22 พ.ค. 65 เส้นตาย “บิ๊กตู่” ลุยไฟ-ยุบสภา

09 ก.พ. 2565 | 01:30 น.

22 พ.ค. 65 เส้นตาย “บิ๊กตู่” ลุยไฟ-ยุบสภา : รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3756 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 10-12 ก.พ.2565

จาก “สภาล่มซ้ำซาก” กระทบต่อการผ่านร่างกฎหมาย หรือผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ที่ไม่เดินหน้า... มาถึง 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย “บอยคอต” ไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 8 ก.พ.2565 ที่มีวาระสำคัญพิจารณา “โครงการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว”

 

ต้องบันทึกไว้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ว่า 7 รัฐมนตรีทั้งหมดของพรรคภูมิใจไทย ไม่ร่วมสังฆกรรมกับ “ครม.บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันประกอบด้วย  1.นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข 2.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม 3.นายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม 4.นายทรงศักดิ์ ทรงศรี รมช.มหาดไทย 5.นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา 6.นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ 7. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ

 

 

การ “บอยคอต” เช่นนี้ของพรรคภูมิใจใจ คงไม่ “ยี่หระ” แล้วว่าจะถูก “เขี่ย” ออกจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่การไม่เข้าร่วมประชุม ครม.ครั้งนี้ ก็อาจทำให้มองได้ว่า “ไม่รับผิดชอบต่อการบริหารประเทศชาติ” เอาได้ 

 

“ไม่เข้าประชุม ประท้วงแล้วได้อะไร ไม่เห็นด้วยทำไมไม่เข้าไปเถียง เพื่อจะได้มีมติ ครม. ที่เหมาะสม ไม่เข้าประชุมเขาก็ผ่านเป็นมติ ครม. ที่ต้องร่วมรับผิดชอบอยู่ดี คนไม่เข้าประชุม ไม่เห็นเข้าท่า คนนั่งหัวโต๊ะ ถ้าคุมประชุมไม่ได้ ก็กลับบ้านไปเถอะ บริหารประเทศกันแบบนี้ วังเวงครับ" สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กแสดงความเห็นถึงกรณีรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ไม่ยอมเข้าร่วมประชุม ครม.

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ มองปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า เป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองแบบ “อารยะขัดขืน” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ และความเชื่อมั่นของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนกับคำโบราณที่กล่าวว่า “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก”

 

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ จะต้องแก้ปัญหาที่กำลังรุมเร้ารัฐบาล ทั้งทางฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร จนทำให้บรรยากาศทางการเมืองตึงเครียด และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงอนาคตทางการเมืองของรัฐบาล จะเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปอย่างไร” อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช ระบุ

 

“ภูมิใจไทย”ขี่คอลุงตู่

 

สถานการณ์ของรัฐบาล จากที่เจอมรสุม “สภาล่มซ้ำซาก” มาถึง  “7 รมต.ภูมิใจไทย” ขี่คอ “ลุงตู่” รัฐบาลกำลัง "ถูกต้อนเข้ามุม" ให้ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง 

 

สถานการณ์การเมืองตอนนี้ “ลุงตู่” มีทางเลือกอยู่ 3 แนวทาง หรือ “3 ย.” คือ "ยื้อ-ยึด-ยุบ" พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกทางไหน แต่แนวทางที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะเป็นไปได้คือ "ย.ยุบ"  คือ “ยุบสภา” มากที่สุด 

 

ทั้ง "3 ย." ล้วนเกี่ยวพันกับสถานะของรัฐบาล ปรากฏการณ์ของพรรคพลังประชารัฐล่าสุด เป็นตัวเร่งเกมให้ไปสู่ "3 ย."

 

-19 ม.ค. 65 : มีมติขับ 21 ส.ส.ออกจากพรรคพลังประชารัฐ

 

-25 ม.ค. 65 : พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่งตั้ง สันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคและผอ.พรรค นั่งรักษาการเลขาธิการพรรค แต่งตั้ง สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รักษาการนายทะเบียนพรรค จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่

 

-7 ก.พ. 65 : พล.อ.ประวิตร เรียกประชุมพรรค มีการแต่งตั้งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เข้ามาร่วมในพลังประชารัฐ คืน ชาติชาย พยุหนาวีชัย อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน อดีตรองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย 

 

ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวออกไป และเจ้าตัวออกมาปฏิเสธว่า เป็นหนึ่งในแคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังเกิดมรสุม คุณปรีดี ดาวฉาย อดีตรมว.คลัง

