เปิดขุมทรัพย์ - โครงข่ายธุรกิจ “หวยออนไลน์”

18 ม.ค. 2566 | 05:37 น.

“เนชั่นอินไซต์” ดำเนินรายการโดย บากบั่น บุญเลิศ และ วีระศักดิ์ พงศ์อักษร ทาง NationTV22 เจาะลึกเส้นทางเงิน “นอท กองสลากพลัส” โยงเครือข่ายสีเทา นำมาสู่การตบเท้าของ 5 หน่วยงานรัฐ เข้าตรวจสอบการเสียภาษีและการฟอกเงิน จนกลายเป็นกระแสร้อนฉ่าในขณะนี้

จากผลสำรวจของ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ เมื่อปี 2564 ชี้ให้เห็นถึงการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลของคนไทย พบว่า 52.6 %บอกว่า ไม่ถือว่าเป็นการพนัน แต่ 35.2% มองว่าเป็นการพนัน ขณะที่ 12.2 % ไม่แน่ใจว่าเป็นการพนันหรือไม่   คนไทย 45.4 % เล่นการพนัน

 นอกจากนั้นยังพบว่า คนไทยซื้อหวยเกือบครึ่งประเทศ คือ 24 .6 ล้านคน  เงินทุนหมุนเวียนสลาก 139,977 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียนต่องวด 6.6 หมื่นล้านบาท  

การจัดสรรสลากใน 100 ฉบับ  ส่วนแรก 31 ล้านฉบับขายผ่านสมาคม องค์กร มูลนิธิ คนพิการ ต้นทุน 68 บาท ต่อฉบับ กำไร 12 บาทต่อฉบับ (กำไร 15 %) 


ส่วนที่สอง 69 ล้านฉบับ ขายผ่านแอปฯเป๋าตัง 17 ล้านฉบับ  โครงการสลาก 80 จำนวน 2.5 ล้านฉบับ และผู้ค้ารายย่อย 49.5 ล้านฉบับ ต้นทุน 70 บาทต่อฉบับ ถ้าขาย ฉบับละ 80 บาท กำไร 12 % เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่นำฉลากออนไลน์ไปใช้นำมาจากผู้ค้ารายย่อยหรือไม่ ! 

เปิดขุมทรัพย์ - โครงข่ายธุรกิจ “หวยออนไลน์”

  • ซื้อสลาก 80 บาท เงินไปไหน

มีคำถามว่า ซื้อสลาก 80 บาท เงินไปไหน คำตอบคือ 60 % เป็นเงินรางวัล (48 บาท) นำส่งรายได้แผ่นดิน 23 % (18.40 บาท) เป็นส่วนลดให้ผู้แทนจำหน่าย (9.60 %) เป็นเงินบริหารของสำนักงานฯ 3 % (2.40 บาท)  เป็นค่าใช้จ่ายบริหารงานสมาคม องค์กร จังหวัด 2%  (1.60 บาท)


เปิดรายได้ 10 ปี ย้อนหลังสำนักงานสลากฯ  เพิ่มขึ้นทุกปี อาทิ ปี 2557 จำนวน 64,165 / ปี 2558 จำนวน 64,6555 ล้านบาท / ปี2559 จำนวน 91,881.88 ล้านบาท จากนั้นกระโดดสูงสุดถึง 167,910.35 ล้านบาท ในปี 2564 ส่วนในปี 2565 อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ขณะเดียวกันยังพบว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ยังติดท็อปเทนรัฐวิสาหกิจที่ส่งเงินเข้ารัฐสูงที่สุด โดยตัวเลขจากการส่งเงินเข้ารัฐบาล เพิ่มขึ้นทุกปี โดยยกตัวอย่างจากปี 2565 ส่งรายได้เข้ารัฐ 53,736.21 ล้านบาท ถือว่ามากที่สุดในรอบ 10ปีที่สำนักงานสลากฯนำเงินเข้ารัฐ

 

