เปิดประวัติบ้านพิษณุโลก ที่กลับมาเป็นวอร์รูมทีมยุทธศาสตร์รัฐบาลอีกครั้ง

10 ก.ย. 2566 | 12:00 น.

บรรยากาศความคึกคักกลับคืนสู่ “บ้านพิษณุโลก” หลังนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ใช้เป็น “วอร์รูม” หารือข้อราชการกับทีมนายตำรวจและเลขาธิการนายกฯ เป็นครั้งแรกในวันนี้ (10 ก.ย.) นับเป็นการเปิดศักราชใหม่การใช้งานบ้านพิษณุโลกอีกครั้ง

 

เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาใช้งาน “บ้านพิษณุโลก” เป็นสถานที่หารือข้อราชการ และเป็นที่ประชุมระดมพลังสมองของบุคคลระดับผู้กำหนดยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยอีกครั้ง วันนี้ เรามาทำความรู้จัก ประวัติความเป็นมา ของสถานที่แห่งนี้ “บ้านพิษณุโลก” อาคารประวัติศาสตร์ ที่เต็มไปด้วยตำนาน และเรื่องราวที่หลายคนถึงกับเรียกว่า “บ้านอาถรรพณ์” กันเลยทีเดียว

“บ้านพิษณุโลก” เดิมชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2465 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วพระราชทานให้กับมหาเสวกเอก พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) บุตรชายคนเล็กของพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ร.ว.ลม้าย พึ่งบุญ) กับพระนมทัต (คุณหญิงประสิทธิ์ศุภการ) ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาคัดเลือกให้เป็นพระนม (แม่นม) ถวายแด่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ (ซึ่งต่อมาก็คือในหลวงรัชกาลที่ 6 นั่นเอง)

“บ้านพิษณุโลก” เดิมชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์”

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 25 ไร่ 3 งาน ตั้งอยู่บริเวณถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล ตัวบ้านเป็นอาคารแบบสถาปัตยกรรมกอทิกเวเนเทียน ออกแบบและดูแลการสร้างโดยนายมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ตระกูลอนิรุทธเทวาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ พระยาอนิรุทธเทวาจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อให้เป็นราชสมบัติ เนื่องจากเกินกำลังที่จะบำรุงรักษาได้ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัวจึงได้ย้ายออกไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและไม่ได้มีการใช้งานบ้านบรรทมสินธุ์อีกแต่อย่างใด

ที่ตั้งหน่วยงานรัฐบาลสมัยสงครามโลก

ยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้บ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่รับรองนายพลฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการร่วมรบกับญี่ปุ่น และได้ติดต่อพระยาอนิรุทธเทวา เจ้าของบ้าน เพื่อขอซื้อหรือเช่าบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 3 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ

พระยาอนิรุทธเทวาได้ตกลงแบ่งขายที่ดินและตึกจำนวน 25 ไร่ ในราคา 5 แสนบาทเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2485 หลังจากนั้นมา รัฐบาลยุคนั้นจึงได้ใช้บ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่ทำการของ "กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น" สำหรับการประสานงานระหว่างสองประเทศและเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านไทย-พันธมิตร"

ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม “บ้านไทย-พันธมิตร” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านสันติภาพ" เพื่อลบภาพลักษณ์ในการเข้าร่วมสงคราม จากนั้นในปี พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนชื่อบ้านอีกครั้ง เป็น "บ้านพิษณุโลก" ตามชื่อถนนที่บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ (ถนนพิษณุโลก) และใช้ชื่อนี้นับจากนั้นเป็นต้นมา

บ้านพิษณุโลกมีการเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง

บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีใครอยากพัก

บ้านพิษณุโลก ถูกปรับให้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยมาหลายยุคหลายสมัย เริ่มครั้งแรกในสมัยของพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (พ.ศ. 2522-2523) ที่ได้สั่งการให้ซ่อมแซม แต่รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ บริหารประเทศแค่เพียงระยะสั้นๆ จึงยังไม่ได้ลงมือปรับปรุงอย่างจริงจัง ต่อมาในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย พ.ศ.2523-2531) จึงได้ดำเนินซ่อมแซมบ้านพิษณุโลกในทันทีเพื่อใช้เป็นบ้านพัก ซึ่งภายหลังซ่อมแซมเสร็จ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ย้ายเข้าไปอยู่ทันที เป็นที่ตื่นเต้นของผู้คนทั่วไป

