นับถอยหลัง "ยุบสภา"

11 ก.พ. 2565 | 02:09 น.

สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ต้องบอกว่า “สุ่มเสี่ยง” ที่จะนำไปสู่การ “ยุบสภา” เป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเกิดเหตุสภาล่มซ้ำซากจากปัญหาเสียงปริ่มน้ำแล้ว ยังมีปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล จนนำไปสู่เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน

สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ต้องบอกว่า “สุ่มเสี่ยง” ที่จะนำไปสู่การ “ยุบสภา” เป็นอย่างยิ่ง

 

เพราะนอกจาก “สภาล่มซํ้าซาก” ที่รัฐบาลยังหาหนทางแก้ไขไม่ได้แล้ว ยังมาเกิดปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล ที่เรียกว่าเกิด “สึนามิทางการเมือง” ขึ้น เมื่อพรรคภูมิใจไทย โดย 7 รัฐมนตรี ที่นำทีมโดย อนุทิน ชาญวีรกูล บอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

ปรากฏการณ์นี้ส่งแรงกระแทกไปที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เต็มๆ  

การเล่นใหญ่ครั้งแรกในประวัติ ศาสตร์ อาจจะไม่หยุดอยู่แค่การ “บอยคอต” เพราะมีคำถามที่ตามมาจะนำไปสู่การ “ถอนตัว” จากพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ 

 

เพราะถ้า “พรรคภูมิใจไทย” ประกาศบอยคอตไม่เข้าร่วมประชุม ครม. โดยให้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็น ตัวตั้ง ถ้าในรอบต่อมาครม.อนุมัติ พรรคภูมิใจไทยจะทำอย่างไร

บทสะท้อนภท.บอยคอตครม.

 

การที่ 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย “บอยคอต” ไม่เข้าร่วมประชุม ครม. สะท้อนอะไรได้บ้าง


    • สะท้อน “ความเป็นผู้นำ” นายกรัฐมนตรี


    • สะท้อนความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล


    • สะท้อน “มารยาท”คณะรัฐมนตรี


    • สะท้อน “ภูมิใจไทย”พร้อมแตกหัก


    • สะท้อน “เรื่องปฏิรูป” หลังจากนี้รัฐบาลไม่กล้า


 และทำไม “พรรคภูมิใจไทย” ถึงกล้าบอยคอต ก็สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้


    • จังหวะเวลาเหมาะสม“รัฐบาลอ่อนแอ”


    • “3 ป.” ไม่กลมเกลียวกัน


    • มี “ดีลลับ” ล่วงหน้าทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว


    • ภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่ “พร้อมเลือกตั้งตลอดเวลา”


    • ปลดล็อก “กัญชา” สำเร็จ ตอบโจทย์ทางการเมือง


    • วาทะกรรมต่อสู้ให้ประชาชน-ผู้สนับสนุน เพิ่มคะแนนนิยมพรรค


    • รู้ว่า “59 เสียง” ของภูมิใจไทยชี้ชะตารัฐบาล

 

“ภูมิใจไทย”พร้อมเลือกตั้ง


นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการเข้าสู่สนามเลือกตั้งในอนาคตว่า มั่นใจทุกพรรคพร้อม เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย เพราะเมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ทุกคนต้องคิดเรื่องการเลือกตั้ง ต้องมีการเตรียมนโยบาย เพื่อสื่อสารไปยังประชาชน และต้องเร่งผลิต นโยบายที่ทำให้ประชาชนและประเทศพลิกฟื้นได้ทุกมิติ 

 

“ถ้าไม่พร้อมจะไม่มีนโยบายใดไปขายให้ประชาชน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยทำได้ครบตามที่พูดไว้” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยระบุ

                                                       นับถอยหลัง "ยุบสภา"

ปัจจัยรัฐบาลไปต่อยาก


    ทั้งนี้ เมื่อหันไปดู “ปัจจัย” ที่ทำให้ “รัฐบาลบิ๊กตู่” จะไปไม่รอด ก็พบว่า มีหลายปัจจัย ดังนี้


    • เกิดความแตกแยกในพลังประชารัฐ


    • เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล


    • การเมืองไม่มีเสถียรภาพ


    • ราคานํ้ามันแพง และเศรษฐกิจตกตํ่า


    • การเร่งเครื่องกดดันจากทักษิณ ชินวัตร และ ฝ่ายค้าน


ขณะที่ตัวแปรที่จะนำไปสู่การล้มรัฐบาลได้นั้น ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาล ที่มีส.ส. อยู่ในมือ 59 เสียง พรรคเศรษฐกิจไทย ของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 18 เสียง กลุ่มพรรคเล็ก 14  เสียง รวมมี 91 เสียง ซึ่งเสียงขนาดนี้ หากมีการโหวตวาระสำคัญแล้ว เกิดลงคะแนนตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาล “รัฐบาลบิ๊กตู่” ก็ไปไม่รอด

 

จับตายุบสภาเลือกตั้งก.ค.65


หันไปดูช่วงเวลาที่เป็นเส้นตายของ “บิ๊กตู่” ให้มีการ “ยุบสภา” น่าจะเป็นก่อนการยื่น “ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ” ของฝ่ายค้าน 


โดยสภาสมัยปัจจุบันจะปิดประชุมวันที่ 28 ก.พ.นี้ และไปเปิดสภาสมัยสามัญอีกทีระหว่างวันที่ 22 พ.ค.-18 ก.ย. 2565 ซึ่งเมื่อเปิดสภาแล้ว “ฝ่ายค้าน” คงจะเร่งยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาล เพื่อเป็นการบีบให้นายกฯ “ยุบสภา” 


