“เลขาฯ กกต.”ยัน มีกรอบปฏิทินเลือกตั้งไว้แล้ว ทั้งยุบสภา-ครบวาระ

22 ธ.ค. 2565 | 08:21 น.

“เลขาฯ กกต.” แจงมีกรอบปฏิทินเลือกตั้งพร้อมรับทั้งยุบสภา-ครบวาระ เผยปม “ปฏิทินสายัณห์” รอดูข้อเท็จจริงก่อน มั่นใจพรรคการเมือง-นักการเมือง เข้าใจเทศกาลปีใหม่อยู่ในช่วงหาเสียง ต้องระมัดระวังเรื่องแจกของ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสั่งการให้ผอ.กกต.ประจำจังหวัดไปทำไทมไลน์การเลือกตั้ง ว่า สำนักงานฯเรามีความพร้อมในการบริหารและทางธุรการ แต่สิ่งที่เรารอคือร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่

 

กิจกรรมในการเลือกตั้งส.ส.ไม่ว่าจะเลือกตั้งครั้งไหนหรือกฎหมายฉบับไหนก็จะมีกิจกรรมเหมือนกัน คือถ้านับจากอายุสภาสิ้นสุดลงจนถึงวันเลือกตั้งและวันประกาศผลการเลือกตั้งก็เหมือนกันทุกครั้ง แต่สิ่งที่ต่างกันคือระยะเวลา ถ้าครบวาระสภาให้นับ 45 วัน แต่ยุบสภานับไม่น้อยกว่า 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน เพียงแต่ถ้ายุบสภามันจะมีเวลาในกิจกรรมมากขึ้น  เช่นเวลาในการหาเสียงของพรรคการเมือง ส่วนบางกิจกรรมที่กฎหมายกำหนดเวลาไว้อยู่แล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น

 

ไม่ว่าอายุสภาจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุใด กกต.มีแผนงานกิจกรรมที่ต้องดำเนินการไว้แล้ว เรียกว่ามันเป็นปฏิทินการทำงานของสำนักงานฯ 

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง

 

เมื่อถามว่าตอนนี้เวลายังไม่ชัดเจนเรามีการติดตามการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองอย่างไรบ้าง นายแสวง กล่าวว่า เป็นสิ่งที่เราต้องเอาใจช่วยพรรคการเมือง เพราะพรรคเมืองนอกจากจะไปพะวงเรื่องการออกไปหาเสียงแล้ว ยังต้องมาพะวงกับเงื่อนไขในการที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

สิ่งที่จะทำให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครได้คือเขตเลือกตั้ง วันนี้ยังไม่มี กกต.เองก็ต้องรอกฎหมายลูก ซึ่งเขตเลือกตั้งเองตอนนี้รออยู่ 2 อย่าง คือต้องรอกฎหมายมีผลใช้บังคับ และรอจำนวนประชากรที่กระทรวงมหาดไทยจะต้องประกาศ ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 เข้าใจว่าทางกระทรวงคงจะใช้เวลาระยะหนึ่งในการออกประกาศ แต่คงไม่นาน

 

โดยเราได้ประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้วว่าเราต้องการทราบจำนวนประชากร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ซึ่งทางกระทรวงก็ให้ความร่วมมือด้วยดี และนั่นจึงจะมีเขตเลือกตั้ง โดยในกระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งกฎหมายยังให้ประชาชน ผู้สมัคร พรรคการเมืองเข้ามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการแบ่งเขตของสำนักงานฯด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้คงต้องใช้เวลา แต่ก็คงไม่นาน และเมื่อพรรคการเมืองทราบเขตเลือกตั้งแล้วก็ค่อยไปทำไพรมารีโหวตได้  


 เมื่อถามถึงระยะเวลาในการแบ่งเขตเลือกตั้งหลังกฎหมายลูกใช้บังคับและเมื่อทราบจำนวนประชากรแล้ว นายแสวง กล่าวว่า ตามจริงเราแบ่งเขตจากเดิม 350 เป็น 400 เขตแล้ว เตรียมข้อมูลทางธุรการไว้แล้ว เป็นไปตามกฎหมายตัวร่างเขต 3 รูปแบบ ตรงนี้ไม่ได้ใช้เวลาอะไรมาก แต่สิ่งที่จะใช้เวลาคือการให้ประชาชน ผู้สมัคร พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นที่อาจจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ 

 

 

