รายงานพิเศษ : พิษซุกหุ้นลาม “ศักดิ์สยาม-ภท.” อาญา-จริยธรรม-ยุบพรรค

20 ม.ค. 2567 | 02:00 น.

พิษคดีซุกหุ้น “วินอกจากจะทำให้ ศักดิ์สยาม ต้องพ้นจากตำแหน่งรมต.โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ยังอาจจะต้องเจอกับ “วิบากกรรม” ในอีกหลายคดีที่จะตามมา อย่างน้อย 6 คดี

KEY

POINTS

 

- ศักดิ์สยาม ต้องพ้นจากตำแหน่งรมต.โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ยังอาจจะต้องเจอกับ “วิบากกรรม” ในอีกหลายคดีที่จะตามมา อย่างน้อย 6 คดี

 

- เงินจากการโอนหุ้นบริษัทหลายร้อยล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ ศักดิ์สยาม จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช.

 

- 6 คดี มีอัตราโทษรุนแรงทั้งติดคุก ถูกตัดสิทธิสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และ ห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต 

มติศาลรัฐธรรมนูญ 7 ต่อ 1 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 82 นับ แต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ 3 มี.ค. 2566 จากคดีซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น

นอกจากจะทำให้ ศักดิ์สยาม ต้องพ้นจากตำแหน่งรมต.โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ยังอาจจะต้องเจอกับ “วิบากกรรม” ในอีกหลายคดีที่จะตามมา อย่างน้อย 6 คดี


เริ่มจาก “คดีฟอกเงิน” เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่17 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ระบุชัดว่า ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์  และ หจก.บุรีเจริญฯ ไม่เคยเกี่ยวข้อง หรือสัมพันธ์ใด ๆ กับพรรคภูมิใจไทย แต่ช่วงเวลาภายหลังศักดิ์สยามโอนหุ้นให้ ศุภวัฒน์ และ หจก.บุรีเจริญฯ กลับบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินให้กับพรรคกที่ ศักดิ์สยาม มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค

รวมทั้งเกิดนิติกรรมอำพรางอื่นๆ อาทิ เงินที่ ศุภวัฒน์ นำมาซื้อกองทุน 2 รายการ ก้อนแรก 35 ล้านบาท จากบริษัท ศิลาชัยฯ ก้อนสอง 56.7 ล้านบาท จากบริษัท ศิลาชัยฯ 36.7 ล้านบาท และ หจก.บุรีเจริญฯ 20 ล้านบาท ศาลเชื่อว่าเป็นเงินของ ศักดิ์สยาม

ถัดมา คือ "คดีฮั้วประมูล" จากกรณีศาลวินิจฉัยว่า การโอนหุ้นของศักดิ์สยาม เป็นไปอย่างมีพิรุธ มีเหตุอันควรเชื่อว่า ศักดิ์สยาม และ ศุภวัฒน์ มีการตกลงนำเงินของ ศักดิ์สยาม ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบ “นอมินี” โดยขั้นตอนสุดท้ายนำเงินนั้นซื้อกองทุนต่างๆ กลับมาเป็นของ ศักดิ์สยาม ดังเดิม หรือสรุปง่ายๆ คือ ศักดิ์สยาม ยังเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ 

ในยุคที่ ศักดิ์สยาม เป็นรมว.คมนาคม หจก.บุรีเจริญฯ ก็รับประมูลงานของกระทรวง จึงเป็นการได้ประโยชน์จากการก่อสร้าง หรือ ประมูลงานรัฐหรือไม่

                             รายงานพิเศษ : พิษซุกหุ้นลาม “ศักดิ์สยาม-ภท.” อาญา-จริยธรรม-ยุบพรรค

คดีที่สาม คือ “คดีปลอมแปลงเอกสาร และใช้เอกสารปลอม” เช่น บิลน้ำมัน  ที่ ศุภวัฒน์ เมื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการใน หจก.บุรีเจริญฯ มิได้กำหนดค่าตอบแทนแก่ตนเอง ดังที่ ศักดิ์สยาม เคยทำเมื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แต่อย่างใด

แต่กลับปรากฏใบเสร็จรับเงิน “ค่าน้ำมัน” จำนวนหนึ่ง มีการระบุเลขทะเบียนรถยนต์ของศักดิ์สยาม 2 คัน ตามที่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. โดยระบุว่าในใบเสร็จว่า “ติดตามนาย”

แต่ ศักดิ์สยาม กลับชี้แจงตามคำแถลงปิดคดีว่า ไม่ทราบว่า ศุภวัฒน์ เคยขอใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันหรือไม่ และไม่เคยได้รับเงินค่าน้ำมันจาก หจก.บุรีเจริญฯ หรือสั่งพนักงานขับรถนำบิลไปเบิกค่าน้ำมันจาก หจก.บุรีเจริญฯ วิญญูชนย่อมไม่นำใบเสร็จรับเงิน หรือความสัมพันธ์กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาใช้เบิกเงินกับ หจก.บุรีเจริญฯ ที่เป็นธุรกิจต้องห้าม เพื่อไม่ให้ผู้ถูกร้องมาเกี่ยวข้อทั้งทางตรงและทางอ้อม 

คดีที่สี่ คือ “คดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ” ถูกมองว่า ในการยื่นรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ศักดิ์สยาม ต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ระบุว่า ศักดิ์สยามมีทรัพย์สินรวม 115 ล้านบาท มีเงินสดและเงินฝากประมาณ 76.3 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน 

แต่เมื่อดูในรายละเอียด ตั้งข้อสังเกตว่า เงินจากการโอนหุ้นบริษัทดังกล่าวข้างต้นหลายร้อยล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ ศักดิ์สยาม จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช.

คดีที่ห้า คือ “คดียุบพรรค” จาก กรณี หจก.บุรีเจริญฯ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด รวมถึงธุรกิจในเครือตระกูลชิดชอบ เมื่อศาลวินิจฉัยว่ายังเป็นของ ศักดิ์สยาม เคยบริจาคเงินเข้าพรรคภูมิใจไทย

คดีนี้อาจเชื่อมโยงไปถึงคดีฟอกเงิน อาจเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ ตามมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง สามารถนำไปสู่การยุบพรรค และ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ได้

คดีที่หก คือ “คดีจริยธรรมร้ายแรง” เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2567 ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ได้นำผลจากคำวินิจฉัยของศาลรธน. ไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ให้เอาผิด ศักดิ์สยาม ที่อาจมีความผิดเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงฯ ตามที่รัฐธรรมนูญ ม.219 บัญญัติไว้ ซึ่งต้องยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาให้ลงโทษตามกฎหมายต่อไป

ทั้ง 6 คดีข้างต้น มีอัตราโทษรุนแรงทั้งติดคุก ถูกตัดสิทธิสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และ ห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต 

ที่สำคัญกรณี “ยุบพรรค” จะกระทบต่อกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย 11 คน และเสี่ยงติดโทษแบนทางการเมือง 10 ปีด้วยหรือไม่ มารอติดตามกัน...