"กนก"หนุนกู้วิกฤตโรงเรียนเอกชน ก่อนนักเรียน 3.7 ล้านคน แห่เข้า รร.สพฐ.

02 มี.ค. 2565 | 07:55 น.

ศ.ดร.กนก หนุน รัฐแก้วิกฤต โรงเรียนเอกชน เร่งพลิกสถานการณ์ ก่อนล่มสลาย ทำนักเรียน 3.7 ล้านคน ทะลักเข้าโรงเรียน สพฐ. รัฐแบกภาระเพิ่มไม่ต่ำกว่า 7,400 ล้านต่อปี

วันที่ 2 ม.ค. 2565  ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงถึงสถานการณ์ความเดือดร้อนของโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้โรงเรียน 3,563 แห่ง อาจต้องปิดกิจการ    และเรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการเร่งช่วยเหลือว่า ประเด็นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชนที่ต้องพิจารณา คือ โรงเรียนเอกชนมีค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษา ต่ำกว่าโรงเรียนสพฐ.มาก ตั้งแต่เงินเดือนและสวัสดิการครู เงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียน ค่าอาหารกลางวัน จนถึงค่าซ่อมแซมและดูแลอาคารสถานที่ของโรงเรียน

 

ถ้ามองในมุมนี้โรงเรียนเอกชนคือโรงเรียนที่ช่วยแบ่งเบาภาระทางการศึกษาให้กับกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวคือโรงเรียนเอกชนหยุดกิจการทั้งหมด นักเรียนอีก 3.7 ล้านคน จะต้องเข้าเรียนกับโรงเรียนสพฐ. รัฐบาลจะต้องจ่ายงบประมาณอุดหนุนรายหัวเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 7,400 ล้านบาทต่อปี (ไม่รวมค่าเครื่องแบบ, ค่าหนังสือ, ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จนถึงค่าอาหารกลางวัน) ถ้ารวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะมากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับค่าใช้จ่ายเงินเดือนและสวัสดิการครูอีกมากกว่า 100,000 คนที่จะต้องมารับผิดชอบ นักเรียน 3.7 ล้านคนนี้ ดังนั้นถ้าพิจารณาเหตุผลทางงบประมาณ การที่รัฐบาลเลือกที่จะรักษาให้โรงเรียนเอกชนอยู่รอดและช่วยแบ่งเบาภาระทางการศึกษา จึงเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง

ศ.ดร.กนก กล่าวด้วยว่า โรงเรียนเอกชนจะต้องจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของสพฐ. ในทางกลับกันโรงเรียนเอกชนเมื่อได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤตโควิดนี้ไปได้   โรงเรียนเอกชนจะต้องให้หลักประกันกับรัฐบาลว่า จะจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานอย่างไร เพราะเงินที่รัฐบาลช่วยโรงเรียนเอกชนไม่ใช่เงินให้เปล่า

 

ถ้าประเด็นทั้งสองที่กล่าวมานี้จะเกิดขึ้นจริง การช่วยเหลือทางการเงินแก่โรงเรียนเอกชน จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่โรงเรียนเอกชนคิดเพียงจะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือกระทรวงศึกษาธิการ ก็คิดแต่เพียงว่าโรงเรียนเอกชนไม่รับผิดชอบ
    

“สรุปหัวใจของเรื่องนี้ คือ การเห็นคุณค่าของโรงเรียนเอกชนของกระทรวงศึกษาธิการ และความจริงใจของโรงเรียนเอกชนที่จะรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียนประเทศสหรัฐอเมริกา เลือกที่จะให้เอกชนเข้าไปบริหารโรงเรียนของท้องถิ่นที่รัฐบาลท้องถิ่น           ไม่สามารถอุดหนุนงบประมาณได้เพราะจำนวนนักเรียนน้อย แต่ด้วยประสิทธิภาพการบริหารและคุณภาพ   การจัดการเรียนการสอนของเอกชนทำให้โรงเรียนของท้องถิ่นกลับมามีชีวิตและจัดการศึกษาให้ชุมชนได้แบบแผน 

 

การแก้ปัญหานี้ กระทรวงศึกษาธิการของไทยควรศึกษาและค้นหาแนวทางการทำงานกับโรงเรียนเอกชนใหม่ และหวังว่าในอนาคตโรงเรียนเอกชนจะเข้ามาช่วยบริหารโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงต่อไปได้” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว