เตือนความเสี่ยงระดับโลก หนี้พุ่ง-เงินเฟ้อติดลบ-ภูมิรัฐศาสตร์

29 เม.ย. 2567 | 02:00 น.
อัพเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2567 | 02:03 น.

ความเสี่ยงหลายด้านกำลังคุกคามเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจโลก เริ่มจากระดับหนี้สินทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้ง "หนี้สาธารณะและหนี้ภาคเอกชน" ภาวะเงินเฟ้อติดลบในประเทศพัฒนาแล้ว สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์

World Economic Forum ให้มุมมองที่ชัดเจนต่อ "เศรษฐกิจโลก" โดยระบุว่า โลกเผชิญกับการเติบโตที่ต่ำในรอบทศวรรษ หากไม่ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม

คำเตือนดังกล่าวมาจาก "การประชุมพิเศษว่าด้วยความร่วมมือระดับโลก การเติบโต และพลังงานเพื่อการพัฒนา" ของ World Economic Forum ในเมืองริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย  โดยเตือนว่าอัตราส่วนหนี้สินทั่วโลกใกล้เคียงกับระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ทศวรรษ 1820 และมีความเสี่ยง "ภาวะเงินเฟ้อติดลบ" สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว

รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาวิธีการลดหนี้และใช้มาตรการทางการคลังที่ถูกต้อง โดยไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง และ Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์เชิงกำเนิดอาจเป็นโอกาสสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

นอกจากนี้ยังความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเศรษฐกิจโลกในขณะนี้คือ "ภาวะถดถอยทางภูมิรัฐศาสตร์" ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ โดยเน้นย้ำถึงความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและอิสราเอลเมื่อเร็วๆ นี้ หากอิสราเอลและอิหร่านเพิ่มความขัดแย้งนั้น อาจได้เห็นราคาน้ำมันที่ 150 ดอลลาร์ในชั่วข้ามคืน และแน่นอนว่านั่นจะสร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก 

 

เมื่อพิจารณาจากคำเตือนนี้ถือว่าสอดคล้องกับรายงานล่าสุดจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งระบุว่า "หนี้สาธารณะทั่วโลก" ขยับขึ้นถึง 93% ของ GDP ในปีที่แล้ว และยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด 9%  IMF คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะทั่วโลกอาจสูงถึงเกือบ 100% ของ GDP ภายในสิ้นทศวรรษนี้

ความน่าสนใจอยู่ที่ระดับหนี้ที่สูงในจีนและสหรัฐฯ เนื่องจากนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายในช่วงหลังจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยและเงินดอลลาร์ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินทั่วโลกสูงขึ้น ทำให้ความเปราะบางที่มีอยู่เดิมรุนแรงขึ้น

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา IMF ปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกเล็กน้อยโดยกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีความยืดหยุ่น แม้จะมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินก็ตาม ขณะนี้คาดว่าการเติบโตทั่วโลกจะอยู่ที่ 3.2% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1 % จากการคาดการณ์เมื่อต้นเดือนมกราคม

สำหรับ ประเทศไทย ข้อมูลจาก "แผนการคลังระยะปานกลางของประเทศไทย" (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า 

  • ปี 2567  หนี้สาธารณะอยู่ที่ 11.83 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 62.71% ต่อจีดีพี  
  • ปี 2568 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 12.66 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 63.73% ต่อจีดีพี  
  • ปี 2569 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 13.44 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 64.23% ต่อจีดีพี  
  • ปี 2570 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 14.12 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 64.07% ต่อจีดีพี  
  • ปี 2571 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 14.75 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 63.61% ต่อจีดีพี  

ที่มา