เส้นทางการเมือง "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" ก่อนนั่ง เลขาธิการนายกฯ

20 ธ.ค. 2565 | 07:45 น.

เปิดเส้นทางการเมือง "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ นั่งเก้าอี้ "เลขาธิการนายกฯ" แทน "ดิสทัต โหตระกิตย์"

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ 20 ธันวาคม 65 ได้มีมติแต่งตั้งให้ "นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แทน นายดิสทัต โหตระกิตย์ ที่ได้ลาออกไป โดยนายพีระพันธุ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการนายกฯ ได้ทันที 

 

ประวัติและเส้นทางการเมืองที่ผ่านมาของ "นายพีระพันธุ์" นั้นเรียกได้ว่า ไม่ธรรมดา 

 

นายพีระพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ชื่อเล่น ตุ๋ย  เป็นบุตรของ พล.ท.ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ผู้ริเริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร เป็นหลานปู่พระยาสาลีรัฐวิภาค กับ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ เป็นบุตรีพระมนูเวทย์วิมลนาท อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรและประธานศาลฎีกา

ประวัติทางด้านการศึกษา

  • มัธยมศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
  • ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
  • ปริญญาโท กฎหมายอเมริกันทั่วไป (LLM) มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา
  • ปริญญาโท กฎหมายเปรียบเทียบ (MCL) มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา


ประวัติการทำงาน

นายพีระพันธุ์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อน 
เข้าสู่ถนนการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ดินแดง เมื่อปี พ.ศ. 2539 ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์

 

บทบาทสำคัญในสภา ของนายพีระพันธุ์ เป็นไปในทางการตรวจสอบการทุจริตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของกองทัพ เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2548

 

มีผลงานสำคัญ คือ การสอบสวนการทุจริต "ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท" ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท

เส้นทางการเมือง 

ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 นายพีระพันธุ์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ได้ย้ายไปลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ โดยพรรคส่ง พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา ลงสมัคร ส.ส.เขต แทนแต่ พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

 
ในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 นายพีระพันธุ์ ได้ลงรับสมัครในเขต 3 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตห้วยขวาง เขตดินแดง และเขตพญาไท คู่กับ นายธนา ชีรวินิจ และ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา สามารถนำทีมชนะการเลือกตั้งทั้ง 3 คน โดยนายพีระพันธุ์ ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ของเขต

 

ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 นายพีระพันธุ์ ในฐานะอดีตผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการ ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเงา

 

ทั้งยังทำหน้าที่เป็น รองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณานโยบาย งบประมาณ และประสิทธิภาพกองทัพ รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 กรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญอื่น ๆ อีกหลายคณะ

 

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ.2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 16 ในนามพรรคประชาธิปัตย์

 

กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นายพีรพันธุ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้นางสาว พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล บัญชีรายชื่อลำดับที่ 24 ซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตของนาย พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ได้ขยับขึ้นมาทำหน้าที่แทน 

 

ต่อมาในวันที่ 17 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 


กระทั่ง ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เตรียมให้คนไปยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ทางพรรคและนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ กกต.

 

ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 เนื่องจากจัดทำโครงสร้างพรรคให้เข้มแข็งเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ให้สัมภาษณ์ในวันรุ่งขึ้นว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปยื่นหนังสือลาออกกับทางพรรคพลังประชารัฐกับทาง กกต. เรียบร้อยแล้ว

 

จากนั้นในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 140/2565 แต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ โดยมี นายพีระพันธุ์  เป็นประธานกรรมการ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้ร้องเรียนและผู้ร้องทุกข์ และการอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชน กระทั่งได้ปรากฎเป็นข่าวไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคในที่สุด

 

นายพีระพันธุ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ เพื่อมารับตำแหน่งเป็น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 กระทั่งล่าสุดในการประชุม ครม.วันนี้ (20 ธ.ค.65) ครม.ได้มีมติแต่งตั้งให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แทน นายดิสทัต โหตระกิตย์ ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาเพื่อไปนั่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี  

 

เส้นทางการเมือง "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" ก่อนนั่ง เลขาธิการนายกฯ

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย