เตรียมเลือกตั้ง ส.ส. หลังกกต.ประกาศแบ่งเขต 400 ที่นั่ง

04 ก.พ. 2565 | 01:30 น.

การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต. อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าอาจมีการยุบสภา และมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 2565 นี้ ก็เป็นไปได้

“การเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ปีแรก หากมีอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ ก็ตาม และผู้ที่มีอำนาจในการยุบสภา คือ นายกรัฐมนตรีคนเดียว ดังนั้น เมื่อเรามาร่วมรัฐบาลเราก็ต้องพยายามอย่าให้มีอุบัติเหตุทางการเมือง แต่ถ้าไปไม่ได้เราก็ต้องพร้อม ก็มีเท่านี้” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข  ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. 400 เขตแล้ว พร้อมเลือกตั้งหรือไม่ 

 

“มีใครที่มาทำการเมืองแล้วไม่เคยผ่านการเลือกตั้งบ้าง ไม่เคยผ่านการยุบสภาบ้าง ยกเว้นพรรคใหม่ๆ ส่วนใหญ่พรรคที่อยู่ในเวทีการเมืองมานานแล้วก็ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วทั้งนั้น ครบเทอมก็ยุบสภา รัฐประหารก็มี สุดท้ายถึงเวลาก็เลือกตั้ง ขอย้ำว่าพรรคภูมิใจไทยไม่มีปัญหา” นายอนุทิน ระบุ

ส่วนเมื่อมีการ “ยุบสภา” พรรคภูมิใจไทยสามารถส่งผู้สมัครได้ตามขั้นตอนของกฎหมายใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า สมมติมีการยุบสภา กลับมาเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งพวกเราก็เคยผ่านการเลือกตั้งแบบ 2 ใบมาแล้ว ปี 2540 หรือ ปี 2550 ก็เป็นการเลือกตั้งแบบ 2 ใบ เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นใบเดียวเมื่อปี 2560 แล้วปี 2564 ก็กลับมา 2 ใบเหมือนเดิมอีก ดังนั้นโนพลอบแบลม ไม่มีปัญหาอะไร 

 

กกต.แบ่งส.ส.400เขต

 

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2565 นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการกกต. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกาศจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์และการเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. หลังสำนักทะเบียนกลางกระทรวงมหาดไทย ส่งประกาศสำนักทะเบียนกลางเรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 มาให้ 

โดยสำนักงาน กกต.ได้คำนวณจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อให้สำนักงานกกต. ประจำจังหวัด และ กทม. ที่จำนวนส.ส.แต่ละจังหวัดจะพึงมีเกิน 1 คน เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 รูปแบบ และเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับจะได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป 


สำหรับหลักเกณฑ์ในการคำนวณจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 โดยจำนวนราษฎรทั้งประเทศ 66,171,439 คน และกฎหมายกำหนดให้มีส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน กกต.คำนวณจำนวนราษฎรเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คน อยู่ที่ 165,428.5975 คน 

                                        เตรียมเลือกตั้ง ส.ส. หลังกกต.ประกาศแบ่งเขต 400 ที่นั่ง       


เปิดจำนวนส.ส.แต่ละจังหวัด


สำหรับจังหวัดที่มีส.ส.มากสุดยังคงเป็น กรุงเทพมหานคร 33 คน ตามมาด้วย นครราชสีมา  16 คน ส่วนที่มีส.ส. 11 คน มี 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี, จังหวัดที่มีส.ส. 10 คนมี 2 จังหวัด คือ ชลบุรี บุรีรัมย์, จังหวัดที่มีส.ส.9 คนมี 4 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช ศรีสะเกษ สงขลา อุดรธานี

 

จังหวัดที่มีส.ส. 8 คนมี 5 จังหวัด คือ เชียงราย นนทบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ  สุรินทร์, ที่มีส.ส 7 คน มี 4 จังหวัด คือ ชัยภูมิ ปทุมธานี สกลนคร สุราษฎร์ธานี, ที่มีส.ส. 6 คนมี 5 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ นครปฐม นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ มหาสารคาม, ที่มีส.ส. 5 คนมี 7 จังหวัด คือ กาญจนบุรี นราธิวาส พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ระยอง ราชบุรี สุพรรณบุรี

 

ส่วนที่มีส.ส. 4 คน มี 12 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ตรัง ตาก นครพนม ปัตตานี ลพบุรี ลำปาง เลย สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย, ที่มีส.ส .3 คนมี 19 จังหวัด คือ กระบี่ จันทบุรี ชุมพร น่าน บึงกาฬ ประจวบปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต ยโสธร ยะลา สระแก้ว หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์

 

จังหวัดที่มีส.ส. 2 คน มี 10 จังหวัด คือ ชัยนาท นครนายก พังงา มุกดาหารแม่ฮ่องสอน ลำพูน สตูล อ่างทองอำนาจเจริญ อุทยธานี และ ที่มีส.ส.1 คนมี 4 จังหวัด คือ ตราด ระนอง สมุทรสงคราม และ สิงห์บุรี

 

ทั้งนี้หากเป็นเป็นรายภาค ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวม 26 จังหวัด มีส.ส. 139 คน ภาคใต้ 14 จังหวัด มีส.ส.58 คน ภาคเหนือ 16 จังหวัดมีส.ส. 71 คน และ ภาคอีสาน 20 จังหวัด มีส.ส 132 คน

 

ส่อเลือกตั้งเร็ว

 

มีข้อน่าสังเกตว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 24 มี.ค.66 ซึ่งจะต้องใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ปี 2565 ที่โดยปกติแล้วสำนักทะเบียนกลางกระทรวงมหาดไทย จะประกาศในช่วงต้นเดือนม.ค.ของปีถัดมา เป็นฐานในการคิดคำนวณจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี 


แต่การที่กกต.ใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ปี 2564 เป็นฐานในการคิดคำนวณจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และสั่งให้จังหวัดเตรียมเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งคู่ขนานไปกับการที่รัฐสภา จะพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง หากแล้วเสร็จและประกาศให้มีผลใช้บังคับ ก็สามารถจัดเลือกตั้งได้ทันที 
กรณีดังกล่าว จึงอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าอาจมีการ “ยุบสภา” และมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 2565 นี้ก็เป็นไปได้


ยิ่งสถานการณ์ภายใน “รัฐบาลลุงตู่” เสถียรภาพ “ง่อนแง่น” สภาล่มก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อเปิดสภาสมัยสามัญครั้งที่ 2 ในวันที่ 22 พ.ค.2565 ซึ่งฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติได้ ก็ไม่รู้ว่า “นายกฯลุงตู่” จะ “ชิงยุบสภา” หนีการอภิปรายก่อนหรือไม่ 

 

เห็นการเตรียมการของ กกต.แล้ว หากจะ “นับถอยหลัง” สู่การเลือกตั้งส.ส.ครั้งใหญ่ ก็คงจะเริ่มได้แล้ว...