นิด้าโพลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ชี้ต้นเหตุ“สภาล่ม”มาจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาล

13 ก.พ. 2565 | 09:37 น.

“นิด้าโพล” เปิดผลสำรวจ “สภาล่ม” เสียงประชาชนส่วนใหญ่ 43.44 % ชี้ สาเหตุมาจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เป็นเกมการเมืองของกลุ่มที่ต้องการล้มรัฐบาล และส.ส.จำนวนหนึ่งไร้สามัญสำนึกในการทำหน้าที่ในรัฐสภา

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เผยผลสำรวจ เรื่อง“สภาล่ม”ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ 1,310 ตัวอย่าง เกี่ยวกับเหตุการณ์ “สภาล่ม” ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง  เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์  

 

ความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคล/กลุ่ม ที่ควรรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ “สภาล่ม” ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า  

43.44 %  ระบุว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 


รองลงมา 42.37% ระบุว่า รัฐบาล


37.94%  ระบุว่า ส.ส. ฝ่ายค้าน  


32.60%  ระบุว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 


14.66% ระบุว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชวน หลีกภัย 


12.60%  ระบุว่า ประธานวิปรัฐบาล นายนิโรธ สุนทรเลขา 


11.83%  ระบุว่า ประธานวิปฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง 


2.29 % ระบุว่า ไม่ควรมีใครต้องรับผิดชอบ 


และ 7.10%  ระบุไม่ตอบ-ไม่สนใจ

 

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ “สภาล่ม” ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า 


49.85%  ระบุว่า เป็นเกมการเมืองของกลุ่มที่ต้องการล้มรัฐบาล


รองลงมา 31.98%  ระบุว่า มี ส.ส. จำนวนหนึ่ง ไร้สามัญสำนึกในการทำหน้าที่ภายในรัฐสภา


16.03%  ระบุว่า วิปรัฐบาล ไม่มีประสิทธิภาพ


11.91 % ระบุว่า ส.ส. จำนวนหนึ่ง ขี้เกียจสันหลังยาว 

 

8.17 % ระบุว่า รัฐบาลต้องการเตะถ่วงกฎหมาย 


4.89 % ระบุว่า วาระการประชุมไม่ดึงดูดใจให้เข้าประชุม


4.35%  ระบุว่า วิปฝ่ายค้าน ไม่มีประสิทธิภาพ 


และ 2.82% ระบุว่า สภาล่มเป็นอุบัติเหตุ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อวิธีแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ “สภาล่ม” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบว่า 


30.15%  ระบุว่า ลงโทษตัดเงินเดือน สวัสดิการ ส.ส. ที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น 


รองลงมา 22.82%  ระบุว่า ลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง ส.ส. ที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น 


22.29%  ระบุว่า ลงโทษไล่ออกจากตำแหน่ง ส.ส. ในกรณีที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น 


17.71 % ระบุว่า ลงโทษปรับเงิน ส.ส. ทุกครั้งที่ไม่เข้าร่วมประชุม

 

16.03%  ระบุว่า ลงโทษประจานชื่อผู้ขาดประชุมสภาต่อสาธารณะ

 

14.20 %   บอกว่าสมควรลงโทษยุบพรรคการเมือง  ที่มี ส.ส. ขาดประชุมสภา เกินกว่าที่กำหนด