ตัดสินอายุปธ.ศาลรธน. ทิฐิ-หลงอำนาจ-ชาติพัง

24 มี.ค. 2565 | 04:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

     ปัญหาว่าด้วยเรื่อง “การดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ” กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่จะสะท้อนมาตรฐานความยุติธรรม และบริบทการเมืองของประเทศไทย

 

     สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่ “ระดับบรมครู” ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยที่รู้จักมักคุ้นมายาวนาน 3 คน นัดหมายมาอบรมให้ความรู้ผม เพื่อนำแง่คิด ปัญญา ข้อกฎหมายไปสะท้อนให้สังคมเกิดปัญญาและมีจริยธรรมในการปฏิบัติ

 

     บรมครูทางกระบวนการยุติธรรม พยายามอธิบายให้ผมเห็นความสำคัญถึง “ปัญญา-จริยธรรม” ว่ามีความหมายกับสังคมไทยที่กำลังวิปริต จนสังคมไร้สติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้อะไรพอ อะไรพองาม..

 

ตัดสินอายุปธ.ศาลรธน. ทิฐิ-หลงอำนาจ-ชาติพัง

 

     ผมขออนุญาตนำหลักคิด ที่บรมครูทั้ง 3 อุตส่าห์กล่อมเกลาสติปัญญาให้ผม เพื่อนำสารแห่งปัญญาไปยังประชาชนพิจารณากันด้วยสติ

 

     ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว

 

     ปัญญา หมายถึง ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด

 

     ปัญญา หมายถึง ความสามารถในการคิดและกระทำโดยใช้ความรู้, ประสบการณ์, ความเข้าใจ, สามัญสำนึก และ การเข้าใจทะลุปรุโปร่ง ผู้มีปัญญาจึงตัดสินโดยไม่เอนเอียง, ความเห็นอกเห็นใจ, ไม่ยึดติด

ตัดสินอายุปธ.ศาลรธน. ทิฐิ-หลงอำนาจ-ชาติพัง

     ขณะที่ จริยธรรม หมายถึง หลักแห่งความประพฤติ หรือ แนวทางของการประพฤติ สิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ

 

     ผู้มีจริยธรรม จะมีความรับผิดชอบ (Accountability) มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความพากเพียร ละเอียดรอบคอบ และยอมรับผลการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่

 

     ผู้มีจริยธรรม จะมีความซื่อสัตย์ (Honesty) มีความประพฤติอย่างเหมาะสม ตรงต่อความเป็นจริง ประพฤติ ปฏิบัติ อย่างตรงไปตรงมา

 

ตัดสินอายุปธ.ศาลรธน. ทิฐิ-หลงอำนาจ-ชาติพัง

 

     ผู้มีจริธรรม จะมีเหตุผล (Rationality) มีความสามารถในการใช้ปัญญาประพฤติปฏิบัติ ไตร่ตรอง ไม่ยึดมั่นตนเอง

 

     ผู้มีจริยธรรม จะมีระเบียบวินัย (Disciplined) ควบคุมความประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมกับจรรยามารยาท ข้อ บังคับ ข้อตกลง กฎหมาย และศีลธรรม

 

     ผู้มีจริยธรรม จะมีความยุติธรรม (Justice) ปฏิบัติตนด้วยความเที่ยงตรง มีความเป็นจริงและเหตุผล ไม่ลำเอียง

 

     เมื่อเรามีสติดีแล้ว ก็มาพิจารณาเรื่องราวด้วยปัญญา เพื่อสร้างมาตรฐานจริยธรรมในการปฏิบัติในสังคมกันนะครับ

 

ตัดสินอายุปธ.ศาลรธน. ทิฐิ-หลงอำนาจ-ชาติพัง

 

     เข้าเรื่องกันหนักกบาลกันละทีนี้....เรื่องประเทืองปัญญามีอยู่เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2565  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณาตัดสินคดีความขัดแย้งของสังคมไทย 4 คน ประกอบด้วย 1.ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2.ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ 3. ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ 4.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการสรรหา วินิจฉัย วาระการดำรงตำแหน่ง นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้มาจากการพิจารณาคัดสรรของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2557 ว่า หมดวาระการดำรงตำแหน่งแล้วหรือไม่?

     สาระสำคัญของหนังสือที่ส่งไปให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัย มีประเด็นดังนี้ 1.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 208(1) บัญญัติว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง” เมื่อขาดคุณสมบัติตามมาตรา 201 หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 ซึ่ง (1) บัญญัติว่า... เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด

 

     แสดงว่า “ผู้ที่เป็น หรือ “เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” มาก่อนรัฐธรรมนูญนี้ “จะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม” ต้องพ้นจากตำแหน่ง “ไม่อาจอยู่ในตำแหน่งได้”

 

     ประเด็นที่สอง รัฐธรรมนูญ มาตรา 273 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป.....

