รุมเตะตัดขา “อุตตม” ผวาพรรคใหม่แย่งคะแนนเสียง

24 ธ.ค. 2564 | 09:04 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 16:20 น.

การพ้นจากเก้าอี้ ส.ส.ของ “สิระ เจนจาคะ” ใน “เกมการเมือง” ถูกโยงให้เอาผิดไปถึง “อุตตม สาวนายน” อดีตหัวหน้าพรรค พปชร. ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกำลังจะก่อกำเนิดเกิดใหม่ทางการเมืองหรือไม่ ถึงมีความพยายาม “เตะตัดขา”

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ นายสิระ เจนจาคะ พ้นจากการเป็น ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เหตุขาดคุณสมบัติสมัครส.ส.จากการเคยจำคุกในคดีฉ้อโกง ได้มีอดีตนักการเมือง และบางพรรคการเมืองออกมเรียกร้องให้มีการเอาผิด “หัวหน้าพรรค” ที่รับรองให้ นายสิระ ลงสมัครส.ส.

 

เริ่มจาก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และอดีตผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาระบุว่า ลมหนาวอาจไม่พัดผ่านแค่ย่านหลักสี่ แต่อาจหนาวยะเยือกไปถึงที่อยู่ของคนที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคในขณะที่มีการรับสมัคร ส.ส.ด้วย 

นายสมชัย ชี้ว่า  มาตรา 120 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ระบุว่า หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดออกหนังสือรับรอง ผู้สมัครรับเลือกตั้งอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐขณะนั้นคือ นายอุตตม สาวนายน

ขณะที่ นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า ก็ออกมาระบุเช่นกันว่า หากเป็นกรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติ แล้วยังส่งสมัครรับเลือกตั้ง คงไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของ นายสิระ คนเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งมีอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นแล้วว่า เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 120 หากผิดจริง มีผลให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งถึง 5 ปี

 

โฆษกพรรคกล้า กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องให้ความกระจ่างว่าจะมีการดำเนินคดีกับอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เพราะหาก กกต.ไม่ดำเนินการ กกต.เองจะเสี่ยงทำผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ ส่วนจะรู้เห็นหรือมีเจตนา รับรองตัวผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติหรือไม่ เป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณา หากผิดจริง ก็น่าเสียดาย เพราะคงกระทบต่องานการเมืองที่อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กำลังจะทำ

 

ดังนั้น อยากให้ กกต.ดำเนินคดี เพื่อสร้างบรรทัดฐานว่า เวลาพรรคการเมืองมีมติจะส่งใครเป็นผู้สมัคร ควรคัดกรองให้ถี่ถ้วนก่อนการอ้างว่าไม่รู้หรือไม่มีเจตนา ไม่ใช่คำตอบที่สังคมคาดหวัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นบทสะท้อนมาตรฐานและคุณภาพของพรรคการเมืองในการคัดกรองผู้สมัครด้วย

 

จากความเห็นของ ทั้ง สมชัย ศรีสุทธิยากร และ โฆษกพรรคกล้า ดังกล่าว ถูกโต้แย้งจาก นักกฎหมาย และนักวิชาการ 

 

เริ่มจาก นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีเป็นทนายความ ที่โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าวว่า สังคมวุ่นวายเพราะความเห็น ที่ไม่ประกอบด้วยความรู้

 

นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เขียนข้อความในเฟซบุ๊ก ทำนองว่า หัวหน้าพรรคที่ออกหนังสือรับรองคุณสมบัติให้ท่านอดีตส.ส.สิ ระ เจนจาคะ ท่านยังตั้งใจทำการเมืองต่อหรือไม่ เพราะเรื่องอาจต่อเนื่องไปถึงการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ 

 

ผมไม่อยากให้ใครพยายามบิดเบือนกฎหมายจะด้วยเจตนาอะไรก็แล้วแต่ ผมเพียงแต่อยากให้ความรู้แก่ท่านที่ต้องการแสวงหาความรู้ในเรื่องนี้

 

1.กฎหมายอาญาลงโทษการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาเท่านั้น เว้นแต่บางเรื่องที่แม้ไม่เจตนากฎหมายก็ถือเป็นความผิด เช่น ประมาท แม้ไม่เจตนาก็เป็นความผิด

 

2.การรับรองข้อความอันเป็นเท็จ จะเป็นความผิดต่อเมื่อ ผู้รับรองรู้ว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ แต่ไปรับรองว่าไม่เท็จ อย่างนี้จึงจะผิด

 

