“จุรินทร์”ลั่น!พร้อมกวาดส.ส. 12 เขต ในสามจังหวัดชายแดนใต้

21 พ.ย. 2565 | 04:17 น.

“จุรินทร์” ประกาศ ปชป. พร้อมกวาด ส.ส. ทั้ง 12 เขต มั่นใจนำ เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้พุ่ง ยันเศรษฐกิจปากท้อง พรรคมีช่องทาง ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปด่านตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์ การค้าชายแดน

 

โดยกล่าวถึงการเปิดตัวผู้สมัครใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ของพรรคว่า สำหรับจังหวัดชายแดนใต้ 12 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ มีผู้สมัครครบและได้ประกาศตัวชัดเจนแล้วว่า เราสู้ทุกเขต ทั้ง 12 เขตเลือกตั้ง ซึ่งเรามีที่มาที่ไปไม่ใช่อยากประกาศอะไรก็ประกาศ

 

ที่ผ่านมาในปี 2548 ยุคนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์เราเคยได้ 11 จาก 12 ที่นั่ง เพราะฉะนั้นรากฐานความเป็นไปได้นั้นมันมี ไม่ใช่ไม่มี และตนมั่นใจว่า เที่ยวนี้เราเห็นจิตวิญญาณประชาธิปัตย์กลับคืนมา

 

สำหรับสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค ทุกคนมีปฏิกิริยาดีขึ้นมาก เสียงตอบรับดีมาก จึงเป็นที่มาที่ตน นายนิพนธ์ บุญญามณี รวมถึงท่านเลขาธิการพรรคได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า เราพร้อมสู้ทุกเขต สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับนโยบายสำหรับจังหวัดชายแดนใต้นั้น พรรคเห็นว่าปัญหาความมั่นคง เป็นเรื่องที่เราทิ้งไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องให้ความสำคัญ กับการพัฒนา เพราะเรื่องนี้เป็นหัวใจที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่ และพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการเห็น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

พรรคปชป.มีช่องทางที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมด้านการเกษตร ยาง ปาล์ม ผลไม้ หรือในเรื่องของปศุสัตว์ การประมง รวมทั้งการที่จะทำให้จังหวัดชายแดนใต้เป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหาร ให้กับประเทศ

 

ไปถึงความมั่นคงด้านอาหาร ให้กับโลกได้ด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นพุทธ หรือมุสลิม ก็สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ป้อนประเทศ ป้อนโลกได้ ซึ่งเราก็มีตลาดรองรับแล้ว จากการที่ตนได้ไปเปิดเตรียมไว้แล้ว อย่างซาอุดิอาระเบีย ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดจีน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก 

 

ส่วนความมุ่งหวังในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นั้น คราวที่แล้วเราได้ที่เดียว เพราะฉะนั้นเราสู้ทุกเขต เชื่อว่าเราก็ได้ไม่น้อยหรอก ขอให้รอดูผลที่จะออกมา ซึ่งจากศักยภาพ ผู้สมัครและการลงพื้นที่ หลายท่านได้ลงพื้นที่ในนามพรรค มาแล้วระยะหนึ่ง

 

อย่างนายเมธี อรุณ ลาบานูน ก็เป็นความหวังของพรรค และเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ใครที่บอกว่าประชาธิปัตย์ไม่มีคนใหม่ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง รวมทั้ง ดร.ยูนัยดี วาบา และยังมีคนอื่นๆ ที่เป็นผู้สมัครที่มีศักยภาพก็มาลงสมัครรับเลือกตั้งเที่ยวนี้ในนามพรรคประชาธิปัตย์ 

 

ส่วนที่ถามถึงความกังวลในเรื่องพลังดูดจากพรรคอื่นนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่ดูดผู้แทนจากพรรคอื่นจะสำเร็จ ในอดีตก็ล้มเหลวให้เห็นมาเยอะแล้ว 

 

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการเสนอชื่อรัฐมนตรีของพรรคสำหรับการปรับ ครม. นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนได้ส่งชื่อบุคคลที่จะมาแทนนายนิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งก็คือนายนริศ ขำนุรักษ์ ไปหลายสัปดาห์แล้ว

 

นายกฯ คงยุ่งอยู่กับ เอเปค แต่เมื่อ เอเปคจบแล้ว ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาที่ท่านนายกฯ จะได้ช่วยดำเนินการได้ เพราะคนอื่นดำเนินการไม่ได้ ตนจะดำเนินการเองก็ไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ทำเองก็ไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ กติกา ท่านนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเท่านั้น ที่จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ 

 นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

 

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงผลโพลที่ออกมาดีหลังจากการทำงานหนักในช่วงการประชุมเอเปคที่ทำให้เกิดผลดีต่อประเทศ ว่า ช่วยให้มีกำลังใจในการทำงานขึ้น อย่างน้อยที่สุดผลโพลได้สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ตนทำไปนั้นประชาชนเฝ้าดูอยู่ และรับทราบ 

 

“ความจริงความสำเร็จของเอเปค ก็ไม่ได้อยู่ที่ผมคนเดียว แต่ท่านนายกฯ ก็มีบทบาทสำคัญ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน เพื่อนข้าราชการทั้งหมด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องถือโอกาสนี้ขอบคุณด้วย

