อ่านยาวๆ ที่นี่ คำวินิจฉัยศาลรธน.ฉบับเต็ม “พิธา”รอดคดีถือหุ้นสื่อ

24 ม.ค. 2567 | 11:16 น.

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน.ฉบับเต็ม "พิธา" รอดคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี มติ 8 ต่อ 1 ชี้แม้วันสมัครส.ส.จะถือหุ้นเข้าข่ายขัดรธน. และพบพิรุธไม่ได้โอนหุ้นจริง แต่ “ไอทีวี” ไม่มีสภาพเป็นสื่อตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญา ปี 2550 จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส.

วันนี้( 24 ม.ค. 67) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพส.ส.ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) 

โดยศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นกรณีที่ปรากฎต่อกกต.(ผู้ร้อง) ว่า นายพิธา (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ผู้ร้องมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ว่า สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง มีเหตุสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบวรรคหนึ่ง และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 (5) จึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

ส่วนคำขอสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีฯ ในวันที่ 4 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ มิต้องคำนึงถึงจำนวนหุ้นว่าเท่าใดจะสามารถครอบงำการบริหารกิจการหรือไม่ 

ดังนั้น หลักฐานทะเบียนผู้ถือหุ้น วัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิและงบการเงิน (แบบส.บช.3) ของบริษัทไอทีวีฯ เป็นเหตุเพียงพอ ให้ผู้ร้องควรเชื่อว่าผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า มีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้อง อาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย และการคัดค้านโต้แย้ง เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภา และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัย 

ผู้ถูกร้องยื่นคำร้อง ลงวันที่ 25 ก.ค. 2566 ขอขยายเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 3 ส.ค.2566 และคำร้องลงฉบับวันที่ 21 ส.ค.2566 ขอขยายเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ครั้งที่ 2 ออกไปอีก 30 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดขยายระยะเวลาครั้งแรกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงเอกสารแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงและเอกสารของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคำเบิกความการไต่สวนพยาน รวมทั้งคำแถลงปิดคดีของคู่กรณีรวมไว้ในสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 98 บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ ห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆและรัฐธรรมนูญ

มาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 เนื่องจากบุคคลที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลนั้นๆ จะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ สุจริต มีความประพฤติและคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของสาธารณชน 

โดยมาตรา 98 (3) บัญญัติให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
และมาตรา 101 (6) บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ บทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นฯเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่บุคคลใดเพื่อประโยชน์ทางการเมือง 

                       อ่านยาวๆ ที่นี่ คำวินิจฉัยศาลรธน.ฉบับเต็ม “พิธา”รอดคดีถือหุ้นสื่อ

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การพิจารณาว่ากิจการใดฯ เป็นไปตามมาตรา 98 (3) ต้องพิจารณาว่ากิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ และยังคงประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ โดยมีรายได้จากกิจการดังกล่าวในวันที่มีการสมัครรับเลือกตั้งส.ส.หรือไม่

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาสภาผู้แทนราษฎร 2566 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป และวันที่ 21 มี.ค. 2566 ผู้ร้องออกประกาศกำหนดให้วันที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป และกำหนดให้วันที่ 4-7 เม.ย. 2566 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล ยื่นบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.สแบบบัญชีรายชื่อ ต่อผู้ร้อง ในวันที่ 4 เม.ย. 2566 โดยมีชื่อของผู้ถูกร้องอยู่ในลำดับที่ 1

ต่อมาหลังการเลือกตั้งผู้ร้องประกาศผลการเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นส.สแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตามปรากฏว่าผู้ถูกร้องมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ในวันที่ 26 เม.ย. 2566 ลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น

และผู้ถูกร้องถือหุ้นดังกล่าว เรื่อยมา กระทั่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 ผู้ถูกร้องโอนหุ้นดังกล่าวทางทะเบียนให้กับนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ โดยตามแบบหนังสือนำส่งงบการเงินของบริษัท ไอทีวี ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2566 นำส่งงบการเงินรอบปีบัญชี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ระบบประเภทธุรกิจว่าสื่อโทรทัศน์

ดังนั้น จึงมีมูลกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาว่า สมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ด้วยเหตุเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

ข้อพิจารณาเบื้องต้นตามข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่า ผู้ถูกร้องไม่มีอำนาจครอบงำกิจการบริษัทไอทีวี เนื่องจากพ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ 2535 มาตรา 247 บัญญัติให้การกระทำให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ใน กิจการรวมกันถึงร้อยละ 25 ขึ้นไป ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการนั้นๆ ให้ถือว่าเป็นการเข้าถึงหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ

