เอกชนกังวล "ยุบสภา" เกิดสุญญากาศทางนโยบายทำเศรษฐกิจสะดุด

22 ก.พ. 2566 | 10:00 น.

เอกชนกังวล "ยุบสภา" เกิดสุญญากาศทางนโยบายทำเศรษฐกิจสะดุด แนะรัฐบาลรักษาการณ์เร่งแก้ไขให้ทันสถานการณ์โลก เผยข้อดีทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น หลังเป็นถกเถียงมานาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเตรียมประกาศยุบสภาต้นเดือนมีนาคม 2566 พร้อมทั้งยืนยันว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ เลือกตั้ง ส.ส. จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ว่า การส่งสัญาณดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเกี่ยวกับความชัดเจน เพราะเป็นเรื่องที่มีการสอบถามกันมาโดยตลอดอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ทั้งนี้ ก็ต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะช่วงในช่วงที่ทุกฝ่ายต่างก็คาดการณ์เอาไว้อยู่แล้ว เนื่องจากใกล้ครบกำหนดเวลาของการเลือกตั้ง อีกทั้งที่ผ่านมาสัญญาณการยุบสภาดังกล่าวก็มีมาให้เห็นบ่อยครั้ง จากการล่มของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ส.ส.ขาดสมาธิ และต้องการลงพื้นที่เพื่อหาเสียงมากกว่า เสมือนเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าใกล้จะถึงเวลาของการเลือกตั้งครั้งใหม่  

"การที่นายกรัฐมนตรีออกมาพูดแบบนี้ก็ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ประชาชนเองมีมีการสอบถามกันมาตลอดว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่"

อย่างไรก็ดี แน่นอนว่าการยุบสภาย่อมทำให้เกิดสุญญากาศทางด้านนโยบายมีความชะงักงัน หรือชะลอตัวลง โดยอาจจะไม่ถึงกับปล่อยว่างไม่ทำอะไรเลย แต่จะเป็นการเบาเครื่องลงทุกภาคส่วนในกลไกลของทางราชการ เพื่อรอดูสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นธรรมเนียมปกติของการเลือกตั้งใหม่ โดยที่ยังไม่รู้ว่าผู้ใดจะเข้ามามีอำนาจสั่งการ โดยงานที่ทำอยู่ก็จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่สนใจเรื่องกำหนดเวลา เพราะไม่รู้ว่าผู้ที่เข้ามาใหม่จะปรับเปลี่ยนนโยบายหรือไม่

เอกชนกังวลยุบสภาเกิดสุญญากาศทางนโยบายทำเศรษฐกิจสะดุด "หวังว่าในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการณ์ ซึ่งจะมีข้อจำกัดมากขึ้น รัฐบาลจะทำอย่างไรให้สามารถเดินงานต่อโดยที่ไม่ต้องเหมือนไปชะลอเครื่องจนดับ และสะดุดโดยไม่มีเป้าหมาย ซึ่งน่าจะเป็นข้อกังวลในระดับหนึ่งแต่ไม่มากจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน โดยอาจจะทำให้เกิดช่วงสุญญากาศระยะสั้น ซึ่งจะต้องพยายามรีบแก้ไข เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ของโลก"

นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปอีกว่า อย่างน้อยเวลานี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกำลังเกิดขึ้นจากการเปิดประเทศ ประชาชนเองก็กำลังเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติ ภายใต้บรรยากาศการค้าของโลก ซึ่งทุกสำนักมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจลดลง โดยที่ประเทศไทยในฐานะที่พึ่งพาการส่งออกกว่า 70% รวมถึงพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ก็ต้องทำงานหนักอยู่แล้ว เพราะปีนี้จะปรับจากปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลข 3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่าทิศทางการส่งออกไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งยังมีสภาวะที่กำลังซื้อทั่วโลกมีไม่มาก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยุโรป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลเพิ่มเติมก็คือการเปิดประเทศของจีน ซึ่งจะทำให้โรงงาน และภาคการผลิตของจีนกลับมาทำงานหลังจากที่อั้นมานาน  โดยเชื่อว่าไตรมาส 2/66 โรงงานของจีนจะผลิตสินค้าจำนวนมากออกมาสู่ตลาดโลก ซึ่งจะทำให้ตลาดโลกมีคู่แข่ง และที่สำคัญมีราคาถูกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่าจะต้องแย่งกันค้าขาย โดยลูกค้าจะได้เปรียบจากการได้มีทางเลือกหาสินค้าที่ราคาถูกที่สุด ซึ่งจีนจะได้เปรียบประเทศไทย จากเดิมที่มีคู่แข่งมากอยู่แล้วจาก เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย 

ส่วนตลาดในประเทศ การที่จีนผลิตสินค้ามากและส่งไปยังตลาดหลัก แต่กำลังซื้อไม่ดี ก็จะทำให้สินค้าเหล่านั้นทะลักเข้าสู่เอเชีย และอาเซียน เข้ามาดั๊มตลาด ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดในประเทศจนอาจทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันได้ จนถึงขั้นจำใจหยุดการผลิต และใช้วิธีนำเข้าจากจีน เพื่อนำมาติดยี่ห้อเป็นของตนเองขายแทน  โดยเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูในปีนี้