เปิดตำนานคน ปชป.“แพแตก”ตั้งพรรคการเมืองใหม่

06 ส.ค. 2565 | 03:30 น.

เปิดตำนานคน ปชป.“แพแตก”ตั้งพรรคใหม่ : ...ยังไม่แน่ว่าจะมีใครจาก ปชป. ลาออกเพื่อไปอยู่พรรคใหม่ หรือ ก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาอีกหรือไม่

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้เห็นปรากฏการณ์ คนที่แยกตัวออกจาก “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) ไปก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่อีก 1 พรรคแล้ว นั่นคือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งได้จัดประชุมใหญ่และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตส.ส.พรรค ปชป. เป็นหัวหน้าพรรค และมี นายเอกนัฏ  พร้อมพันธุ์ อดีตส.ส.กทม.และอดีตรองเลขาธิการพรรคปชป. เป็นเลขาธิการพรรค ขณะที่ นายวิทยา  แก้วภราดัย อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช หลายสมัย พรรคปชป. เป็นกรรมการบริหารพรรค

 

“ผมยืนยันว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ใช่พรรคสาขา 2 ของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างกรรมการบริหารพรรค ก็ไม่ได้มีแค่ประชาธิปัตย์ มีทั้งคนหน้าใหม่ …ผมมั่นใจว่าจะสามารถกวาด ส.ส.ได้ทั้งภาคใต้ เราจะต้องคาดหมายว่าเราจะชนะหมดทุกเขต” นายพีระพันธุ์ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุ

เมื่อถามว่าในอนาคตหากมีการเลือกตั้งจะมี ส.ส.พรรค ปชป. เข้ามาร่วมด้วยหรือไม่ นายพีระพันธุ์ ตอบว่า  เป็นเรื่องของอนาคต แม้ตนออกจากพรรค ปชป.มานานแล้ว แต่ในทางส่วนตัวเราก็เป็นมิตร เป็นเพื่อนกัน เราไม่ได้คบกันที่การเป็นพรรค แต่เราคบกันที่ใจ ฉะนั้นอยู่ตรงไหนก็คุยกันได้อยู่แล้ว


ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติจะยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า นโยบายแนวทางของพรรค เราไม่ได้สนับสนุนบุคคล แต่เราสนับสนุนแนวทางและการทำงานเดียวกัน ที่สำคัญคือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเราทำงานด้วยกันได้หมด

เมื่อถามย้ำว่ามีคนมองว่าพรรคนี้ตั้งมาเพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยนายพีระพันธุ์ ตอบว่า “ใครพูดล่ะ ผมไม่เคยพูด เราตั้งพรรคการเมือง ไม่ได้ไปตั้งพรรคเพื่อไปสนับสนุนอะไรใคร พรรคการเมือง ก็ต้องทำงานการเมือง”


ย้อนคนปชป.ตั้งพรรคใหม่


สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประสบปัญหาสมาชิก “เลือดไหลออก” และมีบางกลุ่ม บางคน ไปก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีให้เห็นอยู่เป็นระยะตลอดช่วงของพรรค ปชป. 

                          เปิดตำนานคน ปชป.“แพแตก”ตั้งพรรคการเมืองใหม่
ก่อนหน้าเมื่อไม่นานนัก ปชป. ต้องสูญเสียทั้งอดีตแกนนำ และอดีตส.ส.มากฝีมือในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้ง หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.คุณภาพ มือขุดคุ้ยโครงการรับจำนำข้าวที่ย้ายบ้านไปอยู่กับ ลุงกำนัน-สุเทพ เทือกสุบรรณ ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)


ก่อนที่ในเวลาต่อมา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จะแยกตัวออกมาก่อตั้งพรรคไทยภักดี ในปี 2564 


ตามด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรมในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ย้ายค่ายไปอยู่กับพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นกุนซือทำงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ก่อนที่จะตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ


ขณะที่ก่อนหน้านั้น นายกรณ์ จาติกวนิช อดีตขุนคลัง และอดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. ก็ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค ตามไปติดๆ ด้วยการลาออกของ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. เพื่อไปร่วมก่อตั้งพรรคกล้า


ตำนานกลุ่ม 10 มกรา


แต่หากย้อนกลับไปในอดีตเมื่อราว 35 ปีก่อน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นสถาบันพรรคการเมืองเก่าแก่แห่งนี้ เคยเผชิญกับ “สึนามิลูกใหญ่” ทางการเมืองมาแล้ว เมื่อมีส.ส.พากันยกทีมพรวดเดียวร่วม 40 คน เพื่อไปก่อตั้ง “พรรคประชาชน” ขึ้นมา  


นั่นคือ ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์และ “กลุ่ม 10 มกรา” ที่มี นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรณ์ อดีตเลขาธิการพรรค เป็นหัวหน้ากลุ่ม และ นายวีระ หรือ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ (ในปัจจุบัน) เป็นเลขาธิการพรรค ในขณะนั้น เป็นแกนนำ พ่ายแพ้ในการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ปชป.


ณ โรงแรมเอเชีย ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์วันนั้น กลุ่มของ นายวีระ เลขาธิการพรรค ได้เสนอชื่อของ นายเฉลิมพันธ์ ให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่กลุ่มของ นายชวน หลีกภัย เสนอชื่อ นายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค โดยมี พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ (ยศในขณะนั้น) เป็นเลขาธิการพรรค ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา 


ความไม่พอใจในการบริหารงานของ นายพิชัย ในฐานะหัวหน้าพรรค สะสมมาต่อเนื่อง เช่น กรณีที่นายพิชัย เสนอชื่อ นายพิจิตต รัตตกุล ลูกชายของตัวเองที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งซ่อมเป็น ส.ส.กทม. ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ให้แทนที่นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ที่ถึงแก่กรรมไป ซึ่งกลุ่ม 10 มกรา เห็นว่า ไม่เหมาะสม 
พรรคประชาธิปัตย์ที่เวลานั้น เป็นพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อกลุ่ม 10 มกรา ไม่ยกมือโหวตสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ส่งผลให้ พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรีขณะนั้นต้องประกาศยุบสภา กลุ่ม 10 มกรา จึงออกมาร่วมจัดตั้ง พรรคประชาชน ขึ้นในปี 2531 ผลจากครั้งนั้นทำให้พรรค ปชป.อ่อนแอลง 


ปชป.รุ่งเรือง-ถดถอย


พรรคปชป.เข้าสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการเลือกตั้งปี 2550 โดย ปชป.ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า 14 ล้านเสียง คิดเป็น 39.63% กวาดเก้าอี้ ส.ส.มาได้มากถึง 165 ที่นั่ง จากทั้งหมด 480 ที่นั่งในสภา 


ความนิยมของพรรค ปชป.เริ่มถดถอยลง ในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ ส.ส. เข้าสภาจำนวน 159 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง จากคะแนนเสียงทั้งหมด 11 ล้านเสียง ได้ ส.ส.ลดลงถึง 14 ที่นั่ง 


และมาตอกย้ำความถดถอยของพรรคมากขึ้น เมื่อผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค.2562 ปชป.ได้ส.ส.เพียง 53 ที่นั่งจากส.ส.ทั้งหมด 500 ที่นั่ง ได้คะแนนเสียงรวม 3.9 ล้านเสียง จำนวนส.ส.ลดลงไปถึง 106 ที่นั่ง จึงเป็นที่มาของคำว่า “พรรคต่ำร้อย” ในทันที  


หลังจากนี้ไปจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งทั่วไป ที่คาดว่าจะมีขึ้นกลางปี 2566 ยังไม่แน่ว่าจะมีใครจาก ปชป. ลาออกเพื่อไปอยู่พรรคใหม่ หรือ ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่อีกหรือไม่ ต้องคอยติดตามดู...