 

ผมก็เป็นฟันเฟืองตัวหนึ่ง เพราะเอเปค เราเริ่มต้นตั้งแต่การที่ผมทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้า เอเปค เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้มาก่อน ซึ่งวงเอเปคไม่ได้มีวงเดียว แต่มีวงรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้า และวงซัมมิท ระดับผู้นำ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เพราะทำให้เรามีฉันทามติในเรื่องการขับเคลื่อนเอเปค ให้กลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะมีส่วนช่วยสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศไทยด้วย” 

 

ต่อไปการส่งออกสินค้าไปยัง 20 เขตเศรษฐกิจ ภาษีจะเป็นศูนย์ ซึ่งจะทำให้เราได้เปรียบคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปค ในเรื่องราคา และความได้เปรียบทางการตลาด ส่วนในช่วงเอเปค ตนก็ร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เป็นประธานที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเศรษฐกิจ รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศเอเปค ซึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนความสำเร็จอีกอย่าง

 

นอกจากการให้ความเห็นชอบ การเป็น FTA อีกระดับหนึ่งแล้ว ก็ยังให้ความเห็นชอบ ในเรื่องการขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ที่เราต้องการทำให้เศรษฐกิจของเอเปค ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย ที่เป็น BCG Model แต่วันนี้ได้เป็นของเอเปคไปแล้วด้วย

 

ดังนั้นถือว่าเราประสบความสำเร็จ ไปอีกขั้นหนึ่ง และที่สำคัญตนได้ใช้ช่วงจังหวะ ในการประชุมเอเปค ทำการเจรจาแบบทวิภาคีอีกหลายวง ตั้งแต่การที่ได้ฝากให้ญี่ปุ่น สนับสนุนให้ภูเก็ตได้เป็นเจ้าภาพ Specialized Expo 2028 และรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็รับไปพิจารณา

 

รวมทั้งการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อผลักดันให้ปลดไทย ออกจากบัญชีประเทศจับตามอง (WL) ในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งก็มีแนวโน้มเป็นไปได้ เพราะวันนี้ถือว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีน้อยลงมาก และพัฒนาไปในทิศทางที่ดี

 

หากเราถูกปลดออกจากบัญชี WL ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ก็จะทำให้ทั้งการค้า ความร่วมเชื่อมั่น การลงทุนจากต่างประเทศก็จะดีขึ้นเป็นเงาตามตัวตัว นอกจากนี้ตนยังทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสเซ็น MOU กับออสเตรเลีย ไป 8 ด้าน ก็จะช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรเลีย มีความผูกพันด้านการค้าการลงทุน และด้านวิชาการอื่นๆ ต่อไป

 

รวมทั้งการได้มีโอกาสเซ็น MOU กับจีน ในเรื่องการพัฒนา E-commerce ร่วมกัน เพราะถือว่าแพลตฟอร์มของจีนเป็นแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพไปทั่วโลก รวมทั้งจีนยังมีพัฒนาการด้าน E-commerce ไปไกลมาก

 

ดังนั้นการได้เซ็น MOU ร่วมกันก็จะเป็นประโยชน์กับการค้าออนไลน์ของคู่ค้าไทย และการส่งออกสินค้าออนไลน์ของไทยไปจีน และไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก 

 

นายจุรินทร์กล่าวว่า ทั้งหมดนี้คือการทำให้เห็นว่านอกจากเป็นการสร้างเงินให้คนไทย ให้ประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างอนาคตให้ประเทศไทยด้วย ดังนั้นตนจึงดีใจที่ประชาชนเห็น และได้สะท้อนผ่านโพลออกมา ซึ่งขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนที่ติดตามด้วย 

 

“ผมคิดว่า เศรษฐกิจประเทศไทยยังเดินได้ และการส่งออกก็ยังเป็นตัวขับเคลื่อน แม้ว่าบางช่วงอาจจะบวกบ้าง ลบบ้าง ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ปกติ ขณะที่หลายประเทศในโลกลบติดๆ กันเยอะ แต่ของเรายังมีบวก

 

ผมมั่นใจว่าภาพรวมปี 65 ตัวเลขยังเป็นบวก และคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ เมื่อเราได้การท่องเที่ยวมาเสริมก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่อุปสรรคใหญ่คือภาพรวมเศรษฐกิจโลก แนวโน้มไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ต้องยอมรับและทำความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปีที่แล้วเป็นบวก แต่ปีนี้มีแนวโน้มบวกน้อยลง และปีหน้าก็มีแนวโน้มบวกน้อยลงอีก

 

เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็จะเป็นความท้าทายอีกอันที่เราจะต้องขับเคลื่อนฟันฝ่าไปให้ได้ โดยเฉพาะตัวเลขการท่องเที่ยว และการส่งออกด้วย ผมก็พร้อมจับมือกับเอกชน กระทรวงพาณิชย์ไทยก็พร้อมช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ไป ในขณะที่โลกชะลอตัว เราก็ฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ ผมยังมั่นใจว่าเราทำได้”