“อุตตม”เปิดแผน กองทุนสร้างอนาคตไทย 3 แสนล้าน

31 ส.ค. 2565 | 02:10 น.

อุตตม เปิดแผนกองทุนสร้างอนาคตไทย3 แสนล้าน ตอบสองโจทย์เร่งรัด -แก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญ และวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่ ชี้ประเทศจะเดินหน้าทำทีละอย่างไม่ได้

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ฐานทอล์ค” ทางทีวีเนชั่น ช่อง 22  สะท้อนปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ-สังคมชาติ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤติประเทศ  ชง “กองทุนสร้างอนาคตไทย 3 แสนล้าน” ตอบโจทย์ปัญหาเร่งด่วน และวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่


ศก.ภายใน-ภายนอกยังสุ่มเสี่ยง

นายอุตตม ให้มุมมองถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคตว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงมาก เพราะเศรษฐกิจโลกแนวโน้มไม่แจ่มใส  ไม่ว่า สหรัฐ ยุโรป จีน วันนี้แนวโน้มการฟื้นตัวชะลอ  ตัวเลขกำลังซื้อผู้บริโภค แม้ดูว่ามี แต่ชะลอตัว สหรัฐฯ มีปัญหาเงินเฟ้อยังส่งผลข้างเคียงกับการเติบโตของเศรษฐกิจ  ยุโรปค่าไฟฟ้าที่เยอรมันขึ้น 10 เท่า  


ขณะที่สถานการณ์ภายในก็เป็นความท้าทาย  ประเทศไทยพึ่ง 2 อย่าง คือ  1. การท่องเที่ยว  แม้นักท่องเที่ยว เข้ามาแต่ไม่เท่าเดิม  2.การส่งออกเพิ่ม แต่อาจต้องดูว่าส่วนไหนที่เพิ่ม และเพิ่มด้วยราคา ซึ่งวันนี้ราคาเพิ่มหมด ทั่วโลกก็ราคาเพิ่ม หรือตัวปริมาณเพิ่มแค่ไหน ต้องดูเป็นแซคเตอร์

 

เศรษฐกิจภายในมีสภาพคล่อง แต่ไม่ได้กระจายทั่ว  ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ผู้ทำมาหากิน ที่เป็นบุคคล เป็นรายย่อย เป็นเอสเอ็มอี ที่จริงกลุ่มนี้เป็นฐานใหญ่ วันนี้มีความบอบช้ำพอสมควร 


ดังนั้นเศรษฐกิจภายนอก และเศรษฐกิจภายใน อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงมาก แนวโน้มจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าภายนอกจะฟื้นตัวหรือไม่ แต่แนวโน้มยังไม่ชัดว่าจะฟื้น  ขณะที่เศรษฐกิจภายในเราจะทำอย่างไร จะรอพึ่งส่งออกและท่องเที่ยวพอหรือ  ยังมีภารกิจเยี่ยวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ต้องดูแลให้เศรษฐกิจให้ได้รับการขับเคลื่อนไปด้วยการลงทุนใหม่ ปัจจัยเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นเศรษฐกิจไทยจึงจะฟื้นตัวอย่างจริงจังและทันเวลา

“อุตตม”เปิดแผน  กองทุนสร้างอนาคตไทย 3 แสนล้าน

เยียวยา-ฟื้นฟู ต้องทำคู่ขนาน


นายอุตตม กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลกู้เงินมาเยอะแต่เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไม่ได้ส่วนหนึ่งการกู้เงินมาใช้ ขึ้นอยู่กับว่าไปใช้ทำอะไร แน่นอนเราต้องใช้เยียวยาคน  อีกส่วนหนึ่งต้องใช้ในการฟื้นฟู  ขับเคลื่อนการลงทุน ให้ถึงฐานรากได้มากน้อยแค่ไหน  การเยียวยาและฟื้นฟูต้องทำคู่ขนาน 


