อุตตม สาวนายน : 2565 ปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ สร้างความหวังให้คนไทย

26 ธ.ค. 2564 | 07:58 น.

“ดร.อุตตม สาวนายน”ชี้ปี 2564 คนไทยเผชิญอุปสรรคท่ามกลางมรสุม ส่วนปี 2565 ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อผ่านออกจากมรสุม เผยท่ามกลางวิกฤติประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากมาย เชิญชวนคนไทยร่วมแสวงหาความหวังและอนาคตประเทศไปด้วยกัน

วันนี้(26 ธ.ค.64) ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง และประธานที่ปรึกษาสถาบันอนาคตศึกษาอนาคตไทยศึกษา (ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์) ได้โพสต์เพซบุ๊ก ดร.อุตตม สาวนายน เกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปี 2564 ที่ผ่านมา และสิ่งที่จะต้องเผชิญในปี 2565 ในรูปแบบถาม-ตอบ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้

 

ถาม : มองปี 2564 ที่กำลังจะผ่านไปอย่างไร?

 

ปี 2564 นี่ก็จะหมดปีแล้ว ผมต้องใช้คำว่า เป็นปีที่ประเทศไทย คนไทย ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเรื่องหลัก ๆ ที่เราต้องเผชิญกัน ก็หนีไม่พ้น เรื่องแรกก็คือในเรื่องของความปลอดภัยของชีวิตของพวกเราประชาชน แล้วก็โยงไปถึงว่า ความเป็นอยู่ ก็คือปากท้อง ทั้งเรื่องของสุขภาพ เรื่องของความปลอดภัยของเรา 

ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องของความมั่นคงของชีวิต เพราะกระทบเศรษฐกิจ การทำมาหากิน ฉะนั้นปี 2564 เป็นภาพนี้ทั้งปี พวกเราคนไทยได้เรียนรู้ไปด้วยกันหลายอย่าง เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เกิดความท้าทาย เกิดอุปสรรค ปัญหาหลายๆ อย่าง ในหลากหลายมิติเช่นนี้ มีหลายๆ อย่างที่อาจจะเรียกได้ว่าทำไม่เต็มที่ ยังพลาดไปบ้าง หลายๆ อย่างก็พยายามจะแก้ไข ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ นี่คือปี 2564 ที่ผมเห็นภาพ

 

ถาม : แนวโน้มปี 2565 อยากเห็นอะไร?

 

ส่วนปี 2565 ผมว่าความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนเลย เดิมเรารู้สึกว่า มีความรู้สึกดี ๆ ขึ้นนิดหนึ่งว่าโควิด เดลตา เริ่มจะผ่อน วันนี้เห็นแล้วว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ว่ามันจะกลายพันธุ์ ก็เป็นไปได้แล้ว โอมิครอนมา แต่ผมไม่อยากให้ตกใจ panic คงไม่ใช่ แต่ก็ต้องถือว่าปี 2565 มันจะเป็นอีกปีหนึ่งซึ่งมีความท้าทายอย่างมาก ๆ เกิดขึ้น

เรื่องแรกก็คือ ยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตอยู่ดี การบริหารจัดการโควิดจะทำกันอย่างไร เรามีบทเรียนแล้วนะครับ บทเรียนมากมาย ทำอย่างไร เช่น วัคซีนเข้าถึงคน แทนที่คนจะต้องเข้ามาหาวัคซีน จะทำกันอย่างไร แล้ววันนี้มันกลายพันธุ์แล้ว 

 

ส่วนเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง อันนี้ผมว่า ในความเห็นส่วนตัว จะเป็นประเด็นสำคัญทีเดียว ปี 2564 นี้ เรื่องของเศรษฐกิจก็หนักหนาสาหัสอยู่ ปี 2565 ดูเหมือนจะมีโอกาสอยู่ ไม่ใช่ทุกอย่างเลวร้ายไปหมด แต่เราก็ต้องมีความรัดกุมว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นได้หลากหลายเหมือนกัน 

 

ถ้าโควิดรุนแรง ภาพก็อาจจะเป็นภาพหนึ่งที่เราต้องเผชิญปัญหา ถ้ามันเพลาลงหน่อย โชคดี ก็อาจจะเป็นอีกภาพหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ที่จะเป็นประเด็นสำคัญที่คนไทยจะต้องเผชิญและจะต้องพยายามจัดการให้ดีที่สุดจากบทเรียนที่เรามี และการมองไปข้างให้มันยาวไว้นิดหนึ่ง ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2565 ที่จะมาถึง

                            

 

ถาม : 2565 พวกเราควรจะรับมืออย่างไร?

 

ในปี 2565 อย่างที่ผมพูดไปเมื่อสักครู่ว่า สิ่งที่เราน่าจะต้องทำกันก็คือ ต้องมองไปว่าอะไรที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ทุกคนอยากจะหวังว่า 2565 จะได้ลืมตาอ้าปาก มีโอกาสได้ฟื้นฟู ก็ต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้เป็นความจริงขึ้นมาได้ รัฐบาลกับเอกชน วันนี้ต้องเรียกว่าสุด ๆ เหมือนกัน ถ้าพูดกันตรง ๆ ว่า ในแง่ของปากท้อง รายได้ถูกกระทบ ค่าใช้จ่ายก็ยังยันอยู่ 

 

แต่วันนี้เหตุการณ์มันพลิกผันไปเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นในความเห็นของผม จำเป็นต้องมีมาตรการ มีแนวทางที่จะดูแลประชาชน ดูแลผู้ประกอบการ ที่คงจะต้องแตกต่างไปจากของเดิม เพราะเหตุการณ์มันไปแล้วนี่ครับ 

 

วันนี้มันไม่ใช่เรื่องของสภาพคล่องแล้ว มันเป็นเรื่องของการจ้างงาน ทำอย่างไรให้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก เขายังจ้างงานไว้ได้ ถ้าจ้างงานได้ คนก็ยังมีรายได้ รายได้ก็กลับมาจับจ่ายใช้สอย อย่างนี้เป็นมิติอีกมิติหนึ่ง

 

ซึ่งในความเห็นของผม คงจะต้องมาเน้นมากขึ้น นอกเหนือจากการกระตุ้นแบบในช่วงแรก ๆ ในการจับจ่ายใช้สอยบริโภค ก็ยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อยู่นะ แต่ผมคิดว่าต้องทำมากกว่านั้น ในปี 2565 น่าจะต้องมีมาตรการใหม่ ๆ ออกมา

 

ถาม : ปี 2565 คุณอุตตมอยากเห็นอะไรเกิดขึ้น

 

ในขณะที่เราดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือต้องภาครัฐที่มีกำลังทรัพยากร ก็ตัวเงินนี่ล่ะที่จะดูแลงบประมาณ ซึ่งเราก็มีขีดจำกัดอยู่ในการใช้งบประมาณอย่างที่ทราบดี เราใช้ไปแล้วประมาณหนึ่ง ปีหน้า ขณะนี้เองเราก็ได้รับทราบว่ารัฐบาลก็เตรียม 

 

เช่น การกู้เพิ่ม ในส่วนตัวผม คิดว่าประเด็นเป็นอย่างนี้ครับ การจัดหามาซึ่งงบประมาณที่เพียงพอ อย่างไรก็จำเป็น เพราะอย่างไรก็ต้องดูแลประชาชน แต่ว่าประเด็นคือ ได้งบประมาณมาแล้ว ไม่ว่าจะจากการกู้ก็ตาม ใช้อย่างไรให้เหมาะสม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การใช้ในโครงการที่กระตุ้นการบริโภค ก็น่าจะทำต่อเนื่องได้

 

แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นคือการใช้งบประมาณมาเน้นหนักมากขึ้นในเรื่องของการฟื้นฟู ก็คือ อย่างผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กทั้งหลายที่พูดกัน ร้านโชห่วยทั้งหลายทั้งปวง แต่ผมคิดว่าวันนี้เขาคิดกันแล้วว่า ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ จะเอาทุนที่ไหนมาเพื่อให้มันก้าวต่อไปได้ การต่อทุน ต่อยอด ตรงนี้น่าคิดมากว่า 

 

ถ้าเป็นรัฐบาล จะเตรียมการกันอย่างไร การพักหนี้ พักชำระหนี้ นั่นผมถือว่าเป็นการช่วยเฉพาะหน้า แต่นี่เรากำลังพูดถึงว่า ปีหน้ามีโอกาสลืมตาอ้าปาก ฟื้นฟูขึ้นมาได้ ทุนมาจากไหนสำหรับคนตัวเล็ก มันยังจะใช่รูปของเงินกู้อยู่หรือเปล่า หรือมันอาจจะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่หรือไม่ ที่จะช่วยเขา ให้เขาสามารถเดินได้ เราช่วยเขาไม่ให้ล้มแล้วนะ แต่แค่นั้นไม่พอนะ ต้องเดินได้ด้วยนะ ตรงนี้จะทำอย่างไร ? นี่ผมเรียกว่า ท่อนฟื้นฟู ภายใต้งบประมาณที่จำกัด

 

อีกท่อนหนึ่งที่ผมอยากจะเรียน ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก ๆ เลย และต้องทำ ก็คือ จัดงบประมาณเพื่อการลงทุนในพื้นฐานเพื่ออนาคตของประเทศ อันนี้จำเป็นนะครับ เราทราบว่าโลกกำลังเปลี่ยน ไม่มีโควิดโลกก็กำลังเปลี่ยน แล้วถูกเร่งด้วยเทคโนโลยี Disruption มาถึงแล้ว โควิดทำให้ disruption เกิดขึ้นเร็วขึ้นและเข้มข้นขึ้นไปอีก เกิดลักษณะการทำงานใหม่ ๆ 

 

บางคนได้ประโยชน์ ส่งอาหาร เดลิเวอรีได้ประโยชน์ บางคนเสียประโยชน์ ตกงาน เราจะดูแลคนไทยด้วยกันอย่างไร เราคงไม่ปล่อยตามยถากรรม เราก็ต้องช่วยดูแลกัน ตรงนี้มันจะเกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่ออนาคต จะเป็นการลงทุนเพื่อสนับสนุนให้คนไทยสามารถที่จะมีโอกาสใหม่ ๆ หาเงิน สร้างรายได้ มีอาชีพใหม่ ๆ 

 

นักศึกษาจบมาในช่วงนี้ ผมว่าหนาวเหมือนกันว่าหางานได้หรือเปล่า แต่ถ้าเราเริ่มลงทุน สร้างความหวัง นักศึกษาก็จะเห็น คนที่ทำงานแล้วตกงานในช่วงนี้ ก็จะเห็นว่าโอกาสมันมีนะ หรือคนตกงาน นี่ก็โทษธุรกิจ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ เพราะว่าเขาก็ถูกกระทบ แต่ทำอย่างไรให้คนตกงาน จากตกงานชั่วคราว อย่าให้เป็นตกงานถาวร

 

ถ้าเราสามารถที่จะมาช่วยกันคิด ภาครัฐ ภาคเอกชน ทำเป็นโครงการซึ่งเป็นระบบเลย คนที่ตกงาน ก็อาจจะตกงานแค่ชั่วคราว ไม่กลายเป็นตกงานถาวร ซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคตทันที ถ้าไม่ดูแล ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าจำเป็นต้องลงทุนเพื่ออนาคตนะ เรื่องของการลงทุนพูดได้มากมายนะครับ ลงทุนพื้นฐาน นี่ผมไม่ได้หมายถึงลงทุนในเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มันเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาคนไทยด้วยกัน เปิดโอกาสให้คนไทย

 

ถาม : ทักษะใหม่ ๆ ที่ต้องมีอะไรบ้าง? 