 เมื่อถามว่าถ้ามีการยุบสภาในช่วงวันที่ 15 มี.ค. กกต.วางปฏิทินการจัดการเลือกตั้งอย่างไร นายแสวงกล่าวว่าเราไม่สมมติ เรามีปฏิทินการทำงานทั้งสองอย่างแล้ว เมื่อถามย้ำว่าปฏิทินวันเลือกตั้งยังเป็นวันที่ 7 พฤษภาคมหรือไม่ นายแสวงย้ำว่าเราไม่สมมติ เพราะมีเวลาของมัน เมื่อทาบลงไปจะทราบเลย เพราะทุกกิจกรรมบังคับด้วยกฎหมาย จะไปลดกิจกรรมหรือนำออกไม่ได้

 

ถ้าเป็นยุบสภา เราก็เอาไปทาบก็จะรู้ทันทีว่าวันเลือกตั้งคือวันอะไร  เพราะแต่ละเรื่องเป็นเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว กกต.ไม่ได้ทำเกินกฎหมาย” 

               

เมื่อถามย้ำถึงผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมืองแล้วไปลงพื้นที่ต่างจังหวัดเรื่องนี้เราจะดูแลอย่างไรได้บ้าง นายแสวง กล่าวว่า กฎหมายมีความชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนมากพรรคการเมืองเข้าใจ ใครไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือส.ส.ลงพื้นที่เท่ากัน ตนมองว่าคนมีตำแหน่งต่างหากที่ต้องระวังกว่า แต่ตั้งแต่มีกฎหมาย 180 วันมานั้นไม่ได้ยินว่ามีใครจะมาร้องว่าใครใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปทำเกินเลยกฎหมาย 
       

ส่วนกรณีนายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ทำปฏิทินรูปคู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ว่า กกต.ได้รับรายงานทุกเรื่อง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ รูปแบบเป็นปฏิทิน แต่ยังไม่ได้ทำเป็นปฏิทิน และคำชี้แจงของเขาที่บอกว่าทำเป็นป้าย ซึ่งรูปแบบของป้ายทำในเชิงปฏิทินก็ได้ หรือถ้าเป็นรูปแบบปฏิทินแล้วไปหาเสียงในโซเชียลฯก็ได้ แต่ปฏิทินแบบเดิมๆแล้วนำไปแจกไม่ได้ เพราะนั่นจะถือเป็นทรัพย์สินแล้ว แต่ถ้าอยู่ในโซเชียลฯ เป็นป้ายได้ เพราะไม่ได้แจกประชาชน มันเป็นการสื่อถึงประชาชน อวยพรประชาชนในเทศกาลปีใหม่ ก็ต้องไปดูข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร 
             

 เมื่อถามว่าในช่วงนี้ใกล้จะถึงวันเลือกตั้ง ส.ส. จะทำของแจกจ่ายประชาชน มีข้อกำชับอะไรพิเศษหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ไม่ต้องกำชับ เชื่อว่าทุกคนรู้ เพราะช่วงนี้อยู่ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง  เห็นหรือไม่ พอคนคิดจะทำปฏิทินก็เกิดปัญหาทันที แค่คิดนะ ตนไม่รู้ว่าเค้าคิดจะทำอะไร ก็มีการตรวจสอบ เขาต้องระวังอยู่แล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองทราบดี 

 

นายแสวง ยังกล่าวถึงการตรวจสอบเงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ว่า เรื่องเงินบริจาคคนแรกที่ตรวจสอบคือ พรรคการเมือง เพราะกฎหมายกำหนดให้พรรครับบริจาคและประกาศให้ประชาชนทราบ จากนั้นจึงส่งให้ กกต. และกกต.ก็จะประกาศให้ประชาชนรับทราบต่อไป

 

เท่ากับว่ามีการตรวจสอบ 2 ชั้น แต่จะตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน คือดูจากกรณีบุคคลมีสัญชาติไทย เราเองก็ดูจากเลขบัตรประชาชน แต่ถ้าบอกว่าเป็นเงินไม่ชอบด้วยกฎหมายเรื่องนี้มันต้องมีหน่วยตรวจสอบ ไม่ใช่อยู่เฉยๆให้กกต.ไปตรวจสอบ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของกกต.ที่จะไปตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้เมื่อมีการร้องเรียนมาเราก็ตรวจสอบ 
         

เมื่อถามย้ำว่าถ้าตรวจสอบมาแล้วเงินไม่ชอบด้วยกฎหมายจะดำเนินการอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า มันมีกฎหมายรองรับอยู่ อย่าเพิ่งคะเนไปถึงเรื่องนั้นขอให้ดูข้อเท็จจริงก่อน เพราะอยากให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย