"กรมการค้าภายใน" อ่วม! กมธ.งบฯจี้แก้ปุ๋ย-น้ำมันปาล์มแพง

28 มิ.ย. 2565 | 06:13 น.

รมการค้าภายใน เจอ กมธ.งบฯปีุุ 66 ซักยิบจี้แก้ปุ๋ย-น้ำมันปาล์มแพง แนะอย่าโยนบาปให้กระทรวงพลังงานอย่างเดียว

วันที่ 28 มิ.ย. 65นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พลังประชารัฐ (พปชร.) ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 แถลงผลการประชุม กมธ.ว่างบประมาณของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มีการตั้งงบประมาณ 911,222,500 บาท ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาราคาสินค้า โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีราคาแพงขึ้น จนกระทบกับต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตร

 

ทั้งนี้ กมธ.บางคนได้สอบถามว่า จากปัญหาดังกล่าวมีแนวทางแก้ไขอย่างไร เพราะในแต่ละปีประเทศไทยต้องใช้ปุ๋ยเพื่อทำการเกษตรถึง 100 ล้านกระสอบ แต่ราคาปุ๋ยปัจจุบันสูงขึ้นจาก 800 บาท เป็นประมาณ 2,000 บาท ทำให้เกษตรกรไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้ซื้อปุ๋ย บางคนถึงขั้นต้องกู้เงินนอกระบบมาซื้อปุ๋ย

 

จากปัญหาดังกล่าวมี กมธ.บางคน ให้ข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานอาจประสาน ให้กระทรวงการคลังออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้เกษตรกรมีเงินไปซื้อปุ๋ย หรืออาจให้รัฐบาล ช่วยอุดหนุนปุ๋ยให้เกษตรกรครัวเรือนละ 5 กระสอบต่อปี เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พลังประชารัฐ  (คนซ้าย) แถลงผลประชุม กมธ.งบฯปี 66

ผู้แทนกรมการค้าภายในชี้แจงว่า เบื้องต้นหน่วยงานได้จัดทำโครงการจัดหาปุ๋ยเคมีในราคาถูกเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตามสำนักงบประมาณ มีความเห็นว่า การช่วยเหลือเรื่องปุ๋ยเคมีเป็นการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ดังนั้นหน่วยงานจึงได้ประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับไปดำเนินการช่วยเหลือให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีในราคาที่ถูกลงเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยจากจีน, แคนาดา และรัสเซีย โดยราคาปุ๋ยในตลาดโลกได้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะค่าขนส่งทางเรือปรับสูงขึ้นจึงส่งผลต่อต้นทุนการขนส่ง

 

นอกจากนี้ประเทศจีน ยังมีนโยบายห้ามส่งออกปุ๋ยเพราะต้องการเก็บปุ๋ยไว้ใช้ในประเทศ และภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เรือขนส่งไม่สามารถเข้าไปรับสินค้าได้ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาเรื่องปุ๋ยเคมีจะต้องพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ ปริมาณปุ๋ยเคมีต้องมีเพียงพอไม่ขาดแคลน และเกษตรกรได้รับผลกระทบด้านราคาน้อยที่สุด

 

“ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในเจอกฐินเยอะ มี กมธ.หลายคนถาม เพราะเป็นส่วนงานที่มีผลต่อการค้าและเกษตรกรรม อันจะส่งผลต่อผลกระทบเรื่องอื่นๆ ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งโยนบาปไปให้ในส่วนพลังงานอย่างเดียว และรมว.พาณิชย์ ต้องเดินให้ถึง ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ความจริง” 

นายสัณหพจน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากราคาปุ๋ยแพงแล้วยังมีสินค้าทางการเกษตรอีกหลายชนิดที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ซึ่งนำมาใช้ในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร

 

กมธ.บางคนได้สอบถามว่า ประชาชนสอบถามมาจำนวนมากว่า น้ำมันปาล์มขวดราคาเพิ่มขึ้นไปถึงลิตรละ 70 บาท เกษตรกรอาจได้รับประโยชน์จากราคาผลปาล์มเพิ่มสูงขึ้น แต่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันปาล์มอาจได้รับผลกระทบ

 

จึงต้องสอบถามหน่วยงานว่า มีแนวทางหรือกลไกอย่างไร เพื่อสมดุลประโยชน์ ให้เกษตรกรอยู่ได้ และผู้บริโภคไม่เดือดร้อน โดยผู้แทนกรมการค้าฯ ชี้แจงว่า หน่วยงานให้ความสำคัญว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรได้ประโยชน์มากที่สุด และประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

ทั้งนี้อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่มีผลผลิตน้ำมันปาล์มมหาศาล เคยประกาศว่าจะจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม แต่ปัจจุบันได้กลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มแล้ว หรือมาเลเซีย มีนโยบายที่จะผลักดันการส่งออกเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มขึ้นมา ซึ่งมีผู้แทนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการทุกภาคส่วน มาร่วมกันพิจารณาให้ เห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์เป็นระยะ


นายสัณหพจน์ กล่าวอีกด้วยว่า กมธ.ยังเสนอความเห็นในส่วนเรื่องการชั่งตวงวัดสินค้าทางการเกษตรว่า ควรจะมีตัวแทนของผู้นำท้องถิ่นและเกษตรกร เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อตรวจเช็กความแม่นยำ

 

และเสนอให้เครื่องชั่งตำบลละ 1 ตราชั่ง เพื่อใช้ส่วนกลาง ส่วนเรื่องข้าว ทาง กมธ.ระบุว่า ชาวบ้านและเกษตรกร ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการทำเป็นขบวนการกำหนดราคาขึ้นลงหรือไม่