นายกฯ บี้ สำนักงาน ป.ย.ป. “ต้องรู้ทุกเรื่อง” ตามงานทุกกระทรวง

23 ม.ค. 2566 | 07:41 น.

นายกรัฐมนตรี นัดประชุมบอร์ดขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง สั่งการสำนักงาน ป.ย.ป. ที่รับผิดชอบ “ต้องรู้ทุกเรื่อง” ตามงานทุกกระทรวง

วันนี้ (23 มกราคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง  (ป.ย.ป.) ครั้งแรกของปี 2566

ภายหลังการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงการทำงานของ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ทุกคนต้องรู้ทุกเรื่อง ทั้งงานในหน้าที่ของ ป.ย.ป. ที่รับผิดชอบขับเคลื่อนโดยตรง และงานที่หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ 

พร้อมทั้งให้ติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละกระทรวงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ให้เกิดการทำงานอย่างประสานสอดคล้องเป็นเอกภาพภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน  และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมไปถึงการติดตามบริบทและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 

ทั้งสถานการณ์ในประเทศและสถานการณ์ต่างประเทศ เช่น สถานการณ์ด้านการเงินการคลัง ทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานของประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

 

นายกรัฐมนตรี นัดประชุมบอร์ด ป.ย.ป. ทำเนียบรัฐบาล

ตามความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน

หนึ่งงานสำคัญที่ได้หารือกันในวันนี้ ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ย.ป. ซึ่งมีความก้าวหน้าหลายเรื่อง เช่น การขับเคลื่อนโครงการภายใต้กิจกรรม Big Rock สำนักงาน ป.ย.ป. ได้พัฒนาระบบรับเรื่องข้อขัดข้อง เพื่อเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง ในการทำงานร่วมกัน 

โดยได้ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน ด้วยการแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้กับเรื่องที่มีการรายงานเข้ามาในระบบรับเรื่องข้อขัดข้อง จำนวน 38 เรื่อง จากจำนวนทั้งสิ้น 40 เรื่อง คิดเป็น 95% ของจำนวนกิจกรรม/โครงการ และติดตามการขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock จำนวน 23 กิจกรรม สำหรับความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน ประกอบด้วย

1. การปฏิรูปประเทศด้านการเมือง : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ประชุมเพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทุกภาคส่วนในสังคม เสนอแนะความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่แนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองสู่การปฏิบัติจริง 

2. การปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้เป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนการใช้งานระบบ e-Document ผ่าน e-Service Catalog เพื่อเร่งระบบการทำงานภายในส่วนราชการให้สามารถลดการใช้กระดาษ และพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์

3. การปฏิรูปด้านกฎหมาย : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค จำนวน 1,094 กระบวนงาน  

 

นายกรัฐมนตรี นัดประชุมบอร์ด ป.ย.ป. ทำเนียบรัฐบาล

4. การปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนให้มีทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจให้ครบทุกสถานีทั่วประเทศ 

5. การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมขับเคลื่อนการปรับแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม เพื่อรองรับกับการประกอบธุรกิจโรงแรมให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจแบ่งปัน และธุรกิจการจองที่พักผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม  

6. การปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีบทบาทในการสนับสนุนการรักษาพื้นที่ป่าโดยร่วมวางแผนปัญหางบประมาณการดำเนินการของศูนย์ข้อมูลและเตือนภัยพิบัติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาพื้นที่ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

7. การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ และข้อมูลผู้ป่วยผ่านแพลตฟอร์ม “Health Link” 

 

นายกรัฐมนตรี นัดประชุมบอร์ด ป.ย.ป. ทำเนียบรัฐบาล

 

8. การปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีบทบาทในการประสานการทำงานระหว่างศูนย์ประสานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม กับหน่วยงานที่ถูกกล่าวถึงในข่าวปลอม 

9. ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคม : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ประสานการทำงานกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พัฒนาแอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการแก่คนพิการ

10. การปฏิรูปด้านพลังงาน : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ประสานและบูรณาการการทำงานระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง ขับเคลื่อนประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรค เช่น การตั้งคำของบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ได้จริง 

11. การปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมดำเนินการติดตามและขับเคลื่อนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย จำนวน 6 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2563 มาตรา 130 

12. การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และยกระดับระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ

13. การปฏิรูปด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย

 

นายกรัฐมนตรี นัดประชุมบอร์ด ป.ย.ป. ทำเนียบรัฐบาล

 

วางแผนงานในระยะต่อไปของ ป.ย.ป.

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้สำนักงาน ป.ย.ป. ขับเคลื่อนโครงการ และ กิจกรรมสำคัญในระยะต่อไป เพิ่มเติม 5 เรื่อง ดังนี้

  1. การสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีปรองดอง
  2. การปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน 
  3. จัดทำหลักสูตร ป.ย.ป. 
  4. จัดทำระบบเสนอแนะข้างทำเนียบ 
  5. จัดทำการใช้ระบบ e-Document ของหน่วยงานราชการ