สตช.ยกเคส“หมอกระต่าย”เข้มวินัยจราจรเพิ่มโทษปรับ-ตัดแต้ม-พักใบขับขี่

24 ม.ค. 2565 | 11:11 น.

สตช.ยกเคสความสูญเสีย “หมอกระต่าย” เร่งยกระดับบังคับใช้กฎหมาย เสนอแก้ร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก ฝ่าฝืนทางม้าลาย ปรับ 4 พัน  เดินหน้าระบบตัดแต้ม เข้มกวดขันวินัย ปรับปรุงทางม้าลาย-ยกเลิกในจุดที่ไม่เหมาะสม

วันที่ 24 มกราคม 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณี ส.ต.ต.ซิ่งบิ๊กไบค์ชนแพทย์หญิงเสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลาย ว่า ในเรื่องนี้อยากให้ประชาชนได้สบายใจว่า ตำรวจจะตรงไปตรงมาในการทำคดี ความผิดที่เกิดขึ้นทุกคดีถือว่าเป็นความผิดที่ทุกคนให้ความสนใจ ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะทางผบช.น. ได้มอบหมายให้รองผบก.ที่ดูแลงานสอบสวนของบก.น.1 ลงไปดูแลเอาผิดในทุกข้อหาที่ได้กระทำผิด 

 

เช่น การขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร การขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย ฯลฯ ส่วนยานพาหนะของส.ต.ต.ได้รับรายงานยืนยันว่าเป็นยานพาหนะของผู้ขับขี่จริง ไม่ใช่ของกลางแต่อย่างใด ทราบว่าเป็นการซื้อรถมือสองมา

ส่วนจะดูแลความปลอดภัยและกวดขันวินัยจราจรในเขตเมืองอย่างไรบ้าง เพราะมีทางม้าลายอยู่หลายที่หลายแห่ง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลในสมัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เคยมีนโยบายให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร หน่วยงานต่างๆ ร่วมหารือกันในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของทางม้าลายอย่างจริงจัง 

 

โดยให้แต่ละพื้นที่ดำเนินการและสำรวจด้วยว่าทางม้าลายตรงไหนที่ยังไม่เหมาะสม หรือยังต้องปรับปรุงให้สภาพดีขึ้น เช่น ทาสีใหม่, ติดกล้องซีซีทีวี, เพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ, การติดตั้งป้าย ก็ขอให้ดำเนินการ ซึ่งจุดที่เกิดเหตุที่พญาไท ในช่วงนั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะพิจารณายกเลิกไปหรือไม่ เพราะยังใช้อยู่และมีป้าย 
แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว พบว่า ก่อนถึงทางม้าลายเป็นแยกพญาไท ถ้าไฟเขียวแล้วคนจะเร่งใช้ความเร็วกัน มีระยะห่างประมาณ 120 เมตร ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับการที่จะเป็นทางม้าลาย อาจจะต้องพิจารณาว่าควรจะต้องหาจุดที่เป็นสะพานลอย หากทำไม่ได้จริงๆ ก็ควรจะมีสัญญาณไฟ หรือจุดชะลอความเร็วต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย 

จากเหตุการณ์นี้  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการมาที่ตนให้รีบยกระดับในการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องทางม้าลายให้เข้มข้นขึ้น และให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม แขวงการทางต่างๆ มาช่วยกันสำรวจในแต่ละจังหวัดว่า จุดไหนควรจะยกเลิก หรือจุดไหนควรจะปรับปรุง เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง

 

นอกจากเรื่องทางม้าลาย  สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอแก้กฎหมาย ร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่..) พ.ศ...... (หรือฉบับที่ 13) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ 2 สภา คาดว่าจะมีการลงมติกันเดือนหน้านี้ หลังจากนั้นอีก 120 วันถึงจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอัตราโทษการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย) เดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 4,000 บาท

 

รองผบ.ตร. กล่าวว่า ทาง ตร.มีแนวโน้มที่จะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) หลังจากที่มีการประชุม ในเดือน ก.พ.หรือต้นเดือน มี.ค. ถ้าไม่มีอะไรติดขัดอาจมีการเซ็นสัญญาได้ นอกจากจะปรับไม่เกิน 4,000 บาท เราจะมีการตัดคะแนนความประพฤติด้วย มี 12 คะแนนต่อปี ข้อหาฝ่าฝืนจะตัด 1 คะแนน เมาแล้วขับจะโดนตัด 4 คะแนน หากโดนตัดครบ 12 คะแนนก็จะต้องพักใบอนุญาตขับรถ 3 เดือน เป็นหลักเกณฑ์ที่จะออกต่อไป

 

เมื่อถามว่าโซเชียลมีดราม่าหมอกระต่ายกลายเป็นศพนิรนาม 2 ชั่วโมง จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ความกระจ่างอย่างไรบ้าง พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ได้สั่งให้ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น. ให้มีการแถลงข่าวชี้แจงและทำความเข้าใจให้ชัดเจนในข้อกระจ่างที่สังคมสงสัย ว่ามีการดำเนินการอย่างจริงจังทุกข้อหา และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไม่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้การฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย) ยังไม่มีการเก็บรวบรวมเป็นสถิติว่าเกิดขึ้นมาแล้วจำนวนเท่าไหร่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในข้อหาขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฎในทาง หรือที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ทราบ (ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ) ซึ่งมีหลายกรณี โดยในปี พ.ศ.2564 มีการฝ่าฝืนสัญญาณจราจร จำนวนทั้งสิ้น 40,688 ราย หลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะพิจารณาการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ละเอียดขึ้น โดยจะระบุการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรแยกย่อยตามลักษณะต่างๆ