สงครามจ่ออีกหลายคู่ จี้รัฐ-เอกชนรับมือ ขั้น "สงครามโลก"

01 พ.ค. 2567 | 09:01 น.

สงครามอิสราเอล-อิหร่านที่มีการยิงขีปนาวุธตอบโต้ มุ่งเป้าโจมตีกันโดยตรงเป็นครั้งแรก เวลานี้แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะยังสงวนท่าทีที่จะตอบโต้กันในยกต่อไป แต่พัฒนาการของสงครามยังคงเปราะบาง และมีความเสี่ยงที่จะปะทุความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ดีทั้งอิสราเอลและอิหร่านถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง หากสงครามขยายวง ย่อมส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากก็น้อย “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อสะท้อนมุมมองทิศทางแนวโน้มของสถานการณ์ พร้อมคำแนะนำในการตั้งรับของภาครัฐและเอกชนไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าวว่า เวลานี้พื้นที่ของสงครามในตะวันออกกลางยังอยู่ในบริเวณประเทศอิสราเอล ดินแดนปาเลสไตน์ เลบานอน ซีเรีย อิรัก เยเมน แต่ความเข้มข้นของการสู้รบจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ยังขึ้นกับหลายประเทศที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง ที่มีความพยายามไม่ให้สถานการณ์บานปลาย อย่างไรก็ดีการโจมตีจากกองกำลังที่อิหร่านให้การสนับสนุนหลายกลุ่มมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กระแสต้านสงครามแรง

ขณะเดียวกันนอกพื้นที่ตะวันออกกลาง จะเกิดความไม่พอใจจากประเทศมุสลิมทั่วโลกต่ออิสราเอล ที่ยังไม่หยุดยิง และยังรุกคืบเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดวิกฤตมนุษยธรรม เช่น เกิดการประท้วง การแบนไม่ซื้อสินค้าจากชาติตะวันตกที่ให้การสนับสนุนอิสราเอล เป็นต้น

จากผลกระทบสงครามอิสราเอล-อิหร่าน หากปะทุขึ้นอีก กรณีมีความยืดเยื้อรุนแรง และขยายวงกว้างจะส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง, ราคาทองคำในตลาดโลกอาจจะปรับตัวสูงขึ้นถึง 2,700-3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย, ค่าระวางเรือจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 150-200% จากราคานํ้ามันดิบอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 120-150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซที่เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งนํ้ามันของโลก, ค่าขนส่งและค่าประกันภัยทางเรือจะปรับตัวสูงขึ้น 100%

สงครามจ่ออีกหลายคู่ จี้รัฐ-เอกชนรับมือ ขั้น \"สงครามโลก\"

“ในปี 2024 ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับแรก รองลงมาคือ สงครามเศรษฐกิจทุกมิติของจีนกับสหรัฐฯ ตามด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ซึ่งในอนาคตความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะรุนแรงเพิ่มขึ้นในอีกหลายพื้นที่ ๆ รอปะทุ จากปัญหาในทะเลจีนใต้ ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และไต้หวัน-จีน”

หลากปัจจัยชี้ชัดส่อยื้อ

ต่อคำถามที่ว่า สงครามในตะวันออกกลางครั้งนี้จะยืดเยื้อ รุนแรงหรืออ่อนตัวลง ขึ้นกับปัจจัยใดบ้าง รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ ชี้ว่า ขึ้นกับ หลายปัจจัยคือ 1.บทบาทและนโยบายของสหรัฐฯ อังกฤษ และยุโรปในตะวันออกกลาง ที่ยังให้การสนับสนุนอิสราเอลเต็มรูปแบบทั้งเงินช่วยเหลือ อาวุธ และการวีโต้ในที่ประชุมยูเอ็น ซึ่งสถานะของสหรัฐฯ อังกฤษ และยุโรปจะยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น

2.อิสราเอลยังทำสงครามในฉนวนกาซา และในดินแดนปาเลสไตน์อย่างเข้มข้น และ 3.ข้อตกลงการหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ยังไม่บรรจุข้อตกลง

ส่วนสงครามอิสราเอล-อิหร่าน มองสถานการณ์อาจยื้อเยื้อแต่ไม่รุนแรง เนื่องจาก 1. ประชาชนในอิหร่าน ไม่เห็นกับการต่อสู้เต็มรูปแบบ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอิหร่านที่ไม่ดีอยู่แล้วจะยิ่งแย่ลงไปอีก ขณะที่เงินเฟ้ออิหร่าน 45% และการถูกควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และยุโรป กระทบต่อการส่งออก นํ้ามันและการซื้อสินค้าจำเป็น ส่งผลให้ 6 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินอิหร่าน (rial) อ่อนไป 30%

 2.นายกฯ อิสราเอลถูกกดดันจากประชาชนเช่นกัน ที่ยังไม่สามารถนำตัวประกันออกมาได้ ในขณะเดียวกันประชาชนอยู่ด้วยความหวาดระแวง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ 3.ประเทศ G7 พยายามที่จะให้การต่อสู้ลดลง

ค้าไทย-ค้าโลกน่าห่วง

 “ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน IMF ยังไม่ปรับตัวเลขเศรษฐกิจโลกปี 2024 ลดลง ยังอยู่ที่เดิม 3.2% (เท่าเดิม 3 ปีติดต่อกัน 2023 2024 และ 2025) แต่ IMF ให้จับตาปัจจัยตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิดที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ในมุมมองของผม ถ้าสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก หายไป 0.5-1% นั่นคือ ขยายตัวเหลือ 3.0-3.1% ซึ่งเกิดจากการขนส่งในคลองสุเอซ ที่ลดลงไป 50% รวมไปถึงห่วงโซ่โลจิสติกส์ของสินค้ามีปัญหา ทำให้ค้าโลกปี 2024 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% อาจจะขยายตัวเท่ากับปี 2023 ที่ขยายตัวเพียง 1.2% ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออกของไทยที่จะขยายตัวลดลงด้วย”

เตรียมแผนขั้นเกิดสงครามโลก

ภายใต้ทิศทางแนวโน้มสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่กล่าวมาข้างต้น มีข้อแนะนำภาครัฐและภาคเอกชนในการตั้งรับ และเดินหน้าเชิงรุกดังนี้ 1.เตรียมหาตลาดส่งออกชดเชยตะวันออกกลางที่จะขยายตัวลดลง 2.เตรียมแผน กรณีราคานํ้ามันปรับสูงเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

3.เตรียมแผน การผลิต ส่งออก และบริโภคภายในประเทศ ภายใต้เกิดสงครามโลก โดยบริหารอาหาร วัตถุดิบการผลิต และสินค้าจำเป็นต่อการดำชีพให้พร้อม และ 4.เตรียมแผนบริหารการขนส่งสินค้าและต้นทุนค่าขนส่งของสินค้าไทยที่เพิ่มสูงขึ้น