ปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน

08 ก.ย. 2565 | 11:24 น.

ปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน อดีตอาจารย์นิด้า ร่วมศึกษา เมื่อมีโรงกลั่นเกิดขึ้นในประเทศไทย ในระยะแรก กำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศ ยังไม่พอต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ จึงต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงค์โปร์

 

 

ปัจจุบัน การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น อยู่ภายใต้แนวคิดของการแข่งขันเสรีที่ไม่มีผู้ใดเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชนรายใดรายหนึ่ง โดยการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น มาจากกลไกราคาในตลาดน้ำมันที่ทำให้ราคเสนอซื้อ และเสนอขายน้ำมันสำเร็จรูป มีความสมดุลกันในแต่ละวัน

 

 

สำหรับตลาดน้ำมันสำเร็จรูปที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด คือตลาด SIMEX ของสิงคโปร์ โดยผู้เสนอขายน้ำมันสำเร็จรูป คือ โรงกลั่นในสิงคโปร์ ที่นำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ผู้ซื้อน้ำมันคือผู้ใช้น้ำมันในประเทศสิงคโปร์ และประเทศที่อยู่ในภูมิภาคที่ใกล้กับสิงค์โปร์ รวมทั้งประเทศไทย ดังนั้น

ศ.ดร.ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ

 

รศ. ดร. วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล รวมทั้ง ศ. ดร. ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ และ ศ. ดร. จิราวัลย์ จิตรถเวช อาจารย์เกษียณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ร่วมกันศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น ระบุว่า เมื่อมีโรงกลั่นเกิดขึ้นในประเทศไทย ในระยะแรก กำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศ ยังไม่พอต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ จึงต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงค์โปร์

รศ.ดร.วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล

 

โดยน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นจากโรงกลั่นในประเทศไทยต้องแข่งขันกับน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าจากสิงคโปร์ ซึ่งนำไปสู่การอ้างอิงราคา ณ โรงกลั่นในประเทศไทยกับราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป CIF ในตลาดสิงคโปร์ที่ได้รวมค่าขนส่งและค่าประกันน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มาที่ศรีราชา

 

ค่าสูญเสีย ค่าปรับคุณภาพน้ำมันและค่าสำรองน้ำมันตามที่รัฐกำหนด ภายใต้แนวคิดการแข่งขันดังกล่าว ถ้าโรงกลั่นในประเทศขายน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นสูงกว่าราคาอ้างอิง ก็จะไม่สามารถแข่งขันได้

ในทางตรงกันข้าม ถ้าโรงกลั่นในประเทศมีต้นทุนการกลั่นที่ต่ำกว่าต้นทุนของโรงกลั่นในสิงคโปร์ ก็จะสามารถขายน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นได้ในราคาอ้างอิง CIF ในตลาด SIMEX  ซึ่งจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ การอิงราคา ณ โรงกลั่นกับราคา CIF ที่ตลาดสิงคโปร์ (import parity price) จึงเป็นกลไกสำคัญที่เอื้ออำนวยให้มีการแข่งขันในตลาดน้ำมันสำเร็จรูป

 

 

อีกทางเลือกในการคิดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น คือการคิดราคาแบบ cost plus ซึ่งจะมีอุปสรรคในการนำไปปฏิบัติ  เนื่องจากขนาดโรงกลั่นน้ำมันมีความแตกต่างกันมาก โรงกลั่นน้ำมัน ทั้ง 3 แห่ง คือ บมจ. โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) บมจ.ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) และ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) มีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบมากสุด 280,000 บาร์เรล/วันคิดเป็นร้อยละ 22.50

 

ของความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบทั้งหมด รองลงมา คือโรงกลั่นน้ำมัน ของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบ 275,000 บาร์เรล/วันคิดเป็นร้อยละ 22.10 โรงกลั่นน้ำมันฝาง มีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบน้อยที่สุด เพียง 2,500 บาร์เรล/วันคิดเป็นร้อยละ 0.20 เท่านั้น

 

 

ขณะที่เทคโนโลยีในการกลั่นของโรงกลั่นแต่ละแห่งยังแตกต่างกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายของโรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งแตกต่างกันมาก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในโรงกลั่น เป็นข้อมูลที่โรงกลั่นน้ำมัน ไม่ต้องการเปิดเผย เพราะเป็นความลับทางธุรกิจ จึงไม่สมควรใช้แนวคิด ราคาต้นทุนบวกกำไรตามสมควร (cost plus) ในการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นได้

 

สำหรับแนวคิด import parity ที่ได้กำหนดให้ราคา ณ โรงกลั่นเท่ากับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้า อาจมีความเหมาะสมในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อให้ราคา ณ โรงกลั่น เท่ากับราคานำเข้า แต่ในปี 2563 โรงกลั่นน้ำมันในประเทศ มีความสามารถในการกลั่นน้ำมัน 1,244,500 บาร์เรล/วัน

 

 

และมี condensate อีก 84,835 บาร์เรล/วัน ซึ่งมากกว่าความต้องการภายในประเทศ 874,009 บาร์เรล/วัน และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 188,594 บาร์เรล/วัน จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันที่สามารถผลิตภายในประเทศ ซึ่งรวมที่กลั่นจากโรงกลั่นและ condensate มีปริมาตรมากกว่าความต้องการภายในประเทศ

ปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น  ทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน

ดังนั้น จึงน่าพิจารณาทบทวนการใช้แนวคิด import parity ในการกำหนดราคา ณ โรงกลั่น ในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศที่สามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้   โดยเปลี่ยนราคาอ้างอิงจากราคา CIF เป็นราคาน้ำมันในตลาด SIMEX ซึ่งเสมือนราคา FOB โดยมีค่าปรับคุณภาพน้ำมันเท่านั้น

 

 การอ้างอิงราคา FOB จะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถานภาพของประเทศไทย  จากผู้น้ำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป  เมื่อมีการเปลี่ยนราคาอ้างอิงน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นจากราคา CIF เป็นราคา FOB ดังกล่าว ก็จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปลดลง

 

สำหรับกลไกในการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น ถือ เป็นอำนาจของ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ดังเช่นที่เคยมีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน ในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 และ การปรับโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น ตามมติการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563

 

 

ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของกลุ่มน้ำมันเบนซินและกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จ ณ โรงกลั่น ตามที่ได้นำเสนอ จึงสามารถกระทำได้ ซึ่งจะทำให้ราคาลดลง 1.3043 บาท/ลิตร ทำให้ลดภาระของผู้ใช้น้ำมันได้ประมาณปีละ 59,305 ล้านบาทต่อปี ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบ 120 เหรียญต่อบาร์เรล

 

หากในช่วงวิกฤตพลังงานและเศรษฐกิจ ประเทศไทยลดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันสำเร็จรูปเท่ากับคุณภาพน้ำมันในตลาด SIMEX ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น จะลดลงมาเท่ากับราคา MOPS หรือ ราคาตลาดซื้อขายน้ำมันเฉลี่ยที่ประกาศโดย Platts ที่สิงคโปร์ โดยไม่มีค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ก็จะทำให้ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.05 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล

 

ศ.ดร. จิราวัลย์ จิตรถเวช

ซึ่งเท่ากับ 0.4255 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1.57 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งเท่ากับ 0.3259 บาท/ลิตร (อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาท/เหรียญสหรัฐฯ) ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.7596 บาท/ลิตร และราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1.6530 บาท/ลิตร