ฮือฮา! ครม.แต่งตั้ง “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” นั่งบอร์ดธนาคารออมสิน

03 พ.ค. 2565 | 09:39 น.

ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสิน เพิ่มเติม หนึ่งในนั้นคือ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. นั่งเป็นกรรมการด้วย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสิน เพิ่มเติม โดยหนึ่งในนั้นคือ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกศูนย์บริหารสถานการร์โควิด-19 (ศบค.) นั่งเป็นกรรมการด้วย


สำหรับมติดังกล่าว คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ ให้คณะกรรมการธนาคารออมสินมีจำนวนเกิน 11 คนแต่ไม่เกิน 15 คน (นับรวมประธานกรรมการและกรรมการอื่นที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) 

 

เป็นไปตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสิน เพิ่มเติม จำนวน 4 คน ดังนี้

  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนามัย ดำเนตร  
  2. นายวิษณุ ตัณฑวิรุฬห์   
  3. นายรังสรรค์ ธรรมมณีวงศ์  
  4. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

 

สำหรับประวัติ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

 

เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2508 บิดาชื่อ เว้งกวง แซ่โต๋ว มารดาชื่อ เพ็ญนภา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน โดยเป็นลูกคนที่ 2 ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย เปิดร้านโชห่วยอยู่หน้าตลาดเทศบาล 2 จังหวัดนครราชสีมา บิดาประสบอุบัติเหตุจนต้องตัดขา ทุกคนในบ้านจึงช่วยทำงาน รวมถึงทวีศิลป์ที่ต้องช่วยเลี้ยงหมู พับถุงขาย กรอกน้ำกรด ทำขนมผิง ฯลฯ

 

เขาจบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนบุญวัฒนา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเป็นการสอบโควตา หลังจากเรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2532 เริ่มทำงานที่โรงพยาบาลจิตเวช นครราชสีมา เป็นเวลา 2 ปี 

 

หลังจากนั้นก็ได้เข้าเรียนที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และได้เข้าทำงาน ณ ที่ดังกล่าว และทำหน้าที่สอนนักศึกษาแพทย์ไปด้วย

จนปี 2537 ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อเพิ่มเติมด้านจิตเวชที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทางด้านประสาทจิตเวชศาสตร์ ช่วงที่อยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เริ่มทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องจิตเวชผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เขาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

 

จนราวปี 2546 – 2547 มีข้าราชการอาวุโส สังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้ย้ายมาอยู่กับทางกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากการเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต แล้วขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม พร้อมดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2557-2559 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

 

วันที่ 1 มีนาคม 2560 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

 

วันที่ 30 มีนาคม 2561 ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นวันที่ 26 มีนาคม 2563 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโฆษก ศบค. ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข และเป็นแพทย์ที่ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

 

ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับวิไลรัตน์ วิษณุโยธิน เป็นกุมารแพทย์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน ชื่อ ธรรศและธนวินท์

 

ที่มา : วิกิพีเดีย