นักลงทุนต่างชาติจับตาเลือกตั้งเมืองไทย

10 ม.ค. 2566 | 08:11 น.

นักลงทุนต่างชาติจับตาเลือกตั้งเมืองไทย นักวิชาการ-เอกชน ประสานเสียงอยากได้ความชัดเจนนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศมากกว่านโยบายประชานิยม

นายอัทธ์    พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการเลือกตั้งของไทยที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ว่า คนไทยพร้อมที่จะมีการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับนักธุรกิจไทย การที่พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศชัดเจนที่จะลงสนามเลือกตั้งจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการยุบสภาเร็วขึ้น 

 

นายอัทธ์    พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

“ภาพการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และเป็นประเด็นที่น่าจับตามองนอกเหนือจากเศรษฐกิจโลก ว่าจะมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุน นโยบายที่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งจะเข้ามาบริหารประเทศอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ความเป็นอยู่ของประชาชนจะเป็นอย่างไร การดึงนักลงทุนเข้ามาจะเป็นอย่างไร ซึ่งนักลงทุนเองก็ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดพอๆกับเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย”

ทั้งนี้อยากให้พรรคการเมืองมองเรื่องการบริหารประเทศ ด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การดึงนักลงทุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เกิดหน้ามากกว่านโยบายประชานิยม

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย

 

สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย  กล่าวว่า ความเป็นประชาธิปไตยที่ก่อนหน้านี้มาจากสายทหาร แต่ตอนนี้มีความชัดเจนมากขึ้น มีการเลือกตั้ง100% ภาพชัดเจนขึ้นดังนั้นการหาเสียงเลือกตั้งจะมีความเข้มขึ้นเช่นกัน แต่สิ่งที่เอกชนกังวลคือ  พรรคการเมืองจะมีนโยบายอะไรที่ชัดเจนมากกว่าเน้นหาเสียงอย่างเดียว  เอกชนอยากเห็นอนาคตของไทยที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ทิศทางประเทศไทยจนไปทางหน เศรษฐกิจไทยจะก้าวไปอย่างไรมากกว่านโยบายประชานิยม  และรัฐบาลจะช่วยผู้ประกอบการรายใหญ่ กลาง เล็กอย่างไรให้แข็งขันได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

 

“เอกชนอยากเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงที่มีรายละเอียดในเรื่องของการค้าการลงทุนจะทำอย่างไร จะพัฒนาประเทศให้เดินหน้าอย่างไร มองเรื่องการลงทุน การเจรจาการค้า เพราะนอกจากการเมืองจะมีเสถียรภาพแล้วความสามารถในการแข่งขันของไทยก็เป็นเรื่องสำคัญด้วยจะผลักดันการส่ออกอย่างไรอยากให้มองระยะกลาง-ยาวมากว่ามองเรื่องระยะสั้นๆให้มองเรื่องประเทศเป็นหลัก”