  • ผ่า 4  อาณาจักร”หวยออนไลน์”ใครอู่ฟู้

เดิมทีสำนักงานสลากฯขายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้รายย่อย แต่ขณะนี้สลากส่วนใหญ่ ขายผ่านแอปแต่ในช่วงเกิดโควิด-19 การคิดเรื่องหวยออนไลน์เฟื่องฟูมาก มีบริษัทใหญ่ๆมากมายเกิดขึ้น  ที่รู้จักกันดีมี 4 บริษัทคือ  “มังกรฟ้า” ของนายพชรล์ เมสสิยาห์พร  ซึ่งเจ้าของตัวจริงคือกลุ่มยี่ปั๊วซาปั๊วของสลากกินแบ่งรัฐบาล

ต่อมาที่เด่นดังที่สุดตอนนี่คือ “หงส์”ฐิตาภา ธนทรัพยปรีชา   ถูกปลดเรียบร้อยแล้ว  และ “เสือแดง” กัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ 

แต่ที่มาแรงจริงๆต้องยกให้ “กองสลากพลัส” ของ “นอท  พันธ์ธวัช  นาควิสุทธิ์   จากตัวเลขปี 2564  กองสลากพลัส มีรายได้รวม  1,193,012,270 บาท  รายจ่าย 1,181,202,422 บาท  กำไรสุทธิ 9,369,116 บาท  ซึ่งต่อมามีคำถามว่า กำไรแค่นี้ แต่ “นอท”สนับสนุนฟุตบอล  ส่งผลให้ ดีเอสไอ  ปปง. และกองปราบ  เข้าตรวจสอบเส้นทางการเงิน และว่าด้วยการขายสลากเกินราคา

 

“นอท กองสลากพลัส”ให้ปากคำดีเอสไอ

  • แผนเพิ่มสลากดิจิทัล ผ่าน “เป๋าตัง”

ไม่ใช่เฉพาะเอกชนที่มีสลากออนไลน์ สำนักงานสลากฯเองก็มีสลากออนไลน์ แต่ซื้อผ่าน “เป๋าตัง”   ซึ่งใน 3 ปี มีแผนสลากจะออกครึ่งหนึ่ง  โดยในปี 2565 เพิ่มสลากเป็น 17 ล้านฉบับ   ปี2566 เพิ่ม 30 ล้านฉบับ ปี 2567   เพิ่ม 40 ล้านฉบับ และ ปี 2568 มีแผนเพิ่มสลาก 50 ล้านฉบับ 

นั้นสะท้อนว่า การขายสลากผ่านแอปฯเป๋าตัว ในราคา 80 บาท เกิดขึ้นจริง  ซึ่งจะทำให้คนซื้อสลากที่แอปฯเป๋าตังมากขึ้นไปด้วย ข้อมูลจากการขายสลากดิจิทัลผ่าน แอป “เป๋าตัง”งวดวันที่ 17 ม.ค.2566 ที่เพิ่งผ่านไปล่าสุด  มีผู้ถูกรางวัลที่ 1 รวม 17 ใบ ได้เงินรางวัล 102 ล้านบาท  ถูก 1 ใบ จำนวน 2 คน  ถูก 5 ใบ จำนวน 1 คน และ ถูก 10 ใบ อีก 1 คน นั่นแสดงว่า “ สลาก 80 บาท มีอยู่จริง”

  • ถูกหวยออนไลน์ ต้องเสียภาษี  

มีคำถามว่า ถ้าถูกหวยออนไลน์ ต้องเสียภาษีหรือไม่  คำตอบคือ การซื้อสลากดิจิทัล ผ่านแอปเป๋าตังไม่ต้องเสียภาษี เพราะเข้าข่ายได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และเมื่อถูกรางวัลจะถูกหักอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้  

