จี้พรรคการเมือง แจงอัดฉีดนโยบายสาธารณสุข ใช้งบประมาณจากไหน

11 เม.ย. 2566 | 23:12 น.

ชี้พรรคการเมืองสาดนโยบายสาธารณสุขอย่าหวังแค่หาเสียง “หมอบุญ” ตั้งคำถามเอาเงินมาจากไหน แนะดูแลคนจน ให้คนรวยช่วยจ่าย 30% ซีอีโอ พริ้นซิเพิลฯ เสนอเปิดทางเอกชนร่วมทุนสร้างโรงพยาบาล ให้ประชาชนเข้าถึงง่าย นักวิชาการย้ำ อย่าก่อหนี้

นโยบายด้านสาธารณสุข กลายเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่หลายพรรคการเมืองต่างงัดมาใช้เป็นพลังในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งปี 2566 นี้ ไม่ว่าจะเป็น “พรรคประชาธิปัตย์” กับนโยบายตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรีโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว, พรรคเพื่อไทยกับการดูแลผู้ป่วยโรคทางจิต, ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ฯลฯ

พรรครวมไทยสร้างชาติ ชงนโยบายแพทย์ 24 ชม. ผ่านระบบแพทย์ทางไกล เพิ่มเบี้ยผู้สูงวัยเดือนละ 1,000 บาท, พรรคภูมิใจไทย ก็ชงนโยบายฟรีไม่ว่าจะเป็น ฉายรังสีรักษามะเร็ง ฟอกไตฟรี เดินหน้าผลักดันกฎหมายกัญชาเสรีต่อเป็นต้น แต่นโยบายเหล่านี้จะเดินหน้าและบรรลุผลได้จริง หรือแค่นโยบายหาเสียง

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด หรือ TMG กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในแต่ละปีประเทศไทยใช้งบประมาณด้านสาธารณสุข 3 แสนล้านบาท และคาดว่าอีก 5 ปีจะเพิ่มเป็น 7 แสนล้าน แต่นโยบายสาธารณสุขที่พรรคการเมืองต่างๆออกมาในตอนนี้ ถามว่าจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ นโยบายประชานิยมทำไม่ได้หรอก

จี้พรรคการเมือง แจงอัดฉีดนโยบายสาธารณสุข ใช้งบประมาณจากไหน

คนจนเราก็ต้องดูแล และดูแลแบบมีคุณภาพ ไม่ใช่จะฉายแสงต้องรอคิว 6 เดือนถึงได้ทำ หากคนจนคนรวยเข้ามารักษาแบบเท่าเทียมกัน คนจนก็จะเสียเปรียบ ดังนั้นคนรวยเมื่อต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็ต้องจ่ายบ้าง ควรใช้ระบบ Co-pay ซึ่งในหลายประเทศใช้อยู่ คนรวยช่วยจ่าย 30% ก็ได้ ไม่ใช่ฟรี 100% เพราะรัฐบาลเองจะรับไม่ไหว

นอกจากนี้รัฐบาลควรวางนโยบายด้านสาธารณสุขต่อเนื่องทั้งนโยบายระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อที่สุดแล้วจะเป็นการเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา เพราะการรักษาวันนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยจะดีที่สุด รวมทั้งสาธารณสุขเองไม่ใช่ดูแลเฉพาะคนในประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาก็ต้องดูแล

เพราะกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง และขณะนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนนับล้านคนที่อยากใช้ชีวิตหลังเกษียณในประเทศไทย ซึ่งหากคนเหล่านี้มาจริงจะทำให้เกิดการหมุนเวียนจับจ่ายใช้สอยสูงเป็นหมื่นล้านบาททีเดียว

สอดคล้องกับนายธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC กล่าวว่า วันนี้จะเห็นว่า หลายนโยบายเกี่ยวกับด้านการสาธารณสุขของภาคต่างๆน่าสนใจ แต่การจะทำได้จริง ภาครัฐอาจจะต้องใช้งบประมาณที่สูง ในยุคก่อนหน้าระบบหลักประกันสุขภาพ เราตั้งเป้าว่าจะไม่ให้คนไข้ล้ม “ละลาย” จากการรักษาพยาบาล

จี้พรรคการเมือง แจงอัดฉีดนโยบายสาธารณสุข ใช้งบประมาณจากไหน

แต่พอในยุคนี้ เราอาจจะต้องระมัดระวัง การใช้จ่ายของด้านการสาธารณสุข ที่ไม่เป็นการ “ละลาย” งบประมาณ และอยากให้มองนโยบายด้านการสาธารณสุขเป็นนโยบายที่นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีหรือการมุ่งเน้นไปที่การป้องกันมากกว่าการรักษา ส่วนข้อควรระวังนโยบายเชิงประชานิยมแบบให้เปล่า ไม่มีเงื่อนไข แม้จะช่วยกระตุ้นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจจะสร้างปัญหา หรือบิดเบือนสภาวการณ์จริงที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันภาคเอกชนอยากเห็นนโยบายสาธารณสุขที่สร้างการมีส่วนร่วม ของทุกส่วนให้มีส่วนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่จะนำไปสู่การเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ทั่วถึงและเป็นธรรม เช่น การร่วมทุนสร้างหรือขยายโรงพยาบาล หรือการขยายศูนย์แพทย์เฉพาะทางโรคที่ขาดแคลนในรูปแบบ PPP (รัฐร่วมเอกชน) น่าจะมีการกระจายไปยังพื้นที่เมืองรอง เนื่องจากหลายแห่งที่ในทางธุรกิจอาจไม่คุ้มกับการลงทุน แต่เกิดประโยชน์ด้านสังคม เป็นต้น

สำหรับปัญหาด้านสาธารณสุขที่อยากให้เร่งแก้ไข 3 เรื่อง ได้แก่

1. การเพิ่มเตียงในโรงพยาบาล และเพิ่มจำนวนบุคลากรแพทย์และพยาบาล

2. การพัฒนาโรงพยาบาลให้มีการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมถึงการแก้ข้อกฎหมาย ข้อบังคับให้ทันสมัย

3. การส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาในสาขาวิชาเกี่ยวกับสาธารณสุข

ด้านดร.ไพศาล การถาง รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ให้มุมมองเกี่ยวกับนโยบายสาธารณสุขของพรรคการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า นโยบายสาธารณสุขของทุกพรรคการเมืองที่ออกมาหาเสียงตอนนี้ จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น ซึ่งมีความกังวลว่าแต่ละพรรคการเมืองได้ประมาณการงบประมาณแล้วหรือยัง เพราะยังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนพูดถึงแหล่งที่มาหรือช่องทางการหาเงินงบประมาณเพื่อมาสนับสนุนนโยบายจากไหน และที่สำคัญจะต้องไม่ใช่มาจากกลไกที่เกิดจากการก่อหนี้