โดยเฉพาะการเยี่ยวยา ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และภาวะในปัจจุบัน มาตรการเดิมๆ ใช้ได้ แต่วันนี้สอดคล้องแค่ไหนต้องตั้งคำถาม จำเป็นต้องประเมินว่า กลุ่มไหนที่ควรลำดับความช่วยเหลือด้วยมาตรการอย่างไร  ซึ่งเดิมการช่วยเหลือต้องกว้าง ต้องให้อยู่ได้ แต่วันนี้แต่ละกลุ่มเผชิญปัญหาต่างกัน ขณะที่งบประมาณมีจำกัด ต้องดูว่าแต่ละกลุ่มต้องมีมาตรการอย่างไร เพื่อใช้งบประมาณโฟกัสเฉพาะกลุ่ม
กลุ่มที่ต้องเข้าไปเยียวยาเป็นกรณีพิเศษในสถานการณ์ปัจจุบัน มี 3 กลุ่ม

 

กลุ่มแรก คือ กลุ่มบุคคล ประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น  ส่วนกลุ่ม 2 และกลุ่ม3  เป็นกลุ่มผู้ประกอบการและบุคคลธรรมดา  เช่น ผู้ค้าแผงลอย   กลุ่มคนตัวเล็ก  กลุ่มเอสเอ็มอี


 

“อุตตม”เปิดแผน  กองทุนสร้างอนาคตไทย 3 แสนล้าน

แผนกองทุนสร้างอนาคตไทย

หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า จากโจทย์สำคัญดังกล่าว  พรรคสร้างอนาคตไทย  มองว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเจอความสุ่มเสี่ยง ท้าทาย โจทย์หลักของประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคมคือ การเร่งรัดแก้ไขปัญหา เร่งด่วนที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลก หรือโควิด-19  ที่ยังทิ้งผลกระทบไว้  พูดง่ายๆ คือ หนึ่ง ให้ประเทศออกมาจากหล่มที่ติดอยู่ซึ่งต้องเร่งรัด  และมีโจทย์ที่สองที่ต้องทำคือ การเร่งวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่ ต้องไปด้วยกัน 


 พรรคสร้างอนาคตไทยเสนอว่า เครื่องมือหลักที่เราจะทำคือ “กองทุนสร้างอนาคตไทย” ที่จะตอบสองโจทย์เร่งรัดและแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญ เพราะประเทศจะเดินหน้าทำทีละอย่างไม่ได้ ต้องมีความยึดโยง โดยการแก้ไขปัญหา ภาคแรกปัญหาเร่งรัด หนีไม่พ้นเรื่องภาระหนี้สิน ทั้งบุคคลธรรมดา และภาคธุรกิจทั้งรายเล็ก รายกลาง  จะปลดแอกหนี้สินอย่างไรที่มันหนักเกินไป  


สาเหตุที่ต้องใช้กองทุนฯเพราะต้องปรับโครงสร้างหนี้ แต่ไม่ใช่พักดอกพักต้น เพราะเดี๋ยวก็วนกลับมา กองทุนสร้างอนาคตไทยช่วยในการปรับโครงสร้างหนี้ แล้วก็เติมทุนใหม่เพื่อให้ขับเคลื่อนได้ เหมือนล้มแล้วให้เขาลุกขึ้นมาได้ แต่จะลุกอย่างไรให้มั่นคง ต้องมีเงินใหม่ กองทุนจะทำหน้าที่นี้ให้ 

 

การที่จะให้ผู้ประกอบการยืนได้อย่างมั่นคง คือ การเติม การเสริมสร้างขีดความสามารถ ทักษะในการทำมาหากินให้เขา ทำของเดิมอย่างไรให้เจ๋งยิ่งขึ้น หรือทำของใหม่เลย คนไทยมีความฝันดีๆ เยอะโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องมีทุน เราต้องตอบโจทย์นั้นว่า กองทุนสร้างอนาคตไทยแก้หนี้แล้วช่วยในการเปิดโอกาสใหม่ แต่ต้องมีการช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษา ไม่เช่นนั้นเมื่อปรับโครงสร้างแล้วหนี้ก็จะกลับมาใหม่ 
ต้องใช้กลไกในการเสริมความรู้ต้องภาครัฐนำ ภาคเอกชนมาจับมือ และภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งรัฐมีกลไกมากแต่ต้องบูรณาการให้ได้และใครจะแบ่งหน้าที่กันในการเป็นพี่เลี้ยงคนตัวเล็ก ต้องมีระบบพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะแนวทางปรับปรุงโปรดักส์ให้เข้มแข็ง 


เหมือน "หมอคลัง"ที่เคยทำมาก่อน โดยใช้กลไกของธนาคารของรัฐ อย่าง ออมสิน  ธ.ก.ส. เอสเอ็มอีแบงก์  เริ่มจากปรับโครงสร้างหนี้ จะดูเรื่องทุนใหม่ให้แต่เข้าโครงการเสริมศักยภาพด้วย และหนี้ต้องวางบนโต๊ะให้เห็นมีหนี้ในระบบ นอกระบบ และหนี้ครัวเรือนที่ปนกันอยู่ เอามาวางแล้วช่วยเขาอย่างครบวงจร แค่พูดแก้หนี้หรือเติมเงิน เติมองค์ความรู้ เติมโอกาส

“อุตตม”เปิดแผน  กองทุนสร้างอนาคตไทย 3 แสนล้าน


เร่งแก้-วางรากฐานศก.ใหม่

นายอุตตม อธิบายถึงกองทุนสร้างอนาคตไทย 3 แสนล้านบาท ว่า ก้อนแรกจำนวน 1 แสนล้านบาท ใช้ในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาเร่งด่วนก่อน ปรับโครงสร้างหนี้ เติมทุน  ส่วนที่หลือเล็งโจทย์ที่สอง คือ เร่งวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่ เช่น ใช้ทุนนี้เพื่อการลงทุนเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนทั่วประเทศ เพราะวันนี้ถ้าจะพลิกเศรษฐกิจต้องเริ่มจากฐานรากทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาได้ก้อน สำหรับอนาคตประเทศไทยสามารถอยู่ในโลกใหม่ชุมชนต้องเข้มแข็ง คนในชุมชนไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ หรือ หัวเมืองใหญ่ 


ส่วนการลงทุน ยกตัวอย่าง ถ้าเราสร้างเครือข่ายสถาบันการเงินระดับชุมชน และดูแลการพัฒนาไปพร้อมกัน กระจายอยู่ตามชุมนุมให้ช่วยกันดูแล นอกจากนั้น กองทุนนี้ส่วนหนึ่งจะสร้างระบบการร่วมทุนกับกลุ่มสตาร์ทอัพเดียวกันต้องมีเครือข่ายสนับสนุนสตาร์ทอัพตั้งแต่กู้ หรือ ส่วนหนึ่งสร้างระบบร่วมทุน คือ ส่วนทุนไปร่วมด้วย เป็นการสร้างระบบสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้คนไทยสร้างธุรกิจใหม่ทั่วประเทศ กู้ยืมได้ ส่วนหนึ่งทำเป็นทุนให้ครบวงจร การกู้ยืมใช้กลกธนาคารโดยเฉพาะธนาคารของรัฐ


ทบทวนงบฯแทนกู้เงิน

กองทุนสร้างอนาคตไทยจะไม่ให้เป็นภาระของการกู้เงินงบประมาณรัฐ เราไม่กู้ แต่เราทบทวนงบประมาณ มีเหตุผลเพราะวันนี้ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ การทำงบประมาณต้องสนับสนุนสอดรับกับการบริหารประเทศในภาวะวิกฤติ  ในการนำพารากฐานประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ก้าวทันโลก กระบวนการงบประมาณ น่าจะมาทบทวนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน


ในแง่งบประมาณไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 20 ต้องเป็นงบลงทุน ถ้า 3 ล้านล้านกว่าเท่ากับ 6 แสนล้าน ไม่ต้องใช้หมด เราอาจทำโดยการออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณซึ่งเคยทำมาแล้ว ส่วนหนึ่งเราสามารถใช้กลไกสถาบันการเงินของรัฐ ถ้าเราเติมเงินให้เขา มีความสามารถไปช่วยปล่อยสินเชื่อได้อีก 10 เท่า ซึ่งเราต้องคุยกับสถาบันการเงินที่จะทำงานคือ รัฐบาล ว่าจะสนับสนุนอย่างไร  


ประการแรก เกณฑ์ต้องสอดรับ อันไหนต้องทบทวน ต้องปรับ เพราะไม่ใช่สถานการณ์ธรรมดา ประการที่สองใช้กลไกที่มี เรียกว่า บัญชีพีเอสเอเพื่อสังคม เป็นการใช้งบประมาณแต่เราปรับงบประมาณเพื่อเข้าไปสนับสนุน