แฉประชุมสภา 15 ส.ค. ล่มอีก เหตุมีคำสั่งให้ส.ส.-ส.ว.ลงชื่อแล้วกลับบ้านได้

14 ส.ค. 2565 | 11:03 น.

“พีระพันธุ์”ยกข้อกฎหมายอธิบายวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของ “ประยุทธ์”ต้องรอศาลรธน.วินิจฉัย ชี้เป็นเหยื่ออันโอชะสำหรับนักเล่นเกมที่ตีความเพื่อประโยชน์ตนเอง แฉประชุมสภา 15 ส.ค. “ล่มอีก” เหตุมีคำสั่งแล้วให้บรรดา ส.ส.-ส.ว.ในอาณัติลงชื่อแล้วกลับบ้านได้

วันนี้ (14 ส.ค.65) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นประเด็นด้านกฎหมาย โดยในเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า 


 เกมวาระ 8 ปี นายกฯ ตามหลักกฎหมายแล้ว เรื่องวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรี มีหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่แต่เพียงว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่” ปัญหาคือผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นนับหนึ่งของ 8 ปีไว้ว่าให้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่เมื่อใด ต่างจากกรณี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ “วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี”

จึงเป็นเหยื่ออันโอชะสำหรับนักเล่นเกมที่จะตีความมาตรา 158 วรรคสี่ให้เป็นไปอย่างที่ตนคิด เพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชน จะครบ 8 ปีตอนไหน ใครจะมาเป็นนายกฯ ไม่มีประโยชน์อะไรกับบ้านเมืองและประชาชนเลย หากการเมืองเต็มไปด้วยนักเล่นเกมเช่นในปัจจุบัน


รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายเหมือนกฎหมายและพระราชบัญญัติอื่นๆ เพียงแต่รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงต้องตีความตามหลักการตีความกฎหมาย และต้องตีความโดยเคร่งครัด นั่นคือ ต้องตีความตามตัวอักษรเป็นอันดับแรก 

แต่หากตัวอักษรที่เขียนไว้ไม่มีความชัดเจนอีก ก็ต้องตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างเป็นอันดับต่อไป นั่นคือ เหตุผลของผู้ร่างตัวบทกฎหมายนั้นขึ้นมา ถ้าหาเหตุผลเจตนารมณ์ของผู้ร่างไม่ได้ ก็ต้องตีความตามขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งปกติไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะการจะยกร่างกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญและเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจะเขียนขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไปและไม่มีเหตุผลมาก่อนคงเป็นไปไม่ได้

 

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ มีหนังสือคู่มืออธิบายเหตุผลและเจตนารมณ์ของแต่ละมาตราไว้ แต่พอมาถึงเรื่อง 8 ปี ในมาตรา 158 กลับเขียนอธิบายไว้แบบเดียวกับเนื้อความในมาตรา 158 โดยไม่ได้บอกว่านับหนึ่งจากไหนและเมื่อใด เลยไม่รู้ว่าจะเขียนขึ้นมาทำไมให้ยุ่งเล่น


ล่าสุดมีการเปิด “บันทึกการประชุม” ที่มีการบันทึกการสนทนาของผู้ร่างเกี่ยวกับการนับหนึ่งของระยะเวลานายกฯ 8 ปีไว้ แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากผู้ร่างว่า ที่บันทึกไว้นั้นไม่ใช่เจตนารมณ์ เป็นเพียงการพูดกันเฉยๆ หลายคนถามผมว่า แล้วจะพูดกันไปทำไมถ้าไม่มีเหตุผลที่มาที่ไป ผมคงตอบไม่ได้เพราะผมไม่ใช่ผู้ร่าง

 

ที่แน่ ๆ  คือ ยิ่งเพิ่มความสับสนและความงงให้กับสังคม และเป็นเหยื่ออันโอชะสำหรับนักเล่นเกมฝ่ายไม่เอานายกฯ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปว่า 8 ปี จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่นายกฯ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 


จริงๆ ตามกฎหมายแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น โดยหลักการแล้วคณะรัฐมนตรีชุด คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 แล้ว แต่เผอิญมีมาตรา 264 ในบทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะเข้ารับหน้าที่ 


ดังนั้น จึงทำให้คณะรัฐมนตรีชุด คสช. เป็นคณะรัฐมนตรีต่อไป และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปเช่นกัน และตามความหมายของกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 นั้น คณะรัฐมนตรีชุด คสช. เปลี่ยนสภาพมาเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 แล้ว แต่จะเริ่มนับ 8 ปี จากวันที่ 24 สิงหาคม 2557 หรือจากวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ


เรื่องนายกฯ 8 ปี ตามมาตรา 158 วรรคสี่นี้ ยังเป็นเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนเรื่องที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสองว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการมาตรา 159 นั้น เป็นวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นคนละเรื่องกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามมาตรา 158 วรรคสี่ 


โดยเฉพาะเมื่อมีบทเฉพาะกาล มาตรา 264 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารแผ่นดินอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป วิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 และมาตรา 159 จึงถูกยกเว้นไม่ใช้กับคณะรัฐมนตรีชุด คสช. ที่เป็นคณะรัฐมนตรีที่บริหารแผ่นดินอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ 


