‘สมคิด-อุตตม-สนธิรัตน์’ คัมแบ็กการเมือง สร้างทางเลือกใหม่

09 ก.ค. 2564 | 00:00 น.

“สมคิด-อุตตม-สนธิรัตน์”หวนคืนการเมือง จ่อตั้งพรรคเป็นทางเลือกใหม่ หลังร่วมเปิดสถาบันอนาคตศึกษา “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์” ดึงคนรุ่นใหม่ทุกกลุ่มอาชีพ ระดมสมองเสนอแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม

เก็บตัวเงียบมานาน ในที่สุด อุตตม สาวนายน อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ อดีตรมว.คลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และ อดีตรมว.พลังงานก็ได้สร้างความฮือฮาขึ้นมา

 

ด้วยการดึง คนรุ่นใหม่ ทุกกลุ่มอาชีพ เตรียมเปิดตัว สถาบันอนาคตศึกษา “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์” เพื่อเป็นเวทีระดมสมอง เสนอแนะแนวคิดแก้ปัญหา ทั้งด้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจปัญหาสังคม การต่อสู้วิกฤติโควิด-19 การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น 

 

หลังจากใช้เวลาซุ่มศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มาระยะหนึ่ง ท่ามกลางปัญหาไวรัสโควิด-19 เพื่อมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยจะเสนอแนะผ่านหลายช่องทาง หลายแพลตฟอร์ม 

 

สำหรับ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทุกกลุ่มอาชีพ ที่ถูกดึงมาร่วมงาน อาทิ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ บุตรชาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์อดีตรองนายกฯ และ หลานชายนักเศรษฐศาสตร์อย่าง ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ อดีตโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ สมัยรัฐบาลคสช. 

 

โดยเตรียมเสนอแนวคิดการแก้ปัญหาต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ผ่านเฟซบุ๊ก และแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจ และสังคม

 

อุตตม ซึ่งเป็นประธานคณะที่ปรึกษาสถาบันไทยอนาคตศึกษา "ไทยแลนด์ฟิวเจอร์”  ได้ออกมาระบุถึงวัตถุประสงค์ของการตั้งสถาบันดังกล่าวว่า สถาบันไทยอนาคตศึกษา หรือ ThailandFuture ที่เปิดตัวครั้งนี้ นับเป็นเวลาที่ประเทศไทยและคนไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

ประการแรก ในช่วงหนึ่งปี กว่าที่ผ่านมา โควิดส่งผลกระทบเฉียบพลันรุนแรงและกระจายสู่ทุกภาคส่วน โจทย์เร่งด่วนก็คือ เราจะร่วมกันจัดการต่อสถานการณ์โควิดให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงได้อย่างไร ทั้งเฉพาะหน้าและต่อเนื่องในอนาคต เพื่อความปลอดภัย ซึ่งยึดโยงกับเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชน

 

ประการที่สอง ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน เราจำเป็นต้องมองไปข้างหน้า คำนึงถึงอนาคตของประเทศไทยในภาวะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในแทบทุกมิติของสังคม โควิดเป็นตัวเร่งที่มีอิทธิพลสูง ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการพัฒนาในแนวทางใด ให้มีขีดความสามารถที่จะปรับตัวและจัดการกับความท้าทายใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างโอกาสดีๆ และความมั่นคงในชีวิตให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป

 

จากโจทย์ที่สำคัญเหล่านี้ทีม ThailandFuture จึงเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนจากหลายภาคส่วน หลากหลายประสบการณ์และอาชีพ จากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐรวมทั้งหลายช่วงอายุ โดยอาสาทำงานแบบเวทีเปิดโอเพ่นแพลตฟอร์ม (Open Platform) ที่ส่งเสริมสนับสนุนการรวมพลังความคิดของคนไทย เพื่อร่วมกันคิด วิเคราะห์และตกผลึกในการแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่สั่งสมมานาน รวมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศอย่างครอบคลุมและยั่งยืน 

 

‘สมคิด-อุตตม-สนธิรัตน์’ คัมแบ็กการเมือง สร้างทางเลือกใหม่

 

“ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาสัมผัส ThailandFuture มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด มุมมองกับทีมงาน เพื่อให้เรามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตไทยด้วยกัน” อุตตม รบุ

 

ความเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการ ที่นำโดย อุตตม สาวนายน ครั้งนี้ น่าจับตาอย่างยิ่ง ภายหลังจากถูกแรงกดดันทางการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ จนต้องแยกทางกับพรรคออกมา 

 

และคาดหมายกันว่า อุตตม และ สนธิรัตน์ ที่มี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นพี่ใหญ่ ไม่น่าจะทิ้งการเมืองคงรอเวลาเพื่อการกลับมาอีกครั้ง 

 

จวบจนเมื่อมีการเปิดตัวสถาบันอนาคตศึกษา “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์” ในจังหวะเวลาที่หลายพรรคการเมืองทั้งเก่า และใหม่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง

 

ทำให้คิดเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก อุตตม และ สนธิรัตน์ ภายใต้สนับสนุนของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์กำลังปูทางไปสู่การตั้ง “พรรคการเมือง” ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็น “ทางเลือกใหม่” ให้กับประชาชน 

 

จาก‘คลังสมอง’สู่พรรคการเมือง

 

‘สมคิด-อุตตม-สนธิรัตน์’ คัมแบ็กการเมือง สร้างทางเลือกใหม่

 

ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก Kittitouch Chaiprasith ระบุตอนหนึ่งว่า การเมืองในยุคต่อจากนี้ จะเป็นยุคของการสร้างพื้นที่รวมชุดความคิด ในการพัฒนาประเทศผ่านองค์กร “คลังสมอง” (Think Tank) ก่อน แล้วเรื่องพรรคการเมืองจึงตามมาทีหลัง

 

ที่ผ่านมาพรรคการเมืองจดใหม่เกือบทั้งหมด จัดตั้งขึ้นจากความผิดหวัง แบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัว หรือพลาดตำแหน่งสำคัญในพรรค 

 

สุดท้ายก็เลยลงเอยแบบเดิมที่แค่มีชื่อใหม่ แต่แนวทางการทำการเมืองก็เหมือนเดิม หาเสียงแบบเดิมๆบอกว่า ขยันแต่ประดิษฐ์วาทกรรมว่าตนเองแตกต่างและดีกว่าคนอื่น และแข่งกันสร้างภาพ

 

แต่การเมืองในยุคถัดไป จำเป็นต้องมีองค์กร/หน่วยงาน/มูลนิธิคลังสมอง (Think Tank) เป็นที่รวมความคิดในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ เสียก่อน เพื่อที่จะได้ดึงคนเก่งที่ไม่ได้อยากจะเป็น ส.ส.หรือนักการเมือง แต่อยากจะพัฒนาประเทศในด้านที่ตนมีความถนัดไว้ด้วยกัน

 

จากนั้นพรรคการเมืองจึงค่อยนำองค์ความรู้และบุคลากรที่มีศักยภาพจากองค์กรเหล่านั้น มาทำงาน ไม่ว่าจะในพรรคการเมือง หรือในรัฐบาล กระทรวงต่างๆ หลังเข้าไปบริหาร

 

หากใครที่รวมกลุ่มมวลชนที่มีความคิดและฝีมือในการพัฒนาประเทศ (โดยไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวกับพรรคการเมืองอย่างเต็มตัว) ได้ก่อนกลุ่มนั้นจะได้เปรียบในการทำการเมืองหลังยุคสองพรรคใหญ่จับมือกัน

 

จนวันนี้เริ่มเปิดตัวมาเป็น Thailand Future ที่เป็นมูลนิธิคลังสมอง ที่ ดร.สมคิด ให้ลูกชายสองคนไปวางไว้ตั้งแต่หลายปีก่อน 

 

ที่สำคัญคือ Connection ของ ดร.สมคิด นั้นไม่ธรรมดา มีทั้งเครือข่ายนักธุรกิจ หอการค้า ภาคประชาสังคม เศรษฐกิจฐานราก (รวมลุงชวน ชูจันทร์ ถึงผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐที่ออกจากพรรคมานานแล้วด้วย) ไหนจะมหาวิทยาลัยชั้นนำ และนักวิชาการอีกมาก

 

ก็รอดูกันครับว่าเขาจะเดินหมากอย่างไรต่อไป

 

แต่จุดอ่อนของทีม 4 กุมาร คือ ขาดทีมยุทธศาสตร์การเมืองและคนทำงานพื้นที่ ดังนั้นจำเป็นต้องหาทีมการเมืองระดับ Ground War มาช่วย เพื่อเติมเต็มจุดแข็งของการเป็น Technocrat ที่พวกตนมี

 

สุดท้ายนี้ก็ฝากไว้ หากอยากทำการเมืองยุคใหม่ คุณต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่คลังสมอง (Think Tank) และการทำงานประชาสังคม (แบบที่หลายประเทศเขาทำกัน) ให้มาก 

 

เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะลงสมัคร ส.ส.หรือเป็นผู้แทนเขาแค่อยากมีพื้นที่ในการทำงานปล่อยของ หรือพัฒนาประเทศ ดังนั้น หากใครก็ตามที่รวมคนกลุ่มนี้ไว้ได้ และผลักดันให้เกิดโครงการดีๆ กับสังคมได้ ตั้งแต่ยังไม่เข้าไปมีอำนาจ

 

กลุ่มการเมืองนั้นแหละที่จะชนะใจประชาชนในระยะยาวหลังจากนี้อีก 5 ปีข้างหน้า (เป็นอย่างน้อย) 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,695 หน้า 12 วันที่ 11 - 14 กรกฎาคม 2564