แต่ผู้ถูกรางวัลต้องนำบัตรประชาชนไปยื่นรับจากสำนักงานสลากฯด้วยตนเอง ผู้ที่ไม่นำบัตรประชาชนมารับเอง แต่ให้คนอื่นมายื่นแทน ตามกฎหมายไม่ถือว่าเป็นเงินรางวัล   หากใครไม่เอามาขึ้นและได้รางวัลจะถือว่าเป็นเงินได้และมีหน้าที่ต้อเสียภาษีและหน่วยงานที่ไปขึ้นก็ต้องเสียภาษี

  • เปิดโครงข่ายอาณาจักรหวยออนไลน์

ธุรกิจหวยออนไลน์ที่มีรายได้เป็นแสนล้านบาท มีโครงข่ายอาณาจักรที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ต้องเกาะติดกรณี “กองสลากพลัส”  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปปงและดีเอสไอ ไปตรวจสอบพบว่า โยงใยกับโครงข่ายว่าด้วย"ทุนสีเทา" 

มีคำถามเป็นวงกว้างในสังคมว่า แพลตฟอร์มของเอกชนเป็นแหล่งฟอกเงินหรือไม่  มีการเอาเงินอื่นๆหรือเงินสีเทามีใช้หรือไม่   เป็นโจทย์ใหญ่ที่กำลังมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินต่างๆ

ขณะที่“นอท กองสลากพลัส” กำลังเจอชะตากรรมที่ต้องชี้แจงรายละเอียดที่มาของเงิน รายได้ การกู้เงินเป็นจำนวนหลาย 100 ล้านบาทว่า “Who is Who” เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่รู้จักใคร และเขาไม่รู้จักเรา

สถานการณ์ขณะนี้ “นอท”กำลังเจอวิบากรรมอันรุนแรงที่สุดในชีวิต ถูกกรมสรรพากรสอบภาษี  สคบ.สอบขายสลากเกินราคา  ดีเอสไอ สอบที่มาของแหล่งเงิน เข้าข่ายฟอกเงินหรือไม่  ปปง.สอบเส้นทางไปเกี่ยวพันกับกลุ่มทุนสีเทาหรือไม่ กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์สลากดิจิทัล

ช่วงปีใหม่เกิดปรากฎการณ์ตบเท้า ไปตรวจสอบการขายสลากเกินราคาและสอบเรื่องภาษี และการฟอกเงิน โดยเมื่อเดือนมี.ค.2565  เกิดการนำสลากกินแบ่งรัฐบาลมาขายในระบบคอมพิวเตอร์ มีการกวาดสลากฯออกมาจากรายย่อย  ซึ่งกฎกกติกาว่าด้วยการขายสลากห้ามขายส่ง แต่ให้ขายปลีก  


ต่อมาวันที่ 18 ธ.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้ร่วมมือกับ ปปง. ดีเอสไอ ตำรวจหน่วยงานต่างๆตรวจสอบเรื่องเส้นการเงินของกองสลากพลัส ซึ่งทาง “นอท”ท้าทายให้ตรวจสอบ  จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับการตบเท้าเท้าตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างรุนแรงที่สุดชนิดที่คนปกติต้อง”ตัวสั่นงันงก”

วันที่ 4 ม.ค.2566 ดีเอสไอ ออกหมายเรียกผู้บริหารกองสลากพลัส ชี้แจงเหตุรับเงินที่เข้าข่ายขบวนการฟอกเงินเจอ39 เส้นทางเงิน (จำนวน 1,090 ล้านบาท)ไหลเข้าไปสู่นอท และกองสลาก  

วันที่ 13 ม.ค.2566  “นอท”ไปดีเอสไป  มีเงินโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของตน 53ล้านบาท โดยโอนมาจากกลุ่มธุรกิจการพนันออนไลน์ 

วันที่ 16 ม.ค.2566 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และปปง. ตบเท้าไปตรวจสอบกองสลากพลัส  ทำให้ “นอท”ออกมาประกาศตอนนี้ตกเป็นผู้ต้องหา 3 คดี ได้แก่

1.กรมสรรพากรดำเนินการตรวจสอบกรณีการเสียภาษี  ซึ่งตอนนั้นเขาได้เสียภาษีย้อนหลัง 159 ล้านบาท แต่น่าจะย้อนหลังประมาณ 500 ล้านบาท