เรื่องเล่าลือเกี่ยวกับอาถรรพณ์บ้านพิษณุโลก

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะก่อนหน้านี้ มีเสียงเล่าลือกันมาเกี่ยวกับเรื่องอาถรรพณ์บ้านพิษณุโลกว่า “ผีดุ” ไม่มีใครกล้าไปอยู่ ยิ่งเมื่อ พล.อ.เปรมย้ายเข้าไปพักได้เพียง 7 คืน ก็ย้ายกลับไปพักบ้านสี่เสาเทเวศน์เหมือนเดิมโดยไม่มีใครทราบสาเหตุ เสียงเล่าลือเกี่ยวกับอาถรรพณ์บ้านพิษณุโลก ก็ยิ่งถูกกระพือหนักกว่าเดิม

ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย พ.ศ.2531-2534) บ้านพิษณุโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะมีการบูรณะตกแต่งใหม่และใช้เป็นที่ทำงานของ “ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ที่ประกอบด้วย

  • พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษา
  • หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ
  • ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
  • ชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
  • บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
  • สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ
  • และไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา และบุตรชายของนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ)

อย่างไรก็ตาม คณะ รสช.ที่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลในยุคนั้น กล่าวหาว่า พล.อ.ชาติชาย ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ดังนั้น ในการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะ รสช. จึงได้เข้ายึดและตรวจค้นบ้านพิษณุโลกอย่างละเอียด สร้างประวัติศาสตร์ในอีกมิติให้กับบ้านพิษณุโลก นอกเหนือจากเรื่องอาถรรพณ์

ในสมัยนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย พ.ศ.2534-2535) ตัวท่านเองแสดงเจตจำนงที่จะไม่เข้าพำนักที่บ้านพิษณุโลก แต่ใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงและรับรองแขกบ้านแขกเมือง ต่อมาสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้นๆ (เม.ย.-พ.ค. 2535) ก็ไม่ได้ย้ายมาพำนักที่บ้านพิษณุโลกแต่อย่างใด

กระทั่งมาถึงสมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย พ.ศ.2535-2538 และ พ.ศ. 2540-2544) มีการปรับโฉมบ้านพิษณุโลกเพื่อเป็นบ้านพักของนายกฯ อีกครั้ง กล่าวกันว่า นายกฯ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่เข้าพักบ้านพิษณุโลกแห่งนี้ และอยู่ได้นานทั้งสองสมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ท่านใช้เพียง “โซฟาในห้องทำงาน” ซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องนอนเป็นที่นอน ไม่ได้นอนเตียงในห้องนอนหลักของบ้านแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการ “ให้เกียรติแก่เจ้าของบ้าน”

หลังจากยุคของนายชวน หลีกภัย แล้วก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดใช้บ้านหลังนี้เป็นที่พำนักจนถึงปัจจุบัน มีเพียงแต่ใช้เป็นที่ประชุมและรับรองแขกเท่านั้น

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านพิษณุโลก และสักการะรูปปั้นนารายณ์บรรทมสินทธุ์

ก่อนหารือข้อราชการกับทีมนายตำรวจและเลขาธิการนายกฯเป็นครั้งแรกในวันนี้ (10 ก.ย.)

เกี่ยวกับเรื่องอาถรรพณ์บ้านพิษณุโลกนี้ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ทายาทสกุลอนิรุทธเทวาผู้เป็นเจ้าของบ้านในยุคสมัยเริ่มแรก และอยู่บ้านนี้ในช่วงวัยเด็ก ยืนยันว่าบ้านพิษณุโลกไม่มีอาถรรพณ์ต่างๆ อย่างแน่นอน เพราะไม่เคยมีใครพบเห็นหรือประสบ “ผีดุ” เหมือนที่ใครร่ำลือ “ผมเคยสืบความได้ว่า ตำรวจที่มาเฝ้ากุเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเขาไม่อยากอยู่ที่นี่ จำเจ อยากย้ายไปอยู่ที่อื่น ก็เลยบอกว่าเจอผี เจออะไรบ้างก็เท่านั้นเอง ไม่มีอะไร” ทายาทเจ้าของเดิมบ้านพิษณุโลกกล่าว

อย่างไรก็ตาม วันนี้บ้านพิษณุโลกได้กลับมาเป็นสถานที่ประชุมเรื่องสำคัญๆของรัฐบาลอีกครั้ง เรื่องราวของอาถรรพณ์ไม่น่าจะมีการพูดถึงกันอีก เพราะสิ่งที่ประชาชนตั้งใจรอฟังนั้น เป็นเรื่องยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่รัฐบาลรับปากไว้เสียมากกว่า  

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า / วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี