“ก้าวไกล”จุดพลุนิรโทษกรรมคดีม็อบทุกสี

07 ต.ค. 2566 | 02:30 น.

“พรรคก้าวไกล”เดินหน้าเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง “ทุกสี” ตั้งแต่ปี 2549-2557 เข้าสู่สภาฯ เว้นเจ้าหน้าที่รัฐสลายม็อบ-ทำผิด ม.113 หวังนับหนึ่งปรองดอง หยุดนิติสงคราม

พรรคก้าวไกลเดินหน้าเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยให้มีผลยกเลิกคดีชุมนุมทางการเมืองที่เกิดตั้งแต่ปี 2549 ถึง ปี 2557

ชงพรบ.นิรโทษคดีม็อบ

โดยเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2566 ที่รัฐสภา ส.ส.ก้าวไกล นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เข้าชื่อกันเพื่อยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... ต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

นายชัยธวัช กล่าวว่า สาเหตุที่พรรคก้าวไกล ยื่นร่างฯ ดังกล่าว สืบเนื่องมากจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นับตั้งการชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรประชนชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 11ก.พ. 2549 ลุกลามบานปลายจนเกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ 

ต่อมายังมีการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งในห้วงเวลาเหล่านี้ มีประชาชาชนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมชุมนุม หรือ แสดงออกทางการเมืองรูปแบบต่างๆ ตลอดระยะเวลามีประชาชนนับพันคนถูกดำเนินคดี ตั้งแต่คดีเล็กน้อย ไปจนถึบคดีร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคง

อ้างจุดเริ่มปรองดอง

นายชัยธวัช กล่าวว่า การดำเนินคดีมีดำเนินการมาถึงปัจจุบัน ยังไม่มีท่าทีจะยุติ คดีใดที่มีการกล่าวหาไปแล้ว หลายคดีก็ยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ยาก ที่จะทำให้สังคมไทยกลับสู่ความปกติสุข หรือสามัคคีกันในสังคม ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน มองว่าฝ่ายรัฐไม่มีความเคารพความเห็นต่างทางการเมือง ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน และ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง 

พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่า เพื่อให้สังคมไทยได้กลับมาเริ่มต้นกันใหม่ จำเป็นต้องยุติการใช้ “นิติสงคราม” ต่อประชาชน ให้ประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมือง โดยมีเหตุจูงใจจากความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว ได้หลุดพ้นจากการดำเนิคดี 

ดังนั้น การนิรโทษกรรมจึงเป็นหนทางที่จะถอนฝืนออกจากกองไฟ หยุดนิติสงคราม เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นสร้างความยุติธรรม และความปรองดองที่ยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป 

                        “ก้าวไกล”จุดพลุนิรโทษกรรมคดีม็อบทุกสี

9 กรรมการนิรโทษม็อบ

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีดังนี้

1.กำหนดให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือ การแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2549 จนถึงร่างพ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับพันธะกฎหมายต่างประเทศ 

2.การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำเกินสมควรกว่าเหตุ ตลอดจนจะไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดต่อชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 

3.กลไกการนิรโทษกรรมจะกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ในร่างของพรรคก้าวไกล จะเสนอให้มีคณะกรรมการฯ จำนวน 9 คน โดยประธานรัฐสภา จะเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้

1.ประธานสภาฯ 1 คน

2.ผู้นำฝ่ายค้าน 1 คน

3.บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 คน

4.มาจากบุคคลที่สภาฯ เลือก 2 คน
5.ผู้พิพากษา หรือ อดีตผู้พิพากษา 1 คน

6.ตุลาการ หรือ อดีตตุลาการ 1 คน

7.พนักงานอัยการ หรือ อดีตพนักงานอัยการอีก 1 คน ซึ่งต้องมาจากการนำเสนอของศาลปกครอง และอัยการเอง

8.เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 1 คน

                            “ก้าวไกล”จุดพลุนิรโทษกรรมคดีม็อบทุกสี

4.กำหนดสิทธิผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากระเบียบ ประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย มติ หรือ การกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำผิด เพื่อการนิรโทษกรรมตามพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ให้มีสิทธิ์สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้เอง

ขอแรงหนุนทุกพรรค

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การคืนชีวิตใหม่ให้กับพี่น้องประชาชนที่โดนนิติสงคราม เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือ แสดงออกในทางการเมืองใดๆ แล้วถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย ซึ่งพี่น้องประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่า สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตัวเองในการเสริมสร้างบ้านเมืองโดยสันติ ได้รับการกระทบกระเทือน หรือ การละเมิด 

“เราเชื่อว่าการนิรโทษกรรมนี้ เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ หากพรรคการเมืองต่างๆ มีเจตจำนงร่วมกัน ที่จะผลักดัน และ หากเราพิจารณาให้ดีเราจะพบว่า พรรคการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ หรือไม่ได้ปฏิเสธการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแต่อย่างใด” 

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกับทุกพรรค ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกสี ที่เคยมีความขัดแย้งกันในอดีตให้สำเร็จ 

“เราเชื่อว่าแม้ประชาชนคนไทย อาจจะไม่ได้มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกันทั้งหมด แต่ผมก็เชื่อว่าประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ต่างได้มาแสดงออกทางการเมือง และขัดแย้งกัน โดยยืนอยู่บนพื้นฐานที่ตัวเองอยากจะผลักดันให้สังคม เป็นสังคมที่ดีตามความคิดความเชื่อของตัวเอง 

เราเชื่อว่า การยุติการต่อสู้ การยุติการดำเนินคดี การยุตินิติสงครามกับประชาชนไม่ว่าฝ่ายไหน จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายได้ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยโดยสันติ หันหน้าเข้ามาหากัน เพื่อแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ของสังคมอีกครั้งในอนาคต” นายชัยธวัช กล่าว

ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะได้ให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสภาฯ ตรวจสอบลายเซ็นผู้ยื่นร่างฯ และสาระต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับภายใน 7 วัน และจะแจ้งกลับไปผู้ยื่นให้ทราบโดยเร็ว

++++

3 ม็อบใหญ่การเมืองไทย

หลังการรัฐประหาร ในปี 2549 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองของ 3 ม็อบ นั่นคือ

1.การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ ที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เมื่อ  25 พ.ค. 2551 ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ภายใต้การนำของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่นำมวลชนเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ถูกมองว่าเป็นนอมินีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ 

มีการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. และเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 26 ส.ค. มีการยึดสนามบินดอนเมือง และ สุวรรณภูมิ 

หลังมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค วันที่ 2 ธ.ค.2551 วันรุ่งขึ้นม็อบพันธมิตร ได้ประกาศยุติการชุมนุม รวมเวลา 190 วัน

2.การชุมนุมของแนวรวมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ เริ่มต้นชุมนุมใหญ่ เมื่อ 12 มี.ค. 2553 ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ภายใต้การนำของ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ เพื่อขับไล่ รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และต่อต้านเผด็จการ 

กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ยุทธศาสตร์ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ อันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนตะนาว ทั้งดาวกระจายไปที่ต่างๆ  

จนเกิดการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ก่อนที่แกนนำเข้าจะมอบตัว และยุติการชุมนุม รวมระยะเวลาชุมนุม 65 วัน

3.การชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ใช้สีเหลือง เป็นสัญลักษณ์นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น เพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เอื้อประโยชน์ต่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2556 ที่สถานีรถไฟสามเสน ก่อนขยับมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 4 พ.ย. และเพิ่มเวทีตามที่ต่างๆ 

ก่อนยกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเกิดการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 ปิดฉากการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนานร่วม 203 วัน