันต่ำ ทุนผูกขาดสูง คือ 1.ธุรกิจระดับโลกเริ่มถอยจากเมืองไทย เพราะคิดว่าทำไม่ได้ ไม่มีความยุติธรรม 2. การผูกขาดที่มีอยู่เกิดการเหลื่อมล้ำสูง 3.การควบรวมธุรกิจบางอย่างที่กฎหมายการแข่งขันไม่ครอบคลุม ดังนั้นต้องแก้ไขกฎหมายให้สภาพการแข่งขันเกิดขึ้นจริงได้

“เราเคยเรียนมาว่า หากเกิดการแข่งขันเยอะๆ ผลประโยชน์สูงสุดจะอยู่กับประชาชน แต่ในประเทศเรากลายเป็นว่า การแข่งขันต่ำ เลยทำให้เกิดการผูกขาด เกิดความเหลื่อมล้ำสูงสุดในอาเซียน ในกรรมาธิการเศรษฐกิจฯ กำลังติดตามผลกระทบการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม”

นอกจากนี้ กฎหมายการแข่งขันไม่ครอบคลุม ทำให้หลายอุตสาหกรรมหลุดไปจากการแข่งขัน ในต่างประเทศก่อนการควบรวม จะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน ในฝ่ายนิติบัญญัติเราก็พยายามดูในเรื่องนี้

“เรื่องทุนผูกขาดเห็นหลายการเมืองพูดกันหมด แต่พรรคก้าวไกล ก่อนเลือกตั้งเป็นอย่างไร หลังเลือกตั้งก็เป็นอย่างนั้น สิ่งที่กรรมาธิการเศรษฐกิจจะทำคือ ตั้งกรรมการดูว่า หน่วยงานใดไม่อยู่ภายใต้การแข่งขัน ต้องถูกตรวจสอบ และจะมีกรรมการ ติดตามผลกระทบหลังการควบรวมด้วย จะทำเพื่อให้เกิดการแข่งขัน”

ด้าน นายรณกาจ ชินสำราญ ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เราเชื่อว่าผลกระทบการผูกขาดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงมาก ตลาดสุราในบ้านเรา มูลค่ากว่า 5 แสนล้าน แต่มีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย ค้าปลีกมูลค่าทางตลาด 3 ล้านล้าน มีผู้เล่นรายใหญ่บางรายครองส่วนแบ่งถึง 80% ก

ด้านไฟฟ้า โทรคมนาคม มีผู้เล่นไม่กี่คนในตลาด ที่ผ่านมา เกิดภาวะแบบนี้ในบ้านเรา แล้วลูกหลานเราจะเติบโตอย่างไร ประเทศเป็นอย่างไร หากไม่มีการผลักดันหรือทำอะไรกับเรื่องเหล่านี้ได้

นต.ศิธา ทิวารี ประธานองค์กรส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมฯกล่าวว่า เราใกล้ถึงจุดที่ประชากร 10%  ครอบครองสินทรัพย์ 90% ของประเทศ ที่ผ่านมาเราเห็นการตั้งคนเข้าสู่ตำแหน่ง มีทั้งเกี้ยเซี๊ยะ เอื้อประโยชน์ แต่ปัจจุบัน เมื่อนายทุนครอบงำการเมืองได้ กลายเป็นว่า เมื่อธุรกิจไหนที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ เขาจะส่งคนมาเลย ซึ่งภาคการเมืองควรต้องเป็นองค์กรหลักในการแก้ปัญหาเหล่านี้

ขณะที่ นายนิสิต อินทมาโน เลขาธิการองค์กรส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาด  กล่าวว่า การแข่งขันเสรี เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐต้องส่งเสริมทำให้เกิดการแข่งขันเป็นธรรม เป็นประโยชน์กับประชาชน “

“ตอนนี้เป็นเวลาเหมาะสม ดีใจ ที่ตอนนี้มีหลายพรรคการเมืองกล้าพูดคุย เกี่ยวกับการผูกขาด เรามีความหวัง ทุกคนเห็นไปในทางเดียวกัน กลายไปถึงจุดที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง”

นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม แสดงความเห็นว่า  ได้ลงไปแต่ละพื้นที่ ไปคุยกับประชาชน ที่ต่อสู้สิทธิในชุมชน ที่เขาได้รับผลกระทบ ลิดรอนสิทธิประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหมือง นิคมอุตสาหกรรม หรือ แม้แต่เรื่องแลนด์บริดจ์ ที่ยังไม่ได้พิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือการเดินเรือ ทั้งที่เริ่มลดลง เราตามเทรนด์ไม่ทันหรือ ประชาชนในพื้นที่จะได้รับผลกระทบ 

“สิ่งนี้ถือเป็นการผูกขาดนายทุนการเมือง ที่ใช้อำนาจหน้าที่ ดังนั้นเราจะต้องสร้างโครงสร้างการเมืองใหม่ ฝ่ายค้าน รัฐบาล ต้องช่วยกันเกี่ยวกับการผูกขาด โดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

                       วงเสวนารุมต้าน”ทุนผูกขาด”ยกเป็นวาระประเทศ อัดกลุ่มทุนส่งคนคุมสัมปทานรัฐ

นายบุรินทร์ สุขพิศาล กรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้เลวร้ายแต่ไม่ได้อยู่ในจุดที่ดี ปัจจุบันองค์กรมี 2 สถานะ สถานะหนึ่ง คือ เห็นความเป็นไป และอีกสถานะคือ ไม่เห็นความเป็นไป หรือสถานะซ่อน ซึ่งสถานะนี้จะส่งผลต่อความเป็นธรรมและยังมีความผูกขาดได้อยู่ 

ดังนั้น จึงต้องมองไปถึงการแก้ไข และการตรวจสอบการกระจุกตัว ในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง จะทำอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ หากทราบว่า มีการกระจุกตัวของทรัพยากรทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม จึงมองว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองที่จะต้องเข้าไปดูแล

นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การควบรวมโทรคมนาคม มีปัญหา หน่วยงานที่กำกับดูแล กสทช.ควรรักษาประโยชน์ให้ผู้บริโภค เคยส่งจดหมายไปถึง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับมา ประชาชนทำได้เพียงส่งเสียงไป แต่เราอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กสทช. หรือ ฝ่ายนิติบัญญัติ 

สำหรับเรื่องการควบรวม เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค้าปลีก หรือเรื่องอื่น โดยประชาชน ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากที่สุด เหมือนบีบบังคับให้เราซื้อ ใช้ธุรกิจที่มีอยู่ไม่กี่ราย เราจะเป็นหน่วยงานเพื่อจะส่งเสียงไปถึงรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายสยุม ไกรทัศน์ กรรมการฝ่ายวิชาการสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมถ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการทางกฎหมาย เมื่อมีเรื่องร้องเรียนมา หากเห็นว่า เป็นคดีความได้ จะฟ้องให้ แต่ผู้บริโภคฟ้องเองนั้น ค่อนข้างน้อย สภาทนายความ จะให้ความช่วยเหลือกับประชาชน ทางช่องทางกฎหมายให้มากขึ้น 

“กรณีประชาชนพยายามสื่อสารเรื่องทุนผูกขาด แต่กลับโดนฟ้องก่อน โดยกฎหมายมีข้อยกเว้น หากติชมโดยสุจริต ตามครรลองครองธรรม เชื่อว่า หากพูดออกไป ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ศาลคงเข้าใจ”

ขณะที่ นายศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ธุรกิจที่ไม่สามารถทำการแข่งขันได้อย่างเสรี หรือ มีการแข่งขันในเชิงผูกขาดจะมีองค์ประกอบ คือ 

1.มักเป็นธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อันดีกับอำนาจรัฐ มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง ประชาชนจะเสียผลประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ 

2.การผูกขาดข้ามรุ่น คือ จากคนรุ่นแรกไปสู่รุ่นต่อๆ ไป ทำให้คนในสังคมไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ กลุ่มธุรกิจเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ในสังคมและความเหลื่อมล้ำมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทางออก

“หากมีพรรคการเมือง หรือ องค์กรใดเข้าไปทลายเรื่องนี้ หรือเข้าไปแตะปัญหาเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา จะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการมาก นอกจากนี้ ยังมีการผูกขาดเชิงแพลตฟอร์ม เป็นเรื่องใหญ่ที่ต่างประเทศมีการพูดถึงกันเยอะ ทุกวันนี้รายได้ประชาชนจำนวนไม่น้อยอยู่ในแพลตฟอร์ม ซึ่งจะมีวิธีการผูกขาดแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ และมีความซับซ้อน”