"อลงกรณ์" ติดตามโครงการพระราชดำริ "ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ สกลนคร"

17 มิ.ย. 2565 | 10:00 น.

ที่ปรึกษารมว.เกษตร "อลงกรณ์ พลบุตร" ติดตาม "โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" จ.สกลนคร และแนวทางการพัฒนาการเกษตร ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แผนงานการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรกรรม 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการดำเนินโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร

 

ซึ่งโครงการดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชดำริเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2535 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดียกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

 

ได้พระราชทานพระราชดำริ ความว่า “…เนื่องจากเดิมน้ำในลำห้วยน้ำพุง ไหลลงลำนำก่ำด้านติดกับหนองหารทางหนึ่ง และไหลแยกออกไปทางด้านทิศตะวันตก ลงหนองหารอีกทางหนึ่ง แต่ปัจจุบันห้วยน้ำพุงด้านที่ลงลำน้ำก่ำมีสภาพตื้นเขิน เป็นเหตุให้ในช่วงฤดูฝน น้ำจากห้วยน้ำพุงไหลออกทางด้านลำห้วยสาขาต่าง ๆ ทางฝั่งขวา (บริเวณด้านเขตติดต่อระหว่างอำเภอเมืองสกลนครกับอำเภอโคกศรีสุพรรณไปลงลำน้ำก่ำ ซึ่งมีระดับสูงเช่นเดียวกัน

 

จึงเกิดสภาพน้ำเอ่อขึ้นท่วมพื้นที่เพาะปลูก จนเกิดความเสียหายแก่ผลผลิตของราษฎร จึงควรพิจารณาดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของห้วยน้ำพุง อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร…”  

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

และในปี พ.ศ. 2560 จังหวัดสกลนครประสบปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมพื้นที่ทั้ง 18 อำเภอ สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งการบรรเทาปัญหาอุกภัยจำเป็นต้องลดปริมาณน้ำหลากที่ไหลเข้าสู่ที่ราบตอนล่างบริเวณหนองหาร การปรับปรุงเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของลำน้ำสายต่าง ๆ กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการศึกษาโครงการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2556 

 

ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 มีลักษณะโครงการ ได้แก่

  1. ประตูระบายน้ำชนิดบานตรงขนาด 8.0 x 7.0 เมตร จำนวน 5 ช่อง อัตราการระบายน้ำ 550 ลบ.ม./วินาที
  2. คลองผันน้ำ จำนวน 3 สาย ความยาวรวม 39.66 กม.
  3. คลองส่งน้ำ จำนวน 1 สาย ความยาว 8.80 กม.
  4. ระบบส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 78,358 ไร่

มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 8 ปี (พ.ศ. 2562 – 2569) หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาน้ำท่วมในเขตอำเภอเมืองสกลนคร และอำเภอโคกศรีสุพรรณ ช่วยเหลือราษฎรเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรครอบคลุมพื้นที่ 78,358 ไร่ 10,857 ครัวเรือน 53 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลตองโขบ ตำบลเหล่าโพนค้อ ตำบลด่านม่วงคำ และตำบลแมดนาท่ม อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร 

 

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำแนวทางการพัฒนาการเกษตร ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แผนงานการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ ได้รับการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ด้านการเกษตร มีอาชีพ มีรายได้ และตระหนักถึงการทำการเกษตรโดยไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ควบคู่กับการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ 

"อลงกรณ์" ติดตามโครงการพระราชดำริ "ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ สกลนคร"
 

ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์พื้นที่และชุมชน จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร และพัฒนาการรวมกลุ่มของชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักเลือกชนิดพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต หรือเทคโนโลยีการผลิตพืชเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจการใช้ปัจจัยการผลิต

 

ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและต่อตัวเกษตรกรเอง และเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ และมีจิตสำนึก ตลอดจนมีส่วนในการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม 

"อลงกรณ์" ติดตามโครงการพระราชดำริ "ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ สกลนคร"

ทั้งนี้ มีกิจกรรมการดำเนินการ ได้แก่ การวิเคราะห์และเก็บข้อมูลพื้นที่และชุมชน การถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการปลูกพืชให้เหมาะสมในเขตชลประทาน จัดตั้งแปลงเรียนรู้แปลงสาธิตทางด้านการเกษตร และติดตามช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และประเมินผลการดำเนินงาน อีกทั้งยังมีแผนการดำเนินงานในกิจกรรมเพิ่มเติมตามความต้องการของเกษตรกร ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

"อลงกรณ์" ติดตามโครงการพระราชดำริ "ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ สกลนคร"

  1. โครงการส่งเสริมการปลูกถั่วลิสงหลังฤดูทำนา ในพื้นที่โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง – น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่เป้าหมาย 100 ไร่
  2. โครงการขยายผลแปลงเรียนรู้ แปลงสาธิตเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง – น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 8 แปลง เกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 8 ราย