เว้นแต่เป็นการถือหลักทรัพย์นั้นเป็นผลจากการได้มาโดยทางมรดก เมื่อผู้ถูกร้องถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ปรากฏตามสำเนาบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เม.ย. 2566 โดยหุ้นสามัญของบริษัทไอทีวีมีจำนวน 1,206,697,400 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.000348 ของจำนวนหุ้นสามัญ ของบริษัท ไอทีวี ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ถูกร้องย่อมไม่เป็นบุคคล ที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 98 เป็นบทบัญญัติที่มีพัฒนาการมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 265 วรรคหนึ่ง โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-14/2553 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2562 วางหลักไว้ว่า รัฐธรรมนูญ ห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้าม โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีอำนาจ บริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่

ฉะนั้นการถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามการถือหุ้นไว้ชัดเจน ก็เพื่อเป็นการป้องกัน ไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีช่องทางที่จะใช้หรือถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบในทางใดทางหนึ่ง 

เพราะฉะนั้นในรัฐธรรมนูญ 98 (3) จึงห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเจ้าของหรือถือหุ้น ในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าจะต้อง มีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้น การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) แล้ว

เมื่อพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว จึงมีข้อที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า วันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ถูกร้องเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี หรือไม่ ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นณวันที่ 26 เม.ย.2566 ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น โดยถือหุ้นในนามตนเอง มิได้หมายเหตุว่าถือแทนบุคคล นิติบุคคล หรือในฐานะผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด และถือหุ้นดังกล่าวเรื่อยมา

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นทั้งหมดให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่ามิได้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ไว้เพื่อตน โดยวันที่ 5 ก.ย. 2550 ผู้ถูกร้องในฐานะผู้จัดการมรดก ได้รับโอนหลักทรัพย์ จากบัญชีหลักทรัพย์ที่บิดาของผู้ถูกร้องได้เปิดไว้ กับบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป รวมถึงหุ้นบริษัท ไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น ผู้ถูกร้องได้รับมอบหมายจากทายาทให้ถือครองหลักทรัพย์ทุกรายการ อันเป็นทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทอื่น และได้รับทราบจากบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิปว่า ไม่สามารถระบุฐานะผู้จัดการมรดกต่อท้ายชื่อสกุลของผู้ถือหลักทรัพย์ที่เป็นมรดกได้ ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองของบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป

ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2562 ผู้ถูกร้องในฐานะผู้จัดการมรดก ทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยโอนหุ้นบริษัทไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้นให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ปรากฏตามหนังสือสำเนาสัญญาโอนหุ้นบริษัท ไอทีวี ดังนั้นกรณีการปรากฏชื่อผู้ถูกร้อง เป็นผู้ครอบครองหุ้นดังกล่าวจนถึงวันที่ 25 พ.ค 2566 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน เป็นเพียงการครอบครองแทนนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง ในหุ้นดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2562 

การโอนหุ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 เนื่องจากมีการนำประเด็นทางการเมืองดังกล่าวไปวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง เห็นว่าสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นณ.วันที่ 26 เม.ย.2566ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น รายงานการโอนและรับโอนหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกร้องและหลักทรัพย์บริษัทไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ว่า วันที่ 5 ก.ย 2550 ผู้ถูกร้องรับโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวจากนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ บิดา ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป โอนหลักทรัพย์ดังกล่าวตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ที่ตั้งผู้ถูกร้องเป็นผู้จัดการมรดก 

โดยการโอนหลักทรัพย์ในวันที่ 5 ก.ย.2550 ตามรายงานการโอนหลักทรัพย์เป็นการโอนในฐานะผู้ถูกร้องเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อผู้ถูกร้องมีฐานะเป็นทายาทอีกฐานะหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิ์ในมรดก อันได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ซึ่งรวมถึงหุ้นบริษัทไอทีวีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 และมาตรา 1600 มีผลให้ผู้ถูกร้องเป็นทั้งผู้จัดการมรดก และฐานะทายาทที่มีสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวีนับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2550