เพราะหาก “นายกฯ” เดินหน้าเข้าสู่แดนประหารในศึกซักฟอก ก็สุ่มเสี่ยงที่จะ “แพ้โหวต” กลางสภา เพราะรัฐบาลไร้เสถียรภาพ อีกทั้งเสียง รัฐบาลอยู่ในภาวะ “ปริ่มนํ้า” 

 

ดังนั้น จึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่ “นายกฯ” อาจจะยุบสภาก่อนเปิดสภาในวันที่ 22 พ.ค. 2565 เพราะหากไม่ยุบก่อน เดินหน้าไปสู้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อแพ้โหวตกลางสภาขึ้นมา เส้นทางการเมืองก็สะดุดหยุดลงทันที 

 

สมมติหาก “บิ๊กตู่” ยุบสภาก่อน 22 พ.ค. 2565 แม้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับยังไม่เสร็จ ก็สามารถออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อใช้ในการเลือกตั้งได้ 

 

ขณะที่ช่วงเวลาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปใหม่ หลังยุบสภาก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน ดังนั้น ช่วงเวลาของการเลือกตั้ง น่าจะเป็นประมาณเดือน ก.ค. 2565 

 

สถานการณ์ของบิ๊กตู่ และเสถียรภาพของรัฐบาลที่เป็นอยู่ น่าจะเริ่มนับถอยหลังสู่การยุบสภาได้แล้ว...


+++++


สภาล่มซํ้าซาก 17 ครั้งแล้ว

 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 ในช่วงบ่ายเป็นการพิจารณารับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 

 

หลังที่ประชุมมีการรับทราบวาระดังกล่าวปรากฏว่า นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นขอตรวจสอบองค์ประชุม เนื่องจากสงสัยว่าสมาชิกอยู่ครบองค์ประชุมหรือไม่ ทำให้นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ต้องเสนอญัตติให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ

 

นายชวน สอบถามขึ้นว่า ผู้ควบคุมเสียงไม่คุยกันหน่อยหรือ เพราะวาระพิจารณารายงานไม่ต้องลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ จากนั้นได้สอบถามผู้เสนอให้นับองค์ประชุมว่าจะยืนยันหรือไม่ ซึ่งได้รับคำยืนยันว่าให้ดำเนินการ

 

ทำให้ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อาทิ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล สอบถามว่า การขอนับองค์ประชุมถือว่าเป็นญัตติหรือไม่ และการเสนอนับองค์ประชุมเพื่อป่วนสภา ถือว่าทำลายความมั่นคงสภา ผิดรัฐธรรมนูญ และผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 ระหว่างนั้น นายพิเชษฐ์ พูดแทรกเพราะต้อง การประท้วง ทำให้นายนิโรธ กล่าวว่า “เอาแบบมีมารยาทหน่อยในสภาฯ อย่าจริยธรรมตกตํ่าให้มากนัก”

 

อย่างไรก็ตาม นายชวน วินิจฉัยว่าการเสนอนับองค์ประชุมเป็นสิทธิของสมาชิกที่จะทำได้ จากนั้นบรรยากาศอย่างเป็นไปอย่างวุ่นวายมีการสลับกันประท้วงไปมา ต่อมานายชวน ได้ตัดบทปิดการแสดงตน ปรากฏผู้ที่กดบัตรแสดงตน 227 คนไม่ครบองค์ประชุม จึงขอปิดการประชุมและถือว่าเป็นการประชุมล่มครั้งที่ 17 แล้ว

 

ทั้งนี้พบว่า มี ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน แสดงตนเพียง 15 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 5 คน ได้แก่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส. เชียงราย ที่เสนอให้นับองค์ประชุม, นายนพพล เหลืองทองนารา, นายธีระ ไตรสรณกุล, นายดะนัย มะหิพันธ์ และนายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์

 

พรรคก้าวไกล 5 คน ได้แก่ นายเกษมสันต์ มีทิพย์, นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม., นายพีรเดช คำสมุทร และนายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย 

 

พรรคเสรีรวมไทย แสดงตน 2 คน คือ นายประสงค์ บูรณ์พงศ์ และนพ.เรวัต วิศรุตเวช, พรรคประชาชาติ 2 คน ได้แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายอนุมัติ ซูสารอ, พรรคเพื่อชาติ 1 คน คือนายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

ทั้งนี้ในส่วนของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเศษฐกิจใหม่ ที่สังกัดขั้วฝ่ายค้าน ได้แสดงตนเป็นองค์ประชุมด้วย

 

ส่วนส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล มีผู้แสดงตน 212 คน ไม่แสดงตน 55 คน โดยส่วนของส.ส.พรรครัฐบาลที่ไม่แสดงตน แบ่งเป็นพลังประชารัฐ 21 คน, พรรคภูมิใจไทย 8 คน อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อรองนายกฯและรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม และรองประธานสภาฯคนที่ 2, พรรคประชาธิปัตย์ 14 คน

 

พรรคเศรษฐกิจไทย 3 คน ได้แก่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ที่ปรากฎภาพเข้าร่วมประชุมสภาฯ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส. กำแพงเพชร และนายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 2 คน

 

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเศรษฐกิจใหม่, พรรคพลังท้องถิ่นไท, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย, พรรคไทรักธรรม และ พรรคเพื่อชาติไทย อย่างละ 1 คน