3.การรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครส.ส.นั้น เขาให้ผู้สมัครรับรองคุณสมบัติตัวเองในแบบฟอร์มตอนสมัครลงส.ส.ต่อพรรคการเมือง และต้องรับรองคุณสมบัติของตนเองต่อเจ้าหน้าที่ตอนสมัครต่อกกต.อีกครั้งหนึ่ง หัวหน้าพรรคเพียงแต่ทำหนังสือรับรองว่า กรรมการบริหารพรรคมีมติส่งใครลงสมัครเท่านั้น 

 

“หัวหน้าพรรคไม่มีทางรู้หรอกว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ใครถูกศาลพิพากษาคดีอะไรมาบ้าง ถ้าหัวหน้าพรรครู้ขนาดนั้น ผมว่า ไปเป็นหมอดูดีกว่ามาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง คนจะเข้าคิวกันไปดูหมอกันหัวบันไดไม่แห้งแน่”

 

4.ประชาชนเองก็ต้องตั้งสติในการรับฟังครับ บ้านเมืองมีปัญหากับ "ความเห็นที่ไม่ประกอบด้วยความรู้" มามากแล้ว ผมไม่แสดงความเห็นที่ไม่ประกอบด้วยความรู้หรอก กลัวคนจะหาว่าผมโง่แล้วอวดฉลาด ฝนอาจจะตกทางฝั่งอาจารย์สมชัย แต่ยืนยันว่าไม่หนาวมาถึงฝั่งนี้หรอก

 

ขณะที่ รศ.ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ระบุถึงผลคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีให้ นายสิระ เจนจาคะ พ้นส.ส. อาจส่งผลอาจทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องถูกยุบด้วยว่า เรื่องนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา แต่ถ้าหากพูดกันแบบเถรตรง รู้ทั้งรู้ไม่มีสิทธิ์สมัครแล้วยังสมัคร แนวโน้มคือต้องโดนยุบพรรค

 

แต่ต้องไม่ลืมว่าเคส นายสิระ และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คล้ายกัน โดยของ นายธนาธร เรื่องการโอนหุ้นสื่อ ยังไม่จบ อ้างได้ว่าโอนไปหมดแล้วก่อนสมัครรับเลือกตั้ง แต่ศาลไม่เชื่อ ดังนั้น ก็ต้องไปถกเถียงกันในข้อเท็จจริงต่อไป

 

รศ.ดร.สติธร กล่าวต่อว่า กรณีนายสิระ ถ้าจะสู้ก็ต้องเลี่ยงประเภทของคดี ว่าไม่รู้เป็นคดีอาญา เป็นเพียงคดีทั่วไป ซึ่งไม่เข้าข่ายตามลักษณะต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อีกทั้ง กกต.ก็รับรองว่าไม่มีปัญหา ซึ่งยังมีข้อต่อสู้อยู่

 

ส่วนหัวหน้าพรรคจะมีความผิดด้วยหรือไม่ รศ.ดร.สติธร กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า “ไม่” เพราะถ้าหากย้อนกลับไปดูก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ที่หัวหน้าพรรคเซ็นรับรองส่งผู้สมัคร แล้ว กกต.มาตรวจพบว่าขัดคุณสมบัติภายหลัง และไม่ส่งสมัครรับเลือกตั้งหลายคน ก็ไม่ปรากฏว่า จะมีหัวหน้าหรือพรรคไหนโดนยุบ

 

แต่ถ้าโดน นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเวลานั้น ซึ่งเป็นผู้เซ็นรับรองส่งผู้สมัครก็โดนด้วย รวมทั้งการเอาผิด กกต.ก็ยังไม่มีใครทำมาก่อน

 

การที่นักการเมือง หรือ คนของพรรคการเมืองใดก็ตาม ที่ออกมาเคลื่อนไหวหยิบยกกรณีของ “สิระ เจนจาคะ” โยงให้ไปเอาผิดถึง “อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” หากจะมองในมุมการ “เตะตัดขา” เพราะกลัวการกำเนิดขึ้นของ “พรรคน้องใหม่” เพื่อมาแย่งคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ก็มองได้

                                            รุมเตะตัดขา “อุตตม” ผวาพรรคใหม่แย่งคะแนนเสียง

เนื่องจากมีกระแสข่าวมาเป็นระยะว่า  “2 กุมาร” คือ อุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง และอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เตรียมจะเปิดตัว “พรรคการเมืองใหม่” ในช่วงต้นปีหน้านี้ 

 