นอกจากนี้ หนังสือสัญญาโอนหุ้นบริษัทไอทีวีระหว่างผู้ถูกร้อง กับนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ฉบับลงวันที่ 9 ก.ย 2561 นั้น ผู้ถูกร้องเบิกความว่าผู้ถูกร้องจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจึงทำสัญญาด้วยวาจาเพื่อโอนหุ้นให้ นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ น้องชายของผู้ถูกร้องในวันที่ 9 ก.ย 2561 แล้วทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรในวันที่ 24 มิ.ย.2562 ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่ผู้ถูกร้องเบิกความว่า ผู้ถูกร้องเชื่อว่าบริษัทไอทีวียุติการประกอบกิจการ และไม่ใช่กิจการสื่อมวลชนอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) เนื่องจากตามความเข้าใจของผู้ถูกร้องแล้วไม่มีความจำเป็นต้องโอนหุ้นดังกล่าวก่อนที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง 

และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช)ในข่าวที่ผู้ถูกร้องเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ปี 2562 ฉบับลงวันที่ 4 ต.ค. 2562 ผู้ถูกร้องไม่ระบุถึงการโอนหุ้นตามหนังสือสัญญาดังกล่าวที่เป็นเอกสารสำคัญ

นอกจากนี้การที่ผู้ถูกร้องเบิกความว่า หุ้นของบริษัทไอทีวีเป็นหุ้นที่ไม่สามารถโอนกันได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากเป็นหุ้นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีการซื้อขายแล้ว ผู้ถูกร้องจึงไม่ได้โอนหุ้นดังกล่าวให้ทายาทอื่น หรือจัดการอย่างหนึ่งอย่างใด

ต่อมาในปี 2566 ผู้ถูกร้องได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของบริษัท หลักทรัพย์ว่าสามารถดำเนินการโอนหุ้นดังกล่าวทางทะเบียนได้ผ่านทางบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องไม่ดำเนินการโอนหุ้นทางทะเบียนให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2562  เป็นการดำเนินการที่คาดเคลื่อน และไม่ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์การโอนหลักทรัพย์ให้ถูกต้องครบถ้วน และเป็นความเข้าใจของผู้ถูกร้องเอง 

ทั้งที่การดำเนินการของผู้ถูกร้อง เพื่อโอนหุ้นวันที่ 25 พ.ค. 2566 สามารถกระทำให้แล้วเสร็จได้ภายในวันเดียว ปรากฏตามคำขอโอนหลักทรัพย์ วันที่ 25 พ.ค. 2566 ซึ่งผู้ถูกร้องยื่นต่อบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป และรายงานการถือหลักทรัพย์ ที่ฝากไว้ในบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ในบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ที่ระบุวันที่ 25 พ.ค 2566 เป็นวันที่ผู้ถูกร้องขาดจากการเป็นผู้ถือหลักทรัพย์บริษัท ไอทีวี

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายประการ จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องทำสัญญาโอนหุ้นดังกล่าวจริง ข้อโต้แย้งดังกล่าวของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น จึงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี อยู่ ในวันที่พรรคก้าวไกล ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ต่อผู้ร้อง

เมื่อวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องถือหุ้นในบริษัทไอทีวี อยู่ในวันที่พรรคก้าวไกล ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง จึงมีข้อพิจารณาต่อไปว่า บริษัทไอทีวี ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่
เห็นว่า ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่า ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี ที่มีวัตถุประสงค์ ข้อ 18,40,41,43 ที่มีวัตถุประสงค์ ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ บอกรับเป็นสมาชิก และโทรภาพ และรับจ้าง โฆษณาทางโทรทัศน์หนังสือพิมพ์ หรือสื่อใดๆ ตลอดจนรับจ้างออกแบบโฆษณาทุกชนิดทุกประเภท และรับจ้างผลิตรายการ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ปัจจุบันบริษัทยังประกอบกิจการ ไม่ได้เลิกบริษัท หรือเสร็จการชำระบัญชี

                              พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ประกอบกับ ตามแบบส.บช.3 ของบริษัท ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อ 10 พ.ค. 2566 นำส่งงบการเงิน รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2565 ระบุประเภทธุรกิจว่าสื่อโทรทัศน์ ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่าบริษัทไอทีวี ถูกยกเลิกสัญญาเข้าร่วมงาน และดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเฮชเอฟ ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค 2550 คดีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหาย ระหว่างบริษัทไอที กับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) พิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและปัจจุบัน และปัจจุบันบริษัทไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อมวลชน 

การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัท ไอทีวี ในฐานะประธานในที่ประชุมยืนยันว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จนกว่าผลคดีจะสิ้นสุด ประกอบกับบริษัทไอทีวี ไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ตามแบบส.บช.3 รับวันที่ 10 พ.ค 2566 นำส่ง งบการเงิน รอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค 2565 ระบุว่าไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากรอผลคดี มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุน และดอกเบี้ยรับ

งบกระแสเงินสดระบุว่า บริษัทมีรายได้จากการขายตราสารทุน และตราสารหนี้ของกิจการอื่น และมีรายได้จากดอกเบี้ยรับ และงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จระบุรายได้มาจากผลตอบแทนเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ นอกจากนี้สำนักงานกสทช.แจ้งว่า บริษัทไอทีวี ไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาต หรือได้รับจัดสรรให้ใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เห็นว่า การพิจารณานิติบุคคลใดเป็นกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาแต่เพียงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิติบุคคลที่จดทะเบียนจดแจ้งไว้ทางการเท่านั้น แต่จะเป็นการพิจารณาควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วยว่า มีการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของบุคคลนั้นหรือไม่ 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2538  บริษัทไอทีวี จำกัด(มหาชน) เดิมชื่อบริษัทสยาม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ทำสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ กำหนดอายุสัญญา 30 ปีกับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) จดทะเบียนแปลสภาพเป็นบริษัทมหาชน จำกัด เป็นชื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ระบุวัตถุประสงค์ของบริษัทมหาชน จำกัดไว้ 45 ข้อ โดยข้อ 18 ข้อ 40 ข้อ41 และ ข้อ 43 เป็นไปตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง 

ต่อมา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือลงวันที่ 7 มี.ค.2550 ถึงกรรมการผู้จัดการไอทีวี แจ้งบอกเลิกสัญญาร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟว่า การแจ้งบอกเลิกสัญญาโดยหนังสือฉบับนี้ ย่อมเป็นผลทำให้สัญญาการเข้าร่วมงานสิ้นสุดลง ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2550 บริษัทไอทีวี ยื่นแบบแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อแจ้งว่าบริษัทหยุดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2550  เนื่องจากไม่มีพนักงาน โดยสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบแล้วปรากฏข้อมูลว่า หยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2550 จนถึงปัจจุบัน 

ประกอบกับเมื่อพิจารณาแบบ ส.บช.3 รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2560-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า กิจกรรมของบริษัท โฮลดิ้ง ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก รอบบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.63 และปี 64 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ ระบุสินค้าว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ รอบปีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ สินค้าว่าไม่ได้ดำเนินกิจการเนื่องจากรอผลคดี มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ

นอกจากนี้ หมายเหตุงบการเงินปีสิ้นสุดวันที่ 31ธ.ค.2560 ถึงปี 2565 ระบุว่า  บริษัทไอทีวี เคยดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ สื่อโฆษณา และผลิตรายการ แต่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพิกถอนสิทธิดังกล่าง ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวหยุดดำเนินกิจการ ระบุว่า บริษัทมีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ ส่วนบริษัทย่อยของบริษัทไอทีวี คือบริษัท ฮาร์ดแวร์มีเดีย ต้องหยุดดำเนินกิจการไปด้วย แต่เมื่อพิจารณา ภ.ง.ด.50 ตั้งแต่ปี 2560-2565 ระบุว่าประกอบกิจการเผยแพร่ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ แต่ระบุรายได้โดยตรงจากการประกอบกิจการเป็นศูนย์บาท และระบุรายได้อื่นว่า มาจากดอกเบี้ยรับ

ส่วนกรณีที่แบบส.บช.3 ปี 2515 มีจำนวน 2 ฉบับ ที่มีข้อความสาระสำคัญไม่ตรงกันนั้น นายคิม เบิกความว่า  แบบส.บช.3 ทั้ง 2 ฉบับเป็นฉบับจริง แต่มีการยื่นเอกสารหลังฉบับแก้ไขและยกเลิกเอกสารฉบับแรก เพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่ให้เกิดข้อถกถียงและข้อความเอกสารตามที่ระบุ 

