23 ส.ค. 65 คิกออฟชี้ชะตา นายกฯ 8 ปี “บิ๊กตู่” 

14 ส.ค. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3808 ระหว่างวันที่ 14- 17 ส.ค.2565 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

 

*** อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 23 ส.ค.2565 ซึ่งมีความหมายในทางการเมือง เพราะเป็นวันที่บางฝ่ายมองว่า บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี หากนับตั้งแต่วันดำรงตำแหน่ง 24 ส.ค.2557 ตามรัฐธรรมนูญ 2557 และจะเป็นต่อไปไม่ได้อีก ต้องพ้นจากตำแหน่งไป ขณะที่บางฝ่ายมองว่าวาระ “นายกฯ 8 ปี” จะไปครบเอาวันที่ 8 มิ.ย.2570 หากยึดตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562 ความเห็นที่แตกต่างดังกล่าวขณะนี้ได้มีคนยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเบื้องต้นก่อนส่งเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยชี้ชะตา “บิ๊กตู่” ว่าจะยังได้ “ไปต่อ” หรือ “จบลงแค่นี้” สำหรับอนาคตทางการเมือง

 

*** คนแรกที่ยื่นเรื่องคือ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเกี่ยวการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ในคืนวันที่ 23 ส.ค.2565 นี้ขณะเดียวกัน “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ก็มีมติร่วมกันที่จะใช้ช่องทางของ “รัฐสภา” เข้าชื่อของส.ส. 1 ใน 10 หรือ 50 คน จากทั้งหมด 500 คน เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ  8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยจะยื่นต่อประธานรัฐสภา ในวันพุธที่ 17 ส.ค.2565 นี้

*** ท่ามกลางปมปัญหาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ยังไม่ไปถึงมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จู่ๆ ก็มีการเผยแพร่บันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 เมื่อวันศุกร์ ที่ 7 ก.ย. 2561 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 220 อาคารรัฐสภา 2 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 19 คน โผล่ออกมา เป็น กรธ.ชุดที่ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน สุพจน์ ไข่มุกด์ เป็นรองประธาน คนที่ 1 อภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นรองประธาน คนที่ 2 นรชิต สิงหเสนี เป็นโฆษกกรรมการ จุรี วิจิตรวาทการ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ภัทระ คำพิทักษ์ ประพันธ์ นัยโกวิท ฯลฯ เป็นกรรมการ โดยเป็นบันทึกมีการพูดถึงเจตนารมณ์เกี่ยวกับการกำหนดให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งได้เพียง 8 ปี

 

*** เนื้อหาบันทึกมีใจความว่า …รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้วางหลักการใหม่ในการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 154 โดยกําหนดหลักการให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น โดยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าว่า บุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคือบุคคลใด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่า ถ้าตน เลือกพรรคการเมืองใด ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี และเนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นกิจการของสภาผู้แทนราษฎรโดยแท้ จึงกําหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

*** นอกจากนี้ ได้กําหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลา 8 ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ตํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ของบุคคลดังกล่าวแล้วเกิน 8 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กําหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การนับระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตําแหน่ง จะไม่นํามานับรวมกับระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

 

*** ประธานกรรมการ (มีชัย ฤชุพันธุ์) กล่าวว่า ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับสามารถนับรวมระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดํารงตําแหน่ง นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีที่ดํารงตําแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

 

*** เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นําความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีตามธรรมนูญ 250 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมี ระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี

 

*** ทันทีที่มีการเผยแพร่บันทึกดังกล่าวออกมา ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ได้ออกมาชี้แจงทันทีว่า มีความพยายามของคนบางกลุ่มที่ต้องการกดดันหวังสร้างประเด็นให้นายกฯ โดยหยิบเอาบางช่วงบางตอนของเอกสารดังกล่าว ที่เป็นความเห็นของกรรมการเพียงไม่กี่คนมานำเสนอจนเกิดความสับสน ทั้ง ๆ ที่เอกสารนี้เป็นแค่บันทึกการประชุมหรือบันทึกการแสดงความเห็นของกรรมการ “แต่ไม่ใช่มติ” โดยหน้าปกเอกสารก็ระบุชัดเจนว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับรอง จึงไม่ควรนำมาใช้อ้างอิง และการประชุมในวันนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ประกาศใช้ไปแล้ว เพื่อจัดทำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในขั้นตอนถัดมา ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่ได้ระบุไว้ ที่ถูกต้องควรไปพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมูญปี 2560 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่มาของนายกฯ  และฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตีความกันไปตามความเห็นหรือความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่มีอำนาจหน้าที่หรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์หรือหลักกฎหมาย

 

*** ปม “นายกฯ 8 ปี” ระหว่างนี้ก็คงจะมีการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ออกมาเรื่อยๆ จนกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะมีคำวินิจฉัยออกมา ซึ่ง “นายกฯ” ก็เคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่า ขึ้นอยู่กับ “ศาลรัฐธรรมนูญ”จะวินิจฉัยและพร้อมรับคำตัดสิน...