"ประธานสภาผู้แทนราษฎร" ตำแหน่งที่พรรคการเมืองหมายตา

24 พ.ค. 2566 | 05:00 น.

ชำแหละบทบาท อำนาจและหน้าที่ของ "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" ทำไมจึงสำคัญ มีขั้นตอนวิธีการโหวตลงคะแนนคัดเลือกกันอย่างไรและเหตุใดถึงเป็นตำแหน่งที่พรรคการเมืองหมายตา

ในทางการเมืองนอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เก้าอี้ "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" กลายเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอีกตำแหน่งที่ถูกจับตามองว่า จะเป็นผู้มาจากพรรคที่คะแนนเสียงอันดับหนึ่งหรือจากพรรคร่วมรัฐบาล ความสำคัญของตำแหน่ง "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งเป็น "ประธานรัฐสภา" อีกตำแหน่งด้วยนั้น

บทบาทแรก คือ การเป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ หลังที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ

ขั้นตอนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ระบุว่า "ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก" จากนั้นจะมีการเลือก ประธานสภา และนายกรัฐมนตรี เป็นลำดับถัดไป 

สำหรับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 กำหนดขั้นตอนการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา ไว้ในหมวด 1 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 

เริ่มจากให้ เลขาธิการ เชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุด ทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อดำเนินการ จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกเสนอชื่อผู้เป็น "ประธานสภา" โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน

หากมีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 1 คนขึ้นไป จะต้องมีการลงคะแนนเป็นการลับ โดยเขียนชื่อผู้ที่ ส.ส.ประสงค์ลงคะแนนให้บนแผ่นกระดาษแล้วนำใส่ซอง แล้วจะเรียกชื่อตามลำดับอักษรให้นำซองมาใส่ภาชนะที่ใช้ในการตรวจนับคะแนน

ส่วนการเลือก "รองประธานสภา" ให้ดำเนินการแบบเดียวกันโดยเลือก "รองประธานสภาคนที่หนึ่ง" ก่อน แล้วจึงเลือก "รองประธานคนที่สอง" ต่อไป

ทั้งนี้ กระบวนการทุกอย่างจะเป็นไปโดยลับ ไม่รู้ว่า ส.ส. คนใดลงคะแนนให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อประธานสภาคนไหน ต่างจากการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องกระทำโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ทั้งหมดทีละคน 

ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความสำคัญในฐานะผู้กำกับการประชุมสภา โดยประธานสภาฯ จะเป็นผู้วินิจฉัยอนุญาต หรือจำกัดการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภา ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณประจำปี หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

หน้าที่ของประธานสภาฯ

-กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภา

-ควบคุมการรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุม

-เป็นผู้แทนสภาในกิจการภายนอก

-แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใด ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภา

หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ เช่น การบรรจุญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมซึ่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ระบุว่า ญัตติต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานสภาฯ และต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คน

ขณะที่ญัตติขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการหรือขอให้คณะกรรมาธิการสามัญคณะใดพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน

สำหรับญัตติด่วน ประธานสภาฯ จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า เป็นญัตติด่วนหรือไม่ และต้องแจ้งผลต่อผู้ยื่นภายใน 5 วัน ส่วนญัตติอื่น ประธานสภาฯ ต้องบรรจุญัตติเข้าระเบียบวาระการประชุมภายใน 7 วัน ตามลำดับก่อนหลัง

ในสภาฯ ชุดที่ผ่านมาที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานนั้น มีญัตติที่ไมได้เข้าสู่สภาหลายเรื่อง เช่น กรณีของ ส.ส. พรรคก้าวไกล 44 คน ยื่นหนังสือเสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 5 ฉบับ

หนึ่งในนั้น คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถูกโต้แย้งโดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า มีบทบัญญัติอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ รวมถึงญัตติการตั้ง กมธ. ศึกษากระบวนการเจรจาสันติภาพของกลุ่ม ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

-กำหนดวิธีการตรวจสอบองค์ประชุม สั่งพักการประชุม เลื่อนการประชุมหรือเลิกการประชุมได้ตามที่เห็นสมควร

-เป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ หลังสภาฯ มีมติเลือก

-เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ

จากบทบาทอำนาจหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ ระหว่างพรรคการเมืองแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะระหว่างที่มีการประชุมหรือการอภิปรายกันในสภา แม้ว่าในข้อบังคับการประชุมสภาฯ จะเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ประธานสภาฯ ซึ่งเป็นประธานของที่ประชุม "ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่" ก็ตาม