และกรณีเอกสารฉบับแรกที่ระบุประเภทสินค้า การบริการว่า สื่อโฆษณาเป็นไปตามพาณิชย์กำหนดให้กรณีบริษัทไม่ได้ดำเนินกิจการให้ระบุวัตถุประสงค์ขอใดข้อหนึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงสอดคล้องกับการนำส่งคู่มืองบการเงินของกรมพัฒนาการค้าที่กำหนดให้การกรอกข้อมูลประเภทธุรกิจกรณีไม่ได้ดำเนินกิจการ ให้ระบุวัตถุประสงค์ตรงกับที่จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ส่วนกรณีรายงานการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นวันที่ 26 เม.ย.2566 หน้าสุดท้าย ซึ่งมีผู้ถือหุ้นถามว่า ในขณะนี้บริษัทยังประกอบกิจการเป็นสื่อมวลชนอยู่หรือไม่ นายคิมห์ สิริ
สินทวีชัยเบิกความว่า การที่คำตอบระบุว่า ยังประกอบกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์นั้น ไม่ใช่การยืนยันว่าบริษัทยังประกอบกิจการเป็นสื่อมวลชน นอกจากนี้หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้บริษัท ไอทีวี ชนะคดีจะมีการพิจารณากันอีกครั้งหนึ่งว่า บริษัทจะมีดำเนินการต่อไปได้

เห็นได้ว่าการที่แบบ ส.บช.3 ปี2563 -2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ ต้องพิจารณาประกอบข้อมูลและเอกสารอื่นๆในการนำส่งงบการเงิน โดยเฉพาะงบการเงินที่หมายเหตุงบการเงินทำขึ้นโดยผู้สอบบัญชี เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงกับการประกอบกิจการของบริษัทที่ถูกต้องแท้จริง

แม้จากการไต่สวนฟังได้ว่า บริษัทไอทีวี จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์ สื่อโทรทัศน์ การผลิตสื่อโฆษณา และการผลิตรายการ ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นสื่อกลางในการส่งข่าวสาร และเนื้อหาสาระไปสู่มวลชนที่สามารสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นอย่างทั่วไป แต่เมื่อแบบ ส.บช.3 เหตุประกอบงบการเงิน ภ.ง.ด.50 ตั้งแต่ปี 2550-2565 ปรากฏข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า บริษัทสถานีไอทีวีหยุดดำเนินกิจการนับตั้งแต่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัญญาปี 2550 ซึ่งผลของการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ทำให้สิทธิในคลื่นความถี่ของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีกลับมาเป็นของ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

และบริษัท ไอทีวี ไม่มีคลื่นความถี่ที่จะดำเนินการของสถานีไอทีวีได้อีกต่อไป เกิดเป็นคดีพิพาทระหว่างผู้สัญญาในการเรียกร้องค่าเสียหาย โดยบริษัทไอทีวี ไม่ได้มีการฟ้องร้องเรียกร้องค่าเสียของคลื่นความถี่ของสถานีให้แก่ตนเองแต่อย่างใด ขณะนี้คดีพิพาทดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

กรณีเห็นได้ว่า ข้อพิพาทกรณีดังกล่าวหากในท้ายที่สุดแล้ว บริษัทไอทีวีเป็นฝ่ายชนะคดี ก็มิได้มีผลให้บริษัทไอทีวี ได้รับมอบคืนคลื่นความถี่ และดำเนินสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟอีก ข้อเท็จจริงปรากฏสรุปได้ว่า บริษัทไอทีวี ไม่มีสิทธิในการประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2550 และการที่บริษัทไอทีวียังคงสถานะนิติบุคคลเดิมไว้ ก็เพื่อการดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาลเท่านั้น 

ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่า บริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน แต่มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ การที่ นายคิมห์ เบิกความว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา บริษัทไอทีวี ชนะคดีจะมีการพิจาณาอีกครั้งระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริษัทว่า บริษัทจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งอาจจะประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือจะประกอบกิจการอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ตามข้อใดข้อหนึ่งจาก 45 ข้อก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต ยังไม่ได้มีการพิจาณาในขณะนั้น 

แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่สปน. บอกเลิกสัญญาจนถึงปัจจุบัน บริษัท ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน อีกทั้งไม่พบข้อมูลหลักฐานว่า บริษัทไอทีวีได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ปี2550 , พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551, พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553  และไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วิดีทัศน์ และสื่อโฆษณา ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551

ดังนั้น ณ วันนี้ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้งส.ส. บริษัทไอทีวี มิได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนอื่นๆ การถือหุ้นไอทีวีของผู้ถูกร้องตามคำร้อง จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) 

อาศัยเหตุผลดังกล่าววินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6)ประกอบมาตรา 98(3)