โดยพรรคใหม่ที่ถูกจับตาที่ 2 กุมาร เตรียมเปิดตัว  “อนาคตไทย” ที่ล้อมาจากสถาบันอนาคตไทยศึกษา หรือ ThailandFuture ที่ ดร.อุตตม สาวนายน นั่งประธานคณะที่ปรึกษาแหล่งรวมกูรูผู้เชี่ยวชาญจากทุกวงการ

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 20 ธ.ค.64 สนธิรัตน์  ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “ชวนทุกท่านร่วมมองหาโอกาสใหม่ ๆ บนเส้นทางใหม่ ๆ เพื่ออนาคตประเทศไทย กับผมและคุณสนธิรัตน์ ครับ” 

 

พร้อมกับคลิปภาพบรรยากาศ นั่งจิบกาแฟกันที่ร้านกาแฟริมแม่น้ำเจ้าพระยา คุยเรื่องบ้านเมืองกับ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 

 

หลังจากก่อนหน้านั้น เมื่อ 16 ธ.ค.64 ดร.อุตตม ก็ได้โพสต์ข้อความ “มาจิบกาแฟกันครับ... ก็ได้พูดคุยเรื่องอนาคตของประเทศ ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยคงคิดถึงเรื่องนี้กันมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ใกล้จะหมดปีแล้ว คิดว่าคนไทยต้องการเห็นโอกาสใหม่ๆ ต้องการมีความหวัง และเมื่อมีความหวัง ทุกคนก็จะสามารถร่วมกันสร้างความหวังนั้นให้เป็นความจริง ผมคงมีเรื่องมาแลกเปลี่ยนกันหลังปีใหม่อย่างแน่นอนครับ”

 

ขณะที่ สนธิรัตน์ ก็รับไม้ต่อว่า “คุยกันหลายเรื่องครับ มุมมองของเรา 2 คน ยังเป็นเรื่องอนาคตประเทศไทย แล้วจะมาเล่าให้ฟังต่อ ๆ ไปนะครับ”

 

ยังไม่ทันประกาศตั้งพรรคการเมืองเป็นทางการ เพียงแค่จิบกาแฟแล้วบอกว่าเป็นห่วง ห่วงใยอนาคตบ้านเมือง อนาคตประเทศไทยของ 2 กุมาร อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีคลัง อดีตหัวหน้าพรรพลังประชารัฐ และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมต.พลังงานและอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ก็ถูกคมหอก ปลายดาบ ทิ่มแทงเข้ามาทุกสารทิศ 

 

จะว่ารับน้อง จะว่ากังวลกับการก่อกำเนิดเกิดใหม่ จะว่าแซะ ว่าทิ่ม ว่าสกัด เตะตัดขา เผื่อให้ทั้ง 2 คนได้กลับไปทบทวนและได้คิด ถ้าจะลุยการเมือง อาจจะโดนหนักกว่านี้  

 

ต้องยอมรับว่าทั้ง 2 ไม่ได้เชี่ยวชาญในทางการเมือง ออกจะเป็นละอ่อนทางการเมืองด้วยซ้ำ แต่เป็นภาพของผู้เชี่ยวชาญในทางเศรษฐกิจมากกว่า 

 

ต้องยอมรับว่าภาพจำของทั้ง 2 คนเป็นเรื่องเศรษฐกิจ มาจากแนวคิด แนวแก้เศรษฐกิจเสียมากกว่า 

 

แต่การออกมาโหมกระหน่ำทิ่มแทงเข้าไป เสมือนเกิดความกังวล เป็นความกังวลว่าสมาชิกของตัวเองจะเดินไปร่วมกับ 2 กุมาร นั่นหมายถึงตัวเองฝ่อลง ซีดลง 

 

กังวลว่า 2 กุมารจะเติบใหญ่ แย่งชิงมวลชน ฐานคะแนนเสียง จากผู้ที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองแบบขั้วข้าง 
กังวลว่าคนจะเบื่อหน่ายการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แตกแยก มองไม่เห็นอนาคตประเทศ หนีไปหาอนาคตไทย

 

การจิบกาแฟส่งสัญญาณตั้งพรรคการเมือง นำมาซึ่งความไม่สบายใจ นำความกังวลให้กับพรรคการเมืองทั้ง 2 ซีก ทั้งอนาคตใหม่ ก้าวไกล ทั้ง ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ กระทั่งพรรคเล็กพรรคน้อยที่มองเห็นเป็นคู่แข่งแย่งมวลชน 

 

เมื่อกังวล ก็จำต้องออกอาวุธสังหาร หรือเอาใจช่วยถ้าใครจะออกอาวุธสังหาร 

 

เอาให้ตายดับดิ้นลงไปก่อนให้ถือกำเนิด..