 

สำหรับโลกใหม่ที่เราเห็น พูดกันไปถึง Metaverse พูดไปถึงอะไรพวกนั้น ฟังแล้วอาจจะไกลตัว แต่ด้วยความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เหล่านี้มันเปิดโอกาสนะ ผมคิดว่าภาครัฐ กับภาคเอกชน สามารถที่จะทำงานด้วยกัน แล้วใช้งบประมาณ ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าสูงสุด  เรื่องของการยกระดับ ผมใช้คำว่ายกระดับ ในภาพใหญ่ ขีดความสามารถของคนไทย สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้คนไทย จะทำกันอย่างไร นี่คืออีกท่อนหนึ่ง

 

ท่อนแรกที่ผมเรียนก็ จำเป็นต้องช่วยทันที ดูแลกันทันที ให้มีเงินพอในกระเป๋า ท่อนสอง ฟื้นฟู ให้มีทุนพอ อีกท่อนหนึ่ง ต้องลงทุนเพื่ออนาคต ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าปี 2565 ส่วนตัวผมอยากเห็นเกิดขึ้น

                              อุตตม สาวนายน : 2565 ปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ สร้างความหวังให้คนไทย

ถาม : ปีหน้าประชาชนจะมีความหวังในการ “สร้างอนาคตใหม่” บ้างได้ไหม?

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เผชิญกันทุกประเทศ ก็คือความเป็นจริง เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราพูดกัน ผมคิดว่ามันอยู่ที่ว่าแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย สามารถที่จะรวบรวมทรัพยากร มีมากน้อยไม่เท่ากัน แต่ประเทศไทยต้องยอมรับว่าเรามีทรัพยากรค่อนข้างมาก อย่างน้อยอาหารเราไม่ขาด เราไม่ใช่ประเทศยากจน 

 

แต่ประเด็นคือ จะรวบรวมแล้วมีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้พวกเราสามารถร่วมกันยกระดับขีดความสามารถโดยรวมของประเทศได้ ต้องลงทุนเพื่ออนาคต ถึงจะยกขีดความสามารถได้ แต่จะลงทุนอะไรนั้น เป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องมาช่วยกันคิด ทั้งด้านสังคม ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสาธารณสุข ทั้งหมด ทรัพยากรมนุษย์ จะลงทุนอย่างไร 

 

คือประเด็นนี้ผมอยากเรียนอย่างนี้ด้วยว่า มันไม่ใช่แต่เรื่องขีดความสามารถโดยตัวของมันเอง แต่มันเป็นเรื่องของการให้ความหวังประชาชน ถ้าเราจะปรับเปลี่ยนประเทศ ยกขีดความสามารถ ประชาชนต้องรู้สึกในใจว่ามีความหวังนะ เข้าใจว่าต้องแข่งขัน 

 

แต่ความหวังมีไหม? จะมีความหวังได้อย่างไร มันก็ต้องมีภาพและมีทางเดินที่ชัดเจนพอสมควร ทำได้จริงว่า ถ้าเราร่วมกันทำอย่างนี้ ประเทศไปได้ ลูกหลานมีงานทำ คนเคยตกงานยังมีโอกาสเปลี่ยนงานได้ อันนี้ผมคิดว่าจริงๆ หัวใจ แก่นของมันอยู่ตรงนี้ว่า ต้องสร้างความหวัง เศรษฐกิจจะฟื้นฟู พลิกฟื้นได้ มันเป็นเรื่องของจิตใจ ของความหวัง แต่ก็ต้องมีของที่สัมผัสได้ให้เห็น

 

#ความหวังสร้างได้ 

 

#ประเทศไทยในฝัน 

 

#อนาคตไทย