วันที่ 19 ต.ค.2565 ดร.เกษม ศุภสิทธิ์ ทนายความอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทยาและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจาก นายศักดา ช่วงรังษี รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ให้ช่วยพิจารณาในประเด็นที่อาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่อง
1.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 นายศักดา ช่วงรังษี ขณะดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาตลิ่งชัน และเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ถูกอดีตอัยการสูงสุด มีคำสั่งปลดออกจากคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปา ปทุมธานี-รังสิต
อันเนื่องมาจากนายศักดา ช่วงรังษี ได้คัดค้านบริษัทเอกชนรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานการประปาปทุมธานี-รังสิต จะขอต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี
แต่เนื่องจาก “ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ “ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้วางหลักเกณฑ์ไว้แล้วว่า “ จะให้การประปาส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง”
ภายหลังเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญาดังกล่าวแล้ว ต่อมาภายหลังคณะกรรมการฯ ซึ่งไม่มีนายศักดา ช่วงรังษี ร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย ได้มีมติให้บริษัทเอกชนรายดังกล่าว ต่ออายุสัญญาสัมปทาน ออกไปอีก 20 ปี
2.เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ได้มีการประชุมคณะกรรมการอัยการ เพื่อคัดเลือกอัยการสูงสุด ได้มีประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค มายื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้านการแต่งตั้งอัยการสูงสุดคนใหม่
และต่อมาได้มีการปล่อยข่าวให้ร้าย นายศักดา ช่วงรังษี ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการคัดค้านการแต่งตั้งอัยการสูงสุด เพื่อมิให้นายศักดา ช่วงรังษี ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับอาวุโส
3.เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 มีผู้ประสงค์ร้าย เขียนบัตรสนเท่ห์ ส่งไปยังอดีตอัยการสูงสุด ร้องเรียนกล่าวหาว่า “ นายศักดา ช่วงรังษี ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ และละทิ้งหน้าที่ “ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 66 ในขณะที่
นายศักดาฯดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองภูเก็ต ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีสำนักงานคดีอาญาตลิ่งชัน และ ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
และต่อมาได้มีการพิจารณาของคณะกรรมการอัยการ มีมติให้ นายศักดา ช่วงรังษี เลื่อนการแต่งตั้งขึ้นเป็นรองอัยการสูงสุด ซึ่งเดิมจะมีการแต่งตั้งกันในเดือนสิงหาคม 2565 แต่ได้มีการเลื่อนตลอดมา
และในการสอบวินัยนั้น นายศักดา ช่วงรังษี ได้เสนอข้อมูล ทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสาร อันระบุได้ว่า “ นายศักดา ช่วงรังษี ได้ไปปฏิบัติราช ณ สำนักงานต่างๆทั้งสามแห่ง รวบรวมเสนอคณะกรรมการสอบสวน เป็นเอกสารจำนวนมากกว่า 1,000 แผ่น แต่ก็ไม่ได้รับการตรวจสอบและพิจารณาหลักฐานดังกล่าว รวมทั้งไม่ยอมรับฟังพยานบุคคล และพยานเอกสารตามที่เสนอไป
ต่อมา คณะกรรมการสอบสวน ได้ชี้มูลความผิดในเรื่องดังกล่าวว่า นายศักดา ช่วงรังษี ขณะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีอัยการปกครอง สำนักงานคดีปกครองภูเก็ต มีมูลอันควรสงสัยว่าไม่ได้ไปปฏิบัติราชการพร้อมทั้งอ้างคำสั่งคณะกรรมการอัยการที่ 5/2556 เรื่องลงโทษข้าราชการอัยการ ซึ่งได้มีกรรมการอัยการชั้นผู้ใหญ่หลายคนได้พูดในที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ ในวันที่ 12 กันยายน 2565 ว่าตามคำสั่งดังกล่าว รูปเรื่องข้อเท็จจริงไม่ตรงกับกรณีของนายศักดา ช่วงรังษี แต่อย่างใด
ต่อมาคณะกรรมการอัยการได้ มีมติเอกฉันท์ ให้นายศักดา ช่วงรังษี ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรองอัยการสูงสุด
4.นายศักดา ช่วงรังษี เห็นว่ากระบวนการสอบสวนที่ล่าช้า การไม่รับฟังพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล และเอกสารอย่างครบถ้วน ของคณะกรรมการสอบสวน อาจเป็นเงื่อนไขให้ไม่ได้รับการพิจารณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุดได้ เนื่องจากจะมีการเสนอความเห็นไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะองคมนตรี ในเวลาโปรดเกล้าฯว่า
“ เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างการถูกตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อให้ดูเสมือนหนึ่งว่า มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุดได้”
ทั้งนี้ ดร.เกษม ศุภสิทธิ์ ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว
ต่อ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ให้ช่วยพิจารณาให้ความเป็นธรรมในประเด็นดังกล่าว และได้มีการบรรจุวาระให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว