ปชป.ประกาศมีความพร้อมทั้งตัวบุคคล-นโยบาย เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง

02 ธ.ค. 2565 | 10:52 น.
อัพเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2565 | 17:59 น.

“จุรินทร์”ลั่น ปชป. มีความพร้อมทั้งตัวบุคคล ทั้งนโยบาย และเรื่องทิศทางการดำเนินงานของพรรค ในการเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ไม่มีความกังวลอะไร ด้าน“วิษณุ” คาด ธ.ค. ทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายลูกได้ 

วันนี้(2 ธ.ค.65) ที่อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ขณะนี้ใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว ว่า ไม่มีความกังวลอะไร ในขณะนี้ก็เป็นภารกิจของพรรคการเมือง 


โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ก็เตรียมการมาล่วงหน้าก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อถึงเวลาจะต้องเข้าสู่การเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความพร้อมทั้งตัวบุคคลทั้งนโยบาย และเรื่องทิศทางการดำเนินงานของพรรคในการที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง

 


ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทม์ไลน์ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ การเลือกตั้งส.ส. ที่ผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจะส่งคำวินิจฉัยไปให้สภาฯ จากนั้นสภาฯ จะส่งมาให้รัฐบาล แต่ขณะนี้ยังไม่มีการส่งมา เมื่อสภาฯ ส่งมาแล้ว จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 25 วัน โดย 5 วันแรก เผื่อไว้หากมีผู้ร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกหนหนึ่ง ส่วนอีก 20 วันนั้น เป็นกำหนดเวลาในการให้รัฐบาลจัดพิมพ์ให้เรียบร้อย 


การนำร่างกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯ คงจะเป็นช่วงเดือน ธ.ค. หากนับไปอีก 90 วัน ก็จะอยู่ประมาณเดือน มี.ค. 2566 ก็คงใกล้กับวันที่สภาฯ จะครบวาระ

 

“เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว จากนั้นก็นับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน สุดแต่จะทรงลงพระปรมาภิไธย ลงมาเมื่อใดก็ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลใช้บังคับในวันรุ่งขึ้น” 

 

เมื่อถามว่าหากนำกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว หมายความว่าจะปิดประตูการยุบสภาฯ ได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเรื่อง ในอดีตมีการยุบสภาฯ โดยที่มีกฎหมายค้างระหว่างทูลเกล้าฯ เป็นจำนวนมาก หากมีการยุบสภาฯ แล้วมีการลงพระปรมาภิไธย ก็นำกฎหมายเหล่านั้น ไปใช้ในการเลือกตั้งอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องเงื่อนเวลาหรือใดๆ ไม่เกี่ยวกันเลย


นายวิษณุ กล่าวว่า ใครที่ไปนับกันว่าการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หากมีการยุบสภา ต้องเป็นภายใน 30 วันนั้น หรือสภาฯ ครบวาระ ต้องเป็นสมาชิกภายใน 90 วันนั้นก็ถูก แต่การนับ 90 วัน จะนับจนถึงวันเลือกตั้ง ไม่ได้นับจนถึงวันที่สภาฯ หมดวาระ ดังนั้น ที่ออกมาพูดกันเยอะว่าหลังวันที่ 24 ธ.ค. แล้วจะอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นเพราะไปนับ 90 วัน ถึงวันที่ 22 มี.ค. 2566 ที่เป็นวันครบวาระของสภาฯ แต่ในความเป็นจริงไม่เกี่ยวกัน 


เมื่อถามย้ำว่าหากจะให้ปลอดภัยสุด นักการเมืองควรย้ายพรรควันที่เท่าไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ผมตอบไม่ถูก อยากย้ายกันเมื่อไหร่ก็ย้าย อยากอยู่ก็อยู่ แต่ถ้ายุบสภา ก็ยังมีกำหนดเวลาเลือกตั้ง 45 วัน ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งก่อน 45 วันได้ ดังนั้น หากมีการยุบสภาขึ้นมากระทันหัน พรุ่งนี้ก็ยังย้ายพรรคกันได้ ก็เท่านั้น