รัฐบาลแจงเหตุยังไม่ยกเลิก ‘พรก.ฉุกเฉิน’ ต้องประเมินการระบาดของโควิด

22 ส.ค. 2565 | 02:50 น.

โฆษกรัฐบาลย้ำยกเลิก‘พรก.ฉุกเฉิน’ ศบค.ประเมินสถานการณ์-ความเสี่ยง ช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวัง

วันที่ 22 ส.ค.65 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565

 

โดยที่ประชุมยังไม่ได้มีการพิจารณาการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย ศบค. จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งก่อน เนื่องจากยังเหลือระยะเวลาการประกาศใช้จนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ 
 

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการประกาศใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้มุ่งหวังการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อประเด็นอื่นแต่อย่างใด

นายอนุชา บูรพชัยศรี

รวมทั้งเพื่อเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยจากโควิด-19 โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากนานาประเทศ ซึ่งสนใจที่จะมาศึกษาแนวทางการดำเนินงานจากประเทศไทยด้วยซ้ำไป


นายอนุชา กล่าวว่า แม้ไม่ได้มีการหารือเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ที่ประชุม ศบค. ได้หารือถึงความคืบหน้าในการจัดทำกรอบนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และห้วงเวลา ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post – Pandemic เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด -19 หรือเป็นแผนการปรับลดระดับสถานการณ์โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

 

ภายใต้หลักการ “เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ” โดย ศบค. ได้พิจารณาทั้งการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง ด้านการป้องกัน ซึ่งภาพรวมประชาชนในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 90 มีภูมิคุ้มกัน ผู้ฉีดวัคซีน 3 เข็มไม่ว่าสูตรใดสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 90

 

หลังจากนี้ คาดการณ์ว่าโควิด-19 จะมีลักษณะการเกิดโรคในประชากรซึ่งจะคล้ายคลึงกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี  รวมทั้งด้านการรักษาอาการผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่แนวโน้มไม่รุนแรง ยกเว้นในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และกลุ่ม 608 

“ก่อนถึงวันที่ 1 ตุลาคม นี้ ศบค. จะมีการประเมินสถานการณ์ และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังจากการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวัง ว่าจะต้องคงกลไกในการควบคุมและบริหารจัดการอะไรไว้บ้าง

 

ต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดวิกฤตและความเสียหายในมิติต่าง ๆ เกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นต้องแก้ไขได้ทันท่วงที  เน้นมีแผนรองรับที่ดี และวิกฤตความเสียหายต้องไม่เกิดขึ้นอีก จึงขอให้รอผลการประชุม ศบค. ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้” นายอนุชา กล่าว