เปิดคำวินิจฉัยกก.สรรหา "วรวิทย์ กังศศิเทียม"ได้ไปต่อประธานศาลรธน.

29 เม.ย. 2565 | 11:56 น.

เปิดคำวินิจฉัยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ “วรวิทย์ กังศศิเทียม” ประธานศาลรธน. มิได้เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามรธน.อันเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตําแหน่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(29 เม.ย.65) นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่หน่วยธุรการ ของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ส่งหนังสือไปถึง เลขาธิการสํานักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแจ้งคําวินิจฉัยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


โดยระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ขอให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๔ ท่าน ประกอบด้วย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ 

ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๕ เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับการดํารงตําแหน่ง ของประธานศาลรัฐธรรมนูญ และขอให้สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการส่งความเห็นเกี่ยวกับการดํารง ตําแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๐๘ วรรคสี และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๒๒ วรรคหนึ่ง ความแจ้งแล้ว นั้น


บัดนี้ คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและวินิจฉัยกรณี การดํารงตําแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นเสร็จสิ้นแล้ว ดังมีรายละเอียดปรากฏ ตามคําวินิจฉัยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๒๕ เรื่อง ขอให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐๒ (๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภาแจ้งผลการวินิจฉัยดังกล่าวให้เลขาธิการสํานักงาน ศาลรัฐธรรมนูญทราบต่อไป

สำหรับผลการวินิจฉัยดังกล่าว ที่ลงนามโดย นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่งถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า


คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คําร้องมีหลักฐาน ตามสมควร จึงกําหนดประเด็นพิจารณาในเบื้องต้นว่า คําร้องของผู้ร้องอยู่ในหน้าที่และอํานาจ ของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๐๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย หรือไม่ โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า มาตรา ๒๐๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอํานาจวินิจฉัยใน (๑) และ (๓) กล่าวคือ กรณีที่มีปัญหาว่าตุลาการมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐๒ หรือตาม (๓) กรณีลาออก หรือไม่ 


โดยผู้ร้องได้อ้างเหตุ ที่นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐๔ (๑) ประกอบมาตรา ๒๐๒ (๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีเป็นหรือเคยเป็นตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่าคําร้องของผู้ร้องอยู่ในหน้าที่ และอํานาจของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้วินิจฉัย ตามมาตรา ๒๐๔ วรรคสี ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีคําสั่งรับคําร้องไว้พิจารณาด้วยมติ ๓ ต่อ ๒ เสียง


คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคําร้อง รวมทั้งเอกสาร พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มีบทบัญญัติรับรองสถานะการดํารงตําแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดํารงตําแหน่งอยู่ใน วันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๗๓ วรรคหนึ่ง

 

โดยบัญญัติให้ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ที่จัดทําขึ้นตามมาตรา ๒๖๗ ใช้บังคับแล้ว การดํารงตําแหน่งต่อไปเพียงใด ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว” 


ต่อมา เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้กําหนดบทบัญญัติเพื่อให้สอดรับกับมาตรา ๒๗๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง

 

โดยบัญญัติให้ “ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดํารงตําแหน่งยังไม่ครบ วาระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อน วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตําแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หรือพ้นจากตําแหน่ง ตามมาตรา ๑๔ เว้นแต่กรณีตาม (๑) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ มิให้นํามาใช้บังคับ” 


เมื่อนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗ จึงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดํารง ตําแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และดํารงตําแหน่ง อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ ใช้บังคับ 


ต่อมาเมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้สมควรดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จํานวน ๔ คน ประกอบด้วย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายนภดล เทพพิทักษ์ บุคคลทั้งสี่และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังดํารงตําแหน่งไม่ครบวาระ จํานวน ๔ คน ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายปัญญา อุดชาชน ได้เลือกกันเองให้นายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธาน ศาลรัฐธรรมนูญ และได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ 


จึงถือได้ว่า นายวรวิทย์ กังศศิเที่ยม ได้ดํารงตําแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๑ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ ส่วนบทบัญญัติมาตรา ๒๐๘ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่า “ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตําแหน่ง ให้พ้นจากตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย” นั้น 


เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายให้ตําแหน่ง ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นตําแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นการเฉพาะ และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการสลับตําแหน่งระหว่างประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏในเอกสารบันทึกความมุ่งหมายและคําอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หน้า ๓๕๘


นายวรวิทย์ กังศศิเทียม จึงยังคงอยู่ในตําแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติ ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และมาตรา ๒๗๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑


เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้บัญญัติรับรองสถานะการดํารงตําแหน่งของ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไว้อย่างชัดเจนแล้วในบทเฉพาะกาล 


ดังนั้น คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม มิได้เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐๒ (๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นเหตุให้ ต้องพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา ๒๐๔ (๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ประการใด

           เปิดคำวินิจฉัยกก.สรรหา "วรวิทย์ กังศศิเทียม"ได้ไปต่อประธานศาลรธน.    เปิดคำวินิจฉัยกก.สรรหา "วรวิทย์ กังศศิเทียม"ได้ไปต่อประธานศาลรธน.