ที่สำคัญรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้เขียนไว้ว่า การนับระยะเวลา 8 ปี ของการเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ให้เริ่มนับจากการได้รับเลือกจากรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือให้นับจากเมื่อใด ทุกคำตอบจึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ


นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ ยังได้กล่าวถึงประเด็นการพิจารณาสูตรการคำนวณบัญชีรายชื่อ ที่เป็นข้อถกเถียง และทำให้เกิดเหตุสภาล่มในช่วงที่ผ่านมา  เรื่อง เกมหาร 100  หรือ 500 ว่า 

 

เรื่องหาร 100 หาร 500 อันสนุกสนานของนักเล่นเกมที่สถานะล่าสุดคิดกันว่า ล้มการประชุมสภาได้แล้วก็จะผ่านฉลุยได้ตามที่วางหมากเกมไว้ ซึ่งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้จะมีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณากฎหมายลูกเรื่องนี้ให้เสร็จตามระยะเวลา 180 วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้อีกครั้ง แต่หัวหน้าทีมไม่สน สั่งลูกทีมนักเล่นเกมทั้งหลายแล้วว่าให้ไปลงชื่อแล้วไม่ต้องลงสนาม รอให้กรรมการเป่านกหวีดหมดเวลาตามกติกา


กติกา 180 วันนี้ เขาวางไว้เพื่อให้เร่งทำกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองให้เสร็จเร็วๆ แต่นักเล่นเกมกลับนำมาใช้เป็นเครื่องมือวางหมากเกม เรื่องวุ่นเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นเพียงเพราะนักเล่นเกมเกิดเปลี่ยนข้างมายิงประตูตัวเอง ก็เท่านั้น แต่สาเหตุเกิดเพราะอะไรต้องไปถามหัวหน้าทีมผู้คอยสั่งการ แบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า “ABUSE OF POWER” แปลเป็นไทยน่าจะเรียกว่า “ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง” 


เรื่องแบบนี้ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 149 ว่า “ผู้ใดเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ....”


มาตรา 149 ประมวลกฎหมายอาญานี้มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้ ส.ส. ซึ่งก็คือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของ ส.ส. ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2502

 

 63 ปีผ่านไป ความเสียหายจากการกระทำของ ส.ส. ที่ปัจจุบันทำตัวเป็นนักเล่นเกมไม่ได้มีเพียงแค่การเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเท่านั้น แต่มันขยายไปถึงการสั่งและการรับคำสั่งรวมทั้งการบงการทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ ส.ส. เหล่านี้กระทำการที่สร้างความเสียหายให้สังคมและบ้านเมืองด้วย

 

จึงน่าจะถึงเวลาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้บรรดานักเล่นเกม โดยเฉพาะจอมบงการที่มีการกระทำแบบ “ABUSE OF POWER” หรือการ “ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง” แบบนี้ ต้องมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาด้วย แม้ไม่มีเรื่องของการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดก็ตาม


 ย้อนกลับมาเรื่องหาร 100 หาร 500 ที่จะประชุมกันในวันที่ 15 สิงหาคมนี้อีกรอบหนึ่ง ก็น่าจะล่มอีก เท่าที่ทราบมีคำสั่งมาเรียบร้อยแล้วว่า ให้บรรดา ส.ส. และ ส.ว. นักเล่นเกมในอาณัติ ไปลงชื่อแล้วให้กลับบ้านได้ เพื่อใช้หลักเกณฑ์ของกฎหมายเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เป็นการครอบงำการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. ในอาณัติ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 114 และเป็นการผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง

 

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 132 (1) กำหนดไว้ว่าถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา 180 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131 ที่กำหนดที่มาไว้สองประการใน (1) และ (2) ซึ่งมาตรา 131 (1) เป็นร่างของคณะรัฐมนตรี ส่วนมาตรา 132 (2) เป็นร่างของ ส.ส.

 

ในขณะที่กรณีที่เป็นปัญหานี้มีทั้งร่างของคณะรัฐมนตรีและร่างของ ส.ส. รวมกันหลายฉบับ คือมีทั้งร่างตามมาตรา 131 (1) และ (2) แล้วร่างไหนจะถือเป็นร่างที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 132 (1)


บางคนบอกว่า ให้ไปดูข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 ที่กำหนดไว้ว่า ให้ถือเอาร่างที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่สองเป็นร่างที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งในกรณีนี้คือ ร่างของคณะรัฐมนตรี ประเด็นคือ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา รวมทั้งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ต้องเป็นเรื่องที่กำหนดหลักเกณฑ์เวิธีการประชุมและวิธีการทำงานของแต่ละสภาและของกรรมาธิการของแต่ละสภา มิใช่ให้กำหนดหลักเกณฑ์การตีความรัฐธรรมนูญ

 

การที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 กำหนดให้ถือเอาร่างที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่สองเป็นร่างที่ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีทำงานของที่ประชุมรัฐสภาหรือของกรรมาธิการของรัฐสภา หรือเป็นการตีความรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นอย่างแรกก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นอย่างหลังแล้ว ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 มีปัญหาต้องตึความอีกแน่นอน


  “หลังการประชุมรัฐสภาที่จะล่มอีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ การจะนำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้บังคับต่อไป คงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญอีกเรื่องหนึ่งแน่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นผู้ชี้ชะตาอนาคตประเทศตัวจริง!!!” นายพีระพันธุ์ ระบุ