 2. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายเรียกให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีพบหลักฐานการรับเงินจากกลุ่มขบวนการฟอกเงิน จากการค้ายาเสพติดวงเงินหลายสิบล้านบาท  ซึ่งหมายถึงเช็คต่างๆที่โอนเข้าบัญชี จำนวน 53  ล้านบาท กับ 1,100 ล้านบาท

และ 3. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.)ดำเนินคดีฐานร่วมกันประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยไม่ได้จดทะเบียนและร่วมกันเสนอจำหน่าย และจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ยังไม่ได้ออกรางวัล เกินราคาที่กฎหมายกำหนด โดยผิด พ.ร.บ.ขายตรงและตบาดแบบตรง พ.ศ.2545

 

“นอท กองสลากพลัส” แถลงขอจัดตั้ง"พรรคเปลี่ยน"

หลังเกิดปรากฎการณ์ตบเท้า ตรวจสอบ “นอท” ประกาศทันควัน ถ้าเป็นแบบนี้ “นอท” จะตั้งพรรค  

ก้าวต่อไปของ “นอท ”จะต้องพรรคการเมือง ชื่อ”พรรคเปลี่ยน”เพื่อแก้ปัญหาสลากเกินราคา โดยยอมรับว่า การตั้งพรรคการเมืองคือเกาะป้องกันในการทำธุรกิจ  อ้างเป้าหมายแรก ทำพรรคการเมืองเพื่อประโยชน์สังคม ถ้ามันปกป้องตนเองได้ในการทำธุรกิจก็พร้อม

"พรรคเปลี่ยน" ยื่นจดทะเบียนพรรคตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.2565 มีสโลแกนว่า “เปลี่ยนเพื่ออนาคต เปลี่ยนได้ถ้ากล้าพอ” ขณะนี้อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมรับรองการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยมีโลโก้พรรค คล้ายกับพรรคการเมืองหนึ่ง

 พรรคการเมืองเป็นที่รวมของผู้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพื่อออกกฎหมายและควบคุมการทำงานของรัฐบาลในการทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนในหลักการของการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ถ้าพรรคการเมืองตั้งมาเพือขายหวย ประเทศนี้คงตลกร้ายโดยสิ้นเชิง

“นอท”ยังเจอมรสุม ชุดใหญ่อีก เมื่อนายพงษธร อินอำนวย ผอ.ศูนย์คดียาเสพติด ดีเอสไอ  ออกมาแบไต๋เอกสารที่นายสันทนะ ประยูรรัตน์  ส่งมาให้จำนวน 700-800 หน้า พบว่าเป็นข้อมูลบุคคลในธุรกิจสีเทา ที่มีความรู้จักมักคุ้นกับ “นอท กองสลากพลัส”เป็นอย่างดี เป็นข้อมูลเมื่อ7-8 ปีที่แล้ว
    

ตอนนี้เมื่อตรวจสอบเข้าไปพบว่า “นอท กองสลากพลัส”รับเงินจากธุรกิจสีเทาแน่นอน ที่ตรวจพบแล้ว 2  เส้นทาง อีก 39 เส้นทางเงิน

ขณะที่ “นอท”ออกมาโต้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะ 5 ข้อหลัก เรื่องแรกกว้านซื้อ อ้างว่าประเทศไทย ไม่มีกฎหมายเรื่องกว้านซื้อ พร้อมบอกว่ากองสลากพลัส จะเอาสลากมาจากไหน กว้านซื้อจากคนที่รับโควต้า จากสำนักงานสลาก  

2.ทุกคนสามารถขายได้ไม่ต้องใช้ใบอนุญาต 3.การโฆษณาตามแพลตฟอร์มต่างๆ ยังไม่เจอกฎหมายห้ามโฆษณาการค้าสลากฯ

