“กนก”ห่วงหนี้ครัวเรือนสูงกว่าหนี้รัฐบาล สะท้อนวิกฤติเศรษฐกิจของจริง

04 มิ.ย. 2565 | 07:59 น.

“กนก”ห่วงหนี้ครัวเรือนสูงกว่าหนี้รัฐบาล สะท้อนวิกฤติเศรษฐกิจของจริง ชี้รัฐจัด “งบ 66” เกินตัว รายได้พลาดเป้า เศรษฐกิจยังฟุบยาว

ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่เพิ่งผ่านการรับหลักการวาระแรก ว่า ถ้าดูในภาพรวมอยากขอให้ประชาชนติดตามตัวเลขใหญ่ ๆ 3 ตัว คืองบประมาณทั้งหมด 3.185 ล้านล้านบาท , ประมาณการรายได้สุทธิ 2.49 ล้านล้านบาท  ซึ่งรัฐบาลจะไปกู้ชดเชยส่วนที่ขาดอีก 6.95 แสนล้าน


นำไปสู่การตั้งคำถามที่ 1 ก็คือว่า รายได้สุทธิที่ตั้งใจว่าจะเก็บได้จากกรมสรรพากร ภาษีสรรพสามิต กรมศุลกากร และรายได้อื่น ๆ จะสามารถเก็บได้ตามที่ประมาณการหรือไม่ ซึ่งตรงนี้สะท้อนโดยตรงกับภาวะการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศไทย 

 

โดยปัจจัยที่จะกำหนดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้เอกชนพ่อค้าแม่ค้าสามารถกลับมาค้าขายได้ รัฐวิสาหกิจมีรายได้ รัฐบาลเก็บภาษีได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ปีนี้จะเป็นอย่างไร การท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไรเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวหรือไม่ นักท่องเที่ยวจะมั่นใจมาประเทศไทยหรือไม่ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคนไทยด้วยกันเองเชื่อมั่นหรือไม่ ที่จะจับจ่ายใช้สอย และอันสุดท้าย คือ ปัญหาทางการเมืองว่าจะมีเสถียรภาพหรือไม่ หรือไม่มีเสถียรภาพนี่คือ 4 ปัจจัยที่กระทบการจัดเก็บรายได้

 

นอกจากนี้ยังมีเงินกู้อีก 6.95 แสนล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงเกิน 60% ต่อ GDP ไปแล้ว กระทบกับความเชื่อถือทางเศรษฐกิจของประเทศไทย งบประมาณ 3.185 ล้านล้าน ที่เขาถามกันคือถ้ารายได้ไม่ได้ตามเป้า การกู้ชดเชยเงินขาดดุลกระทบเครดิต ถามว่าการกำหนดงบประมาณนี้เกินกว่ากำลังไปหรือเปล่า ซึ่งปีที่แล้วตั้งงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท วันนี้เกินกว่าปีที่แล้ว 85,000 ล้าน 

ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะ ตอนนี้น่าเป็นห่วงมาก เราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ เพราะประชาชนไม่มีรายได้ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น รัฐบาลก็จะเก็บภาษีไม่ได้ หนี้ครัวเรือนวันนี้ขึ้นไปสูงมาก อีก 20 ปีใช้ก็ยังไม่หมด รายได้น้อยลงแต่รายจ่ายของประชาชนเพิ่มมากขึ้น 

 

“วันนี้ครัวเรือนสูงกว่าหนี้ของรัฐบาลไปแล้วหลายเท่าด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าบวก 2 อย่างนี้ ก็จะทำให้สถานะของประเทศน่าเป็นห่วงมากเข้าสู่จุดที่เรียกว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจจริงๆ” ศ.ดร.กนก กล่าว