“ยุบสภา-ลาออก” นายกต้องเลือก หากร่าง พ.ร.บ.งบฯ66 โดนคว่ำ

27 พ.ค. 2565 | 14:05 น.

"วิษณุ" รองนายกฯ เผยหากร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2566 โดนคว่ำ “นายก” มี 2 ทางเลือก ที่เป็นประเพณีควรต้องปฏิบัติ คือ “ยุบสภา - ลาออก” ชี้จะกระทบกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ พร้อมระบุ 3 แนวหากเกิดสะดุด

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ฝ่ายค้านขู่จะคว่ำร่าง ว่า ตนขอตอบตามคำถาม แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไร แต่หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกตีตกในสภา ตามประเพณีนายกรัฐมนตรีมีสองแนวทางคือ การยุบสภา หรือลาออก ซึ่งหากยุบสภา กว่าจะมีเลือกตั้งก็คงอีกนาน 

โดยระหว่างนั้นกว่าจะถึงวันที่ 1 ต.ค. ก็ใช้งบประมาณปี 65 ไปพลางก่อน ซึ่งโดยปกติสำนักงบประมาณจะให้ใช้เป็นเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณนั้น และบริหารได้จนกว่าจะมีงบประมาณใหม่ แต่โครงการใหม่ๆ จะเกิดไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในบัญชี

 

นายวิษณุ กล่าวว่า การยุบสภา หรือ ลาออก เป็นประเพณี ก็ควรที่จะต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่าง สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ลาออก หลังเสนอกฎหมายย้ายเมืองหลวงไม่ผ่าน หรือ สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีการยุบสภา หลัง ออก พ.ร.ก. แล้วสภาไม่เห็นชอบ 

ซึ่งหากนายกฯ ลาออก ครม. ก็ต้องไปทั้งคณะ แต่ยังต้องรักษาการต่อไป โดยเวลาจะประกาศยุบสภา นายกฯ จะไม่บอกใคร อาจจะประกาศทันทีเลยได้ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะต้องยุบสภา หรือลาออกทันที หรือกี่วัน อาจทิ้งเวลาไว้เป็นเดือนก็ได้ ต้องไปดูจังหวะเวลาอันสมควร 

 

ส่วนการยุบสภา หรือลาออก วิธีไหนเหมาะสมกว่ากันนั้น ต้องไปคิดว่าจะเอาอย่างไร เมื่อไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน ต้องเสนอใหม่อยู่ดี ถ้าหากลาออกแล้ว ได้รัฐบาลใหม่มา เขาเสนอเข้าสภา แต่องค์ประกอบสภายังเหมือนเดิมก็เสี่ยงกับการที่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะถูกตีตกซ้ำซากอีก ก็ยุบสภาเสียดีกว่า เปลี่ยนสภาไปเสียเลย 

 

แต่ต้องจบลงด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการที่สภาไม่ผ่าน พ.ร.บ. เท่ากับว่าไม่ไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไป ฉะนั้นเมื่อรู้ตัวก็ควรจะลาออก หรือยุบสภา ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีที่ พ.ร.บ.งบประมาณถูกตีตกในสภา 

 

ทั้งนี้ หากยุบสภา หรือ ลาออก จะส่งผลกระทบถึง พ.ร.ป.เลือกตั้ง 2 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะถ้าไม่มีสภาก็ไม่มีการพิจารณา วุฒิสภาก็ประชุมไม่ได้ แต่ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้คิดอย่างนั้น ว่า พ.ร.บ. งบประมาณฯ จะไม่ผ่าน

 

ส่วนกรณีหากเกิดเหตุสะดุดตรงนี้ ในส่วนของกฎหมายลูกจะใช้เป็นพระราชกำหนดได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอยังไม่ตอบ เพราะจะใช้แบบไหนก็มีคนเถียงทั้งนั้น 1.อาจจะใช้เป็น พ.ร.ก. 2.อาจจะให้ กกต. ประกาศ 3.เลือกโดยไม่ยึดระเบียบอะไร ก็จะถูกเถียงทุกอย่าง ต้องไปศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ถ้าศาลบอกว่าใช้ไม่ได้ที่เลือกมาก็ใช้ไม่ได้ทั้งหมด

 

ทั้งนี้เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าจะผ่าน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่กล้าตอบ สื่อถามมามากก็ชักจะหวั่นไหว ตนเป็นรัฐมนตรีไม่มีสิทธิโหวต มีแต่จะไปอย่างเดียว แนวโน้มไม่มี มีแต่แนวนอน