31 ม.ค. ลุ้นคดี “ม.112” ศาลรธน.จะไม่สั่งยุบพรรคก้าวไกล

28 ม.ค. 2567 | 07:54 น.

31 ม.ค. 67 ลุ้นศาลรธน.พิพากษาคดี “พิธา-ก้าวไกล” เสนอนโยบายหาเสียงแก้ ม.112 เผย “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ผู้ร้องขอศาลเพียงแค่ เลิกการกระทำใด ๆ เพื่อยกเลิก-แก้ไข และเลิกแสดงความคิดเห็น ไม่ขอให้ยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด

วันที่ 31 ม.ค. 2567 นี้ เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพุทธะอิสระ ขอให้ศาลวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้น  และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำร้องของ นายธีรยุทธ ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ขอให้มีคำสั่ง “ยุบพรรคก้าวไกล” แต่อย่างใด 

แต่ขอให้ศาลสั่งให้ นายพิธา และ พรรคก้าวไกล เลิกการดำเนินการใด ๆ หรือการกระทำใด ๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 และ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก หรือ แก้ไขมาตรา 112 ที่กระทำอยู่ และจะดำเนินการหรือกระทำต่อไปในอนาคตด้วย

นายธีรยุทธ อ้างว่า เพื่อเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรง ที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลม

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 นายธีรยุทธ ได้เข้าไต่สวนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พอใจแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ยังคาใจ เพราะศาลก็เป็นครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 

เมื่อถามว่าหากศาลวินิจฉัยในทางเป็นคุณกับผู้ร้องจะไปดำเนินการยื่นร้องให้มีการ “ยุบพรรคก้าวไกล” ต่อหรือไม่ นายธีรยุทธ ตอบว่า ยังไม่ได้คิด เพราะโดยหลักของการมาศาลมีข้อกำหนดไว้ว่า จะปรารถนาอย่างอื่นเกินกว่าที่ยื่นคำร้องไว้ไม่ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเราปรารถนายิ่งกว่าที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลไว้ท่านก็อาจจะไม่ให้ความเห็นอย่างอื่นได้

“ตามคำร้องของผม คือ ปรารถนาเพียงว่าให้เกิดการหยุดการกระทำ ยกเลิกที่จะเปิดช่องทางให้มีการก้าวล่วงถึงสถาบัน ตามคำร้องจึงไม่ได้ขอให้มีการยุบพรรค 

เพราะประเด็นปัญหาตามคำร้องที่ยื่นไประบุว่า การที่จะมีช่องทางใดก็ตามที่จะไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วงถึงสถาบัน ซึ่งจะเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจขยายวงกว้างได้ในภายหน้า คิดว่าควรที่จะมีการยับยั้ง ซึ่งโดยอำนาจผมเอง หรือประชาชนไม่สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นศาลรัฐธรรมนูญ” นายธีรยุทธ ระบุ