ฝ่ายค้านงัดเอกสารลับอัยการสูงสุด ซัดนายกฯ ปมเหมืองทองอัครา

21 ก.ค. 2565 | 08:11 น.

อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดุเดือด หลังฝ่ายค้านงัดเอกสารลับอัยการสูงสุด ซัดนายกฯ ปมเหมืองทองอัครา ชี้มีทางออกในการแก้ปัญหา แต่นายกฯ ยังไม่ทำ เพื่อป้องกันความเสียหาย รับการประชุมครม.ครั้งนี้หากนายกฯ นั่งหัวโต๊ะเจอฟ้องดำเนินคดีทั้งครม.

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประเด็นเหมืองทองอัครา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดินกระทำความผิด ใช้มาตรา 44 และมติครม. ออกคำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำจนทำให้เกิดความเสียหาย

 

รวมทั้งมีพฤติกรรมจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้จะมีหน่วยงานสำคัญเตือนหลายรอบ หลายครั้ง แต่นายกฯ ก็ไม่ได้เร่งรีบระงับยับยั้งป้องกันความเสียหายในทันที และยังมีพฤติกรรมเบียดบังนำงบประมาณแผ่นดินและผืนแผ่นดินของประเทศไปเจรจาแลกเปลี่ยนกับบริษัทเอกชนต่างชาติ

 

เพื่อให้ตนเองพ้นจากการรับผิดทางกฎหมาย เข้าข่ายกระทำผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และกฎหมายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นผู้ได้รับประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อมจากการไม่เร่งรีบและชักช้าในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการออกคำสั่งที่ 72/2559 ถือเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมาตรฐานทางจริยธรรม

น.ส.จิราพร กล่าวว่า แม้เรื่องเหมืองทองอัคราจะถูกนำมาอภิปรายในสภาไปแล้ว แต่จำเป็นต้องเอามาอภิปรายอีกครั้ง เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด โดยมีเอกสารทางราชการ และเอกสารระหว่างประเทศ ซึ่งมีเอกสารลับ และลับที่สุด รวมถึงเอกสารชั้นความเร็วด่วน และด่วนที่สุดจำนวนมาก 

 

โดยจะคัดเอกสารชิ้นใหม่ที่ไม่เคยเปิดเผยมามาก่อนแสดงในรัฐสภา เป็นเอกสารลับถูกร่างขึ้นโดยสำนักงงานอัยการสูงสุด ความยาว 5 หน้า ข้อความตามเอกสารได้ถูกนำส่งไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคศช. และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ประเทศไทยถูกฟ้องร้องจากการใช้มาตรา 44

 

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย

 

เรื่องแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด กับพวก และราชอาณาจักรไทย โดยสำนักอัยการสูงสุดได้เสนอให้ยกเลิกการใช้มาตรา 44 และคืนสิทธิให้กับเหมืองทองอัครา พร้อมการชดเชย

ทั้งนี้ได้ระบุว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา และคณะทำงานชุดต่าง ๆ จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 

 

ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

 

ขณะที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ระดับโลหะหนักและสารเคมีที่ใช้จากการตรวจตัวอย่างชีวภาพซึ่งเกินกว่าค่าอ้างอิง เกิดจากการปนเปื้อนจากเหมืองทองคำของบริษัท อัครา ซึ่งปรากฎว่าข้อเท็จจริงในเอกสารของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นข้อเท็จจริง

 

สอดคล้องกับหนังสือของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รายงานสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต ไปยังครม. เมือวันที่ 29 ตุลาคม 2562

 

ระบุว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ แสดงว่า นับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2558 ที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้ 4 กระทรวงตรวจสอบปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากกรณีนี้จนถึงวันที่บริษัท คิงส์เกต ตัดสินใจฟ้องร้องประเทศไทย ผ่านไป 4 ปีรัฐบาลก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมาสนับสนุนการใช้มาตรา 44

 

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ที่น่าอดสูใจที่สุดคือหนังสือของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลอับจนหนทางถึงขนาดที่ว่า มีความคิดที่จะสร้างหลักฐานเท็จเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น ทำให้ที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยเตือนว่า จะเป็นอันตรายมาก เพราะบริษัท คิงส์เกต จะอ้างว่า รัฐบาลพยายามสร้างความเดือดร้อนเพิ่มขึ้น และเป้นการขับขวางการพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ

 

“เท่ากับว่าพล.อ.ประยุทธ์ รู้อยู่แก่ใจ และเล็งเห็นผลได้ว่าเมื่อเรื่องเหมืองทองอัคราเข้าสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการ ไทยย่อมเป็นฝ่ายแพ้คดี และจะต้องชำระค่าเสียหาย คิดเป็นเงินอย่างน้อย 720 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 3 หมื่นล้านบาทให้กับบริษัท คิงส์เกต”

 

อย่างไรก็ตามจากเอกสารของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาโดยการคืนสิทธิให้กับผู้ประกอบการมี 2 แนวทางเลือก

 

แนวทางที่ 1 ให้แก้ปัญหาโดยอาศัยข้อกำหนดที่ระบุไว้ เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ แต่ก็มีกระบวนการยุ่งยาก ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งใช้เวลานาน อาจไม่ทันท้วงที อาจทำให้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้น หากเลือกแนวทางนี้

 

แนวทางที่ 2 สำนักงานอัยการสูงสุด เสนอให้ยกเลิกคำสั่งที่ 72/2559 โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ซึ่งสามารถทำได้โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ทั้งนี้ในช่วงท้ายของเอกสารได้เสนอให้เลือกใช้แนวทางที่ 2 ในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ไม่รู้ว่า นายกฯ ได้รับทราบหนังสือฉบับนี้แล้วหรือไม่ทั้งที่หนังสือนี้ผ่านมาแล้ว 4 ปี 6 เดือน

 

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย

 

“พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาแล้ว 8 ปี แต่ขออยู่ต่ออีก 4 ปี และต้องการอยู่ต่อเรื่อย ๆ เพราะต้องการชำระสะสาง ปกปิด หรือทำให้เรื่องเหมืองทองอัคราได้สมประโยชน์กับอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิดใช่หรือไม่ อย่าคิดว่ามาตรา 44 จะคุ้มครองท่าน เพราะในคำสั่งบอกการใช้มาตรา 44 ต้องสุจริต มั่นใจว่าหากกฎหมายเป็นกฎหมายเมื่อพยานหลักฐานที่มีอยู่ เชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีคำสั่งสอบสวนคำสั่งนี้”

 

น.ส.จิราพร กล่าวว่า หลังจากนี้จะไปยื่น ป.ป.ช. ฟ้องเอาผิดหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะที่มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักการรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อได้รับฟังและรับทราบถึงกรณีนี้มาโดยตลอด หากวันนี้ครม.ทราบถึงความผิดของพล.อ.ประยุทธ์ แล้วสนับสนุน ในการประชุมครม.สัปดาห์หน้าพล.อ.ประยุทธ์ ยังนั่งหัวโต๊ะการประชุมครม. จะยื่นฟ้องดำเนินคดีทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และครม.ทั้งหมด