 

ตัดสินอายุปธ.ศาลรธน. ทิฐิ-หลงอำนาจ-ชาติพัง

 

     และเมื่อ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใด ให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 และการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ พ.ร.ป.หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

     ปมอยู่ตรงนี้แหละครับ...เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้บัญญัติวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ 9 ปี และบัญญัติการพ้นตำแหน่งไว้เมื่อมีอายุครบ 70 ปี ขึ้นอยู่กับว่าอย่างใดอย่างหนึ่งมาถึงก่อน

 

     แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 207 บัญญัติวาระการดำรงตำแหน่งไว้เพียง 7 ปี และมาตรา 208(4) บัญญัติการพ้นตำแหน่งไว้เมื่อมีอายุครบ 75 ปี

 

     แล้วการดำรงตำแหน่งจะครบวาระเมื่อใด นี่คือ ความขัดแย้งทางกฎหมายและจริยธรรม ที่ต้องสร้างมาตรฐานร่วมกัน

 

     ประเด็นที่สาม การที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 มาตรา 79 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่า “จะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550” หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18 เว้นแต่กรณีตาม (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 มิให้นำมาใช้บังคับ และให้ถือว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปตามมาตรานี้ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคสอง มีจำนวนครบตามองค์ประกอบตามมาตรา 8 แล้ว

 

ตัดสินอายุปธ.ศาลรธน. ทิฐิ-หลงอำนาจ-ชาติพัง

 

     ปัญหาจึงมีว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ มาเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2563 อันเป็นวันหลังจากวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 ใช้บังคับ ทำให้นายวรวิทย์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่มาดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติ ให้เป็นคนละตำแหน่งแยกกันตามมาตรา 208 วรรคสอง

 

     ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 ซึ่งนายวรวิทย์ มีอายุครบ 70 ปีแล้ว และเป็นผู้ที่เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 202 (1) และมิใช่ประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.ใช้บังคับ ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่...

 

     เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 มาตรา 79 วรรคหนึ่ง เป็นการรับรองสิทธิที่มีมาตาม รัฐธรรมนูญปี 2550 มิให้เสียสิทธิดังกล่าวเท่านั้น แต่มิได้ให้ขยายสิทธิ ตามสิทธิเดิม เป็นเพิ่มสิทธิให้มากขึ้นแต่อย่างใด

 

     การพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อมีอายุครบ 70 ปี จึงไม่อาจเพิ่มเป็นอายุ 75 ปีได้

 

     ต้องถือว่า นายวรวิทย์ เป็นผู้ที่เป็น หรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 จึงไม่อาจดำรงตำแหน่งต่อไปได้  เพราะมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 202(1)

 

     การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ยกมาตรา 208 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (1) หรือ (3) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 203 เป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด” จึงเป็นทางออกของการแก้วิกฤตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

     แต่ที่จะเป็นปมปัญหาตามมาคือ คำตัดสินจะมีผลต่ออายุการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รัฐธรรมนูญห้ามดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน 8 ปีทันที

 

ตัดสินอายุปธ.ศาลรธน. ทิฐิ-หลงอำนาจ-ชาติพัง

 

     เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 ความว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม”

 

     มาตรา 263 นั้นระบุว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ห้ามมิให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำมาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 264

 

     มาตรฐานการตัดสินเรื่องการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ จึงทะลุไปถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

 

     และการพิจารณาตัดสินในรายละเอียดของ “พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 มาตรา 79 วรรคหนึ่ง เป็นการรับรองสิทธิที่มีมาตาม รัฐธรรมนูญปี 2550 มิให้เสียสิทธิดังกล่าวเท่านั้น แต่มิได้ให้ขยายสิทธิ ตามสิทธิเดิม เป็นเพิ่มสิทธิให้มากขึ้นแต่อย่างใด” ว่าจะออกหัวออกก้อยนั้น

 

     ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์โดยตรงกับการพิจารณา บทเฉพาะกาลในมาตรา 264 ที่ระบุว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่” เหมือนกันเป๊ะ

 

     ปัญญาและจริยธรรมของผู้คนเท่านั้น ที่พาประเทศนี้รอด “ทิฐิมานะ” ขาด “หิริโอตตัปปะ” เมื่อใดประเทศชาติพังครับ..พัง