4.ค่าบริการแพลตฟอร์ม “เป๋าตัง”มีค่ายบริการในส่วยการขึ้นเงินเมื่อถูกรางวัล  

ส่วนข้อสุดท้าย การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18  ปี เขายืนยันว่ากองสลากพลัสมีข้อตกลงก่อนการใช้งานกับผู้ซื้อ  ขณะที่แอปฯเป๋าตังยืนยันได้หรือไม่ว่า คัดกรองได้ละเอียด ครอบคลุมเช่นกัน

  • เครือข่าย "สีเทา"ครอบงำ "สลากออนไลน์"

    แต่ตอนนี้ “นอท”กำลังเจอชะตากรรมว่าด้วยเรื่องเกี่ยวพันกับทุนจีนสีเทา เป็นโจทย์ที่ตอนนี้ ดีเอสไอ กำลังตรวจสอบเส้นทางการเงิน
    

สำหรับโครงข่ายทุนสีเทา จากการสอบถามจาก ดีเอสไอ  ปปง. กองปราบ และตำรวจสอบสวนกลาง พบว่า เครือข่ายที่เข้าไปพัวพันกับ “นอท”เป็นกลุ่มของผู้กอง “ม.”ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวพันกับบ่อนขนาดใหญ่ในกรุงเทพ  มีลูกชาย และหลาน เข้าไปเกี่ยวพันกับการทำเว็บไซต์บ่อนการพนันออนไลน์ 
    นอกจากนั้น ยังมีชื่อ “เสี่ย ล.” –“เสี่ย เฟ่ย” ล้วนอยู่ใน กทม. และยังเกี่ยวพันกับผู้กอง “ม.” ไปสนับสนุน “นอท กองสลากพลัส” ผลที่ตามมาทำให้เงินดำ ถูกฟอกให้เป็นเงินขาว รายได้มีที่มาที่ไป เพราะฉะนั้น “นอท”ต้องเคลียร์ให้ได้ 

อีกด้านหนึ่งทางสรรพากร และดีเอสไอ  สืบค้นเส้นทางเงินของ “นอท” พบว่า มีแคชเชียร์เช็คไปที่ “นอท”มีรายได้ประมาณ 35-40 รายได้ วงเงินราว 1,100 ล้านบาท  และพบอีกว่า “นอท”ไปพัวพันกับเว็บไซต์การพนันรายใหญ่ของผู้กอง ท.-ทายาทเสี่ย ต.-สารวัตร สั่ว” 

นอกจากนี้ยังมีเครือข่าย “มัลลี่”เจ้าแม่บัญชีม้ารายใหญ่ แห่งคอกม้า “ฮอลิเดย์” ตอนนี้ ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบแล้ว  โดย““มัลลี่”เกี่ยวพันกับบ่อน CAMBODAI และเครือข่าย “ โทนี่-แดนนี่” ที่เป็นกองหลังคอยเกื้อหนุน สุดท้ายเงินเข้าไปที่กองสลากฯ

นอกจากนี้ต้องดูให้ดี ชื่อ “เฮีย อุ้บ อรัญประเทศ” ขาใหญ่ชายแดนบูรพา ที่ดูแลข้าราชการ ทหาร สีกากี ที่เกี่ยวข้องกับตะเข็บชายแดน  และยังมีขาใหญ่ตัวจริง เสียงจริง ตอนนี้จับตาให้ดี คือ “สารวัตร สั่ว” ซึ่งเดิมทีใช้ “เสี่ย โป้” เป็นเครื่องมือ  

 
สำหรับ “สารวัตร สั่ว” เดิมเป็นทหารเรือ แล้วมาเป็นตำรวจ ยศ พ.ต.ท. ปีหนึ่งจ่ายเงินดูแลคน 5,000 ล้านบาท ถึงขนาดจะซื้อสถานบันเทิง อาบ อบ นวด เพื่อดูแลคนที่เล่นการพนันในบ่อนตัวเอง

เชื่อว่าโครงข่ายเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ ฝ่ายข้าราชการปกครอง ตำรวจ และนักการเมือง รู้ดี  แต่ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก!!