ถอดบทเรียน "โควิด19"สู่คู่มือระวังภัยฉุกเฉินรับวิกฤตสุขภาพรอบใหม่

05 เม.ย. 2566 | 21:41 น.

ถอดบทเรียน "โควิด19"สู่คู่มือระวังภัยฉุกเฉินรับวิกฤตสุขภาพรอบใหม่ สช.ผนึก TCELS จับมือภาคีเครือข่ายกว่า 600 คนสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นจากหลายพื้นที่ ภายใต้ชุมชนเป็นฐานสำคัญ

นพ. ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และภาคีเครือข่าย นำเสนอนวัตกรรมที่ริเริ่มจากสถานการณ์โควิด-19 สู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นชุมชนเป็นฐานสำคัญ

ทั้งนี้ โดยดำเนินการผ่านเวทีสาธารณะ “ฝ่าวิกฤตสุขภาพจากปฏิบัติการระดับพื้นที่สู่นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” โดยเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน: การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพชุมชนในการเตรียมความพร้อมและรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” ที่ สช. และ TCELS ร่วมกันทบทวน สังเคราะห์แนวคิด และองค์ความรู้ 

สู่การพัฒนาชุมชนต้นแบบที่มีการนำนวัตกรรมทางสังคม มาเพิ่มขีดความสามารถเฝ้าระวังและรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้โปรแกรมการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม หรือ Ending Pandemics through Innovation (EPI)

ทั้งนี้ ระบบสุขภาพของประเทศไทยที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่าดีที่สุดแห่งหนึ่ง เกิดขึ้นจากพัฒนาการที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเกิดระบบสาธารณสุข ตามมาด้วยการให้สิทธิสวัสดิการแก่ผู้คนในกลุ่มต่างๆ เรื่อยมาตั้งแต่การสงเคราะห์ผู้ยากไร้ สวัสดิการข้าราชการ สิทธิประกันสังคม 

จนกระทั่งเมื่อประเทศเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ผู้คนมีปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพ จึงเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอีกอย่างน้อย 2 สิ่งตามมา คือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กับการสนับสนุนภาคประชาสังคมที่มีความตื่นตัวขึ้นทั่วประเทศ

ถอดบทเรียนโควิด19สู่คู่มือระวังภัยฉุกเฉินรับวิกฤตสุขภาพรอบใหม่ อย่างไรก็ดี จากรากฐานของระบบบัตรทองที่ช่วยดูแลประชาชนกว่า 47 ล้านคนไม่ให้ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และระบบของภาคประชาสังคมที่เติบโตขึ้นมาก ทำให้เมื่อประเทศไทยเจอกับวิกฤตใหญ่ครั้งถัดมาในปี 2563 นั่นคือการระบาดของโควิด-19 จึงฝ่าฟันและผ่านพ้นมาได้ด้วยรากฐานและพัฒนาการที่สำคัญเหล่านี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ขับเคลื่อนภายใต้การตัดสินใจทางการเมือง การสร้างความรู้ และการเคลื่อนไหวของสังคม รวมเข้าด้วยกัน

นพ.ประทีป ยังกล่าวอีกว่า หนึ่งในกลไกการสนับสนุนภาคประชาสังคม คือการสานพลังความร่วมมือจากฐานรากในการพัฒนานโยบายสาธารณะ หรือเครื่องมือสร้างสุขภาวะของ สช. ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) 

และยังไม่นับรวมถึงต้นทุนในชุมชนของหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งวิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ทั้งหมดถูกบูรณาการเข้ามารับมือกับการระบาดในครั้งนี้

“ทั้งหมดทำให้การรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ กลายเป็นการต่อยอดจากระบบที่มี และยังเกิดเป็นนวัตกรรม การบริหารจัดการใหม่ๆ ขึ้นมาในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด มีตัวอย่างชุมชนที่ลุกขึ้นมารวมตัวจัดทำมาตรการตนเอง หนุนเสริมมาตรการจากภาครัฐ ฉะนั้นขณะนี้จึงต้องการนำเอาองค์ความรู้ทั้งหมดที่ได้จากการดำเนินการ มาร่วมกันวิเคราะห์ สังเคราะห์ และถอดบทเรียน เพื่อเอาไปใช้รับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป” 
 

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้าทีมวิชาการในโครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน กล่าวว่า แม้ขณะนี้วิกฤตโควิด-19 อาจยังไม่หมดไป แต่อย่างน้อยจะมาร่วมกันสรุปบทเรียนที่เป็นรูปธรรม เพราะแนวคิดสำคัญที่จะยุติการระบาด อาจไม่ได้แปลว่าการทำให้โรคหายไป 

แต่จะยุติความตื่นกลัว ความสูญเสียโดยที่ไม่จำเป็น หรือความขัดแย้งต่างๆ มาทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยถอดบทเรียนจากนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้น อันจะนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหานั้น

“วันหนึ่งโควิด-19 จะค่อยๆ คลี่คลายไป แต่จะมีวิกฤตใหม่เข้ามา เช่น ฝุ่นควัน มลพิษ หรืออื่นๆ ที่จะตามมาอีกอย่างแน่นอน ฉะนั้นถ้าเรียนรู้จากโควิดและถอดบทเรียนเพื่อทบทวน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เห็นว่าตอนนั้นเผชิญกับอะไร ทำอะไร เปลี่ยนความเศร้าจากการสูญเสีย ความรู้สึกผิด มาเป็นพลังในการพัฒนา ทบทวนเพื่อค้นหาว่าจะต่อยอดสิ่งต่างๆ อย่างไร สู่นโยบายสาธารณะที่จะช่วยให้รับมือกับวิกฤตลักษณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น” 

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผลลัพธ์จากการถอดบทเรียนเหล่านี้จะกลายเป็นคู่มือการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโดยชุมชนมีส่วนร่วม หรือไกด์ไลน์ที่ชุมชนอื่นจะสามารถนำบทเรียนเรียนไปขยายและต่อยอด เป็นรูปแบบ วิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อรับมือภาวะฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพ ภัยพิบัติ หรือด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“อีกส่วนที่ยังจะพัฒนาต่อ คือคู่มือหรือแนวปฏิบัติของท้องถิ่นในการสนับสนุนชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง บนเป้าหมายปลายทางคือการเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉินในอนาคต แม้วันนี้จะยังไม่เกิดก็ไม่เป็นไร แต่เพื่อจะให้มั่นใจได้ว่าต่อไปเมื่อเกิดเหตุแล้ว จะไปได้เร็วกว่าเดิม มั่นคงกว่าเดิม เสียหายน้อยกว่าเดิม”