                                             22 พ.ค. 65 เส้นตาย “บิ๊กตู่” ลุยไฟ-ยุบสภา

เป็นสัญญาณส่งผ่านมาว่า โควตาเก้าอี้รัฐมนตรีจะมีการเปลี่ยนแปลงและเสนอความชอบธรรมไปที่นายกรัฐมนตรีพิจารณาทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ เก้าอี้ที่อ่อนไหวที่สุดคือ 1. กระทรวงพลังงาน 2. กระทรวงการคลัง 3. กระทรวงแรงงาน

 

มีการปรับเปลี่ยนภายในพรรคพลังประชารัฐ ผอ.พรรคคนใหม่ คือ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, รองหัวหน้าพรรค คือ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส และมีการสั่งให้ส.ส.ทั้งหมดของพรรคพลังประชารัฐ ไปจัดเตรียมการเลือกตั้งและจัดหาผู้ลงสมัครเลือกตั้งอีก 100 เขต จาก 400 เขต ภายในเวลา 1 เดือน
สถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐ เป็นการบ่งบอกว่าภายในยังมีปัญหาในกระบวนการจัดการ

 

กลยุทธ์ยื้ออยู่ต่อ 

 

ส่วนกลยุทธ์ "ยื้อ" คือยื้ออยู่ต่อ ประกอบด้วย

 

1. ขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญพิจารณา 2 พ.ร.ป. คือ
พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎธ (ฉบับที่..) พ.ศ.... และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ...

 

2. เจรจา "พล.อ.ประวิตร" คุมเสียงในพรรคพปชร. + พรรคเศรษฐกิจไทย

 

3. เจรจาปรับครม. + เพิ่มหน้าที่ภารกิจให้ "พล.อ.ประวิตร"

 

4. เจรจาพรรคร่วมรัฐบาล กำหนดท่าทีในการทำงาน + ห้ามแกว่งหลังเกิดปรากฏการณ์คนแดนไกลเจาะพรรคร่วมรัฐบาล

 

5. เรียก 6 รัฐมนตรี หารือท่าที + คุมเสียงส.ส.

 

6. เปิดทางลูกทีมดันพรรคใหม่ + กดดัน พปชร. + หาทางออก

 

7. เปิดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ นายกเมืองพัทยา

 

ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ไปอยู่ในพรรคที่ตนเองสร้างขึ้นมา คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ

ดร.เสกสกล ระบุเหตุผลว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ จะเป็นพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกสมัย ถ้าคิดว่าพรรคที่อยู่ไม่มีความสุข หรือถูกกดดัน วางแผนเล่นเกมการเมืองกับท่านตลอดเวลา อย่าคิดว่าคนอย่างนายกฯ ไม่มีที่ไปหรือไม่มีที่ยืน ยังมีพรรคการเมืองใหม่อีกหลายพรรคที่พร้อมสนับสนุนนายกฯ ผมในฐานะที่อยู่เคียงข้างนายกฯ มาตลอดจะไม่ยอมให้นายกฯโดด เดี่ยวเดียวดายแน่นอน

 

ส่วน กลยุทธ์ "ยึด" คือ


- เรียก 6 รมต.หารือ


- มอบ Mr.P + Mr.ฉ เร่งตั้งพรรคใหม่


- เปิดทาง ดร.เสกสกล ไปร่วมไทยสร้างชาติ เพื่อกดดัน


- พล.อ.ประยุทธ์ นั่งประธานที่ปรึกษาพรรค + หัวหน้าพรรค


- สร้างความเป็น ยูนิตี้ ของพปชร. + สกัดคนไหลออก


22 พ.ค.65 เส้นตายยุบสภา


 ด้านกลยุทธ์ "ยุบ" คือ ยุบสภา ประกอบด้วย


-ให้กกต.ประกาศเขตเลือกตั้ง 400 เขต


-ให้กกต. เร่งเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. + พัทยา


- เร่งโยกย้ายตำรวจ ข้าราชการ ทหาร ในช่วงเมษายน


-จัดทีมองครักษ์พิทักษ์ "พล.อ.ประยุทธ์"


-ให้ใช้พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ไปพลางก่อน


-เจรจา สุเทพ เทือกสุบรรณ + พรรครวมพลังประชาชาติไทย+พรรคไทยชนะ


22 พ.ค.2565 ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสภาสมัยสามัยครั้งที่ 2 และ “ฝ่ายค้าน” สามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซักฟอก) แบบลงมติได้ จะเป็นตัวชี้ชะตา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า จะเดินหน้า “ลุยไฟ” หรือ “ยุบสภา” ไปวัดกันที่การเลือกตั้งกันใหม่  

 

นัยถอยหลังอีกไม่นาน จะได้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าว