เปิดประชุมมา 47 วัน สภาล่มซ้ำซาก 4 หน ส่อไปไม่รอด!

17 ธ.ค. 2564 | 11:02 น.

เปิดประชุมมา 47 วัน สภาล่มซ้ำซาก 4 หน ส่อไปไม่รอด ทั้งสภา และ รัฐบาล “ฝ่ายค้าน”ประกาศจะให้บทเรียนรัฐบาลแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะปรับตัวเอง หรือจนกว่าจะยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 17 ธ.ค.2564 ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม หลังจากเปิดให้ส.ส.หารือถึงปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน ได้เข้าสู่การพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ฯ พิจารณาแล้วเสร็จ
โดยการพิจารณาดังกล่าวเป็นขั้นตอนของการลงมติว่า จะเห็นชอบรายงานเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการหรือไม่ 

 

ก่อนการลงมติต้องตรวจสอบองค์ประชุม แต่พบว่า ส.ส.ของฝั่งรัฐบาลมีจำนวนไม่พอที่จะเป็นองค์ประชุม ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้านซึ่งอยู่ในห้องประชุม ไม่กดบัตรแสดงตน แม้จะมีการกดสัญญาณเพื่อเรียกสมาชิกให้เข้าห้องประชุม หรือพักการประชุม เมื่อกลับมาประชุม ปรากฏว่าส.ส.มีเพียง 235 คน จากสมาชิกทั้งหมด 476 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ต้องได้ 238 เสียง ไม่ครบองค์ประชุม ประธานจึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 11.50 น.

47 วันสภาล่ม 4 ครั้ง

 

เป็นอันว่า “สภาล่มซ้ำซาก” เป็นหนที่ 4 แล้ว นับแต่เปิดสมัยประชุมสภามา 47 วัน นับแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 

 

ครั้งแรกที่ประเดิมสภาล่มคือ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.64 (ประชุมสภาวันแรกหลังเปิดสมัยประชุม)

 

- องค์ประชุมไม่ครบระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.... ประธานฯ ต้องสั่งปิดประชุม 

 

ถัดมาวันที่ 17 พ.ย.64 

 

- องค์ประชุมบางตาระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่....)พ.ศ.... ประธานฯ ต้องชิงสั่งปิดประชุม 


- หลังจากนั้นเกิดการวัดพลังกันระหว่าง ส.ส.รัฐบาล กับ ฝ่ายค้าน เล่นเกมนับองค์ประชุมหลายครั้ง

ต่อวันที่ 15 ธ.ค.64 

 

- องค์ประชุมไม่ครบระหว่างรอโหวตส่งร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ กลับไปให้ ครม.พิจารณา ประธานชิงสั่งปิดประชุม ทั้งๆ ที่กดบัตรแสดงตนแล้ว แต่ไม่ยอมขานคะแนน
และครั้งที่ 4 สดๆ ร้อน ๆ คือ วันนี้  17 ธ.ค.64

 

- องค์ประชุมขาด 3 เสียงหลังขานคะแนน เพิ่อลงมติเห็นชอบรายงาน กมธ.น้ำ ประธานฯ สั่งปิดประชุม

 

ทั้งนี้ องค์ประชุมล่ม 2 ครั้งใน 4 ครั้ง นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานฯ และสั่งปิดประชุม ส่วนอีก 2 ครั้งเป็น นายศุภชัย โพธิ์สุ สั่งปิดประชุม

 

“ชวน”ชี้รัฐบาลเสียงข้างมากต้องรับผิดชอบ

 

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาสภาล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบว่า ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสมาชิกด้วยดีมาตลอด แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีปัญหาองค์ประชุมไม่ครบบ่อยครั้ง ทั้งสมาชิกเข้าแสดงตนไม่ทัน และนั่งอยู่มุมห้องประชุมแต่ไม่แสดงตน เท่าที่ตรวจสอบมีฝ่ายค้าน แสดงตนไม่กี่คนทำให้องค์ประชุมขาด

 

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ส่วนตัวจะไม่วิจารณ์ แต่รัฐบาลต้องเตรียมคนให้พร้อม แต่เรื่ององค์ประชุมเป็นหน้าที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่ระบบรัฐสภา รัฐบาลมาจากเสียงข้างมาก ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบในเบื้องต้น ต้องพยายามทำให้องค์ประชุมให้ครบ ฝ่ายค้านก็มีหน้าที่ร่วมกัน

 

นายชวน ยอมรับว่า มี ส.ส.บ่น หลังเพิ่มประชุมวันศุกร์ เพราะต้องการไปต่างจังหวัด แต่การนัดประชุมเป็นความเห็นชอบร่วมกัน โดยสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี และจะเพิ่มศุกร์ และไปหยุดวันที่ 29-30 ธ.ค.2564 เพื่อให้ ส.ส. กลับต่างจังหวัด

 

“การทำงานของสภาผู้แทนราษฎรยังเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ขัดข้อง ไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้ แต่บางวาระที่เป็นเรื่องกรรมาธิการ เป็นเรื่องของสมาชิกทุกพรรคไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาล ฝ่ายค้าน ไม่ควรมีปัญหาประท้วงจนทำให้ไม่ครบองค์ประชุม เพราะจะเป็นการเสียโอกาสทั้ง 2 ฝ่าย”

 

ฝ่ายค้านให้บทเรียนรัฐบาลจนกว่าจะยุบสภา

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาสภาล่มวันนี้ ว่า หากมีการมองว่าเป็นเกมการเมือง ตนก็ไม่เถียง เพราะเราก็เล่นเกมการเมืองแบบโปร่งใสให้เห็นกันไม่ใช่แอบเล่น เพราะถ้าแอบเล่นเราคงอยู่เป็นองค์ประชุมเพื่อเข้าสู่วาระแล้ว แล้วไปออกตอนลงมติก็จะทำให้กฎหมายที่เสนอมาถูกตีตกไปด้วย

 

“ฝ่ายค้านมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น และประกาศชัดมาก่อน โดยเสียงรัฐบาล266 เสียง เสถียรภาพถือว่าง่อนแง่น สุ่มเสี่ยงผิดพลาด ส่วนฝ่ายค้านมี 209 เสียง หากฝ่ายค้านไม่เข้มข้นจะเกิดผลเสียทั้งระบบ และเพื่อประโยชน์โดยรวม หากฝ่ายค้านปล่อยไม่ขันน็อตในสภาฯ จะทำให้ประชาชนยากลำบากมากขึ้น”

 

นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยวา สภาล่ม 4 ครั้งในสมัยประชุมนี้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาในการพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาล จะมาโทษฝ่ายค้านคงไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่เป็นฝ่ายรักษาองค์ประชุม ในฐานะเสียงข้างมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องพร้อมแม้หน้าที่มาประชุมเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่ระบบรัฐสภา เป็นระบบเสียงข้างมาก จะเอาเสียงข้างน้อยมาอ้างไม่ได้

 

นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า ฝ่ายค้านจะให้บทเรียนรัฐบาลแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะปรับตัวเอง หรือจนกว่าจะยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน เพราะฝ่ายค้านไม่อยากเห็นสภาที่เป็นเป็ดง่อยทำอะไรไม่ได้เลย 
“แม้แต่ พ.ร.ก.เงินกู้ รัฐบาลยังไม่กล้าเอาเข้าสภา แล้วจะบริหารประเทศไปได้อย่างไร ตอนนี้ก็มีปัญหาเงินกู้ กยศ. ก็ยังไม่ออก เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน จะเอาเงินกู้มาช่วยก็ทำไม่ได้เพราะกลัวสภาล่ม ยืนยันว่าฝ่ายค้านไม่กลั่นแกล้ง แต่เราต้องการประสิทธิภาพ และความรับผิดชอบของฝ่ายสียงข้างมาก”

 

เปิดรายพรรคส.ส.ไม่แสดงตน 

 

สำหรับการประชุมสภาที่เพิ่งล่มในวันที่ 17 ธ.ค.64 นี้ จากรายงานผลการตรวจสอบการออกเสียงลงคะแนนเป็นรายพรรค พบว่า ส.ส.ที่ไม่เสียบบัตรแสดงตน ดังนี้

 

ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย มากที่สุด คือ 126 คนจากทั้งหมด 131 คน 

 

รองลงมา คือ พรรคก้าวไกล 46 คน จากทั้งหมด 52 คน 

 

ตามด้วยพรรคพลังประชารัฐ 19 คน จากทั้งหมด 117 คน 


พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน จากทั้งหมด 49 คน 


พรรคเสรีรวมไทย 9 คน จากทั้งหมด 10 คน 


พรรคชาติไทยพัฒนา 8 คน จากทั้งหมด 12 คน 


พรรคภูมิใจไทย 7 คน จากทั้งหมด 59 คน 


พรรคประชาชาติ 6 คน จากทั้งหมด 7 คน 


พรรคเพื่อชาติ 5 คน จากทั้งหมด 6 คน 


พรรคเศรษฐกิจใหม่ 2 คน จากทั้งหมด 6 คน 


พรรคพลังท้องถิ่นไท 1 คน จากทั้งหมด 5 คน 


พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 คน จากทั้งหมด 1 คน 


พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน จากทั้งหมด 1 คน 


พรรคพลังชาติไทย 1 คน จากทั้งหมด 1 คน 


พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน จากทั้งหมด 1 คน 


และพรรคพลังชาติไทย 1 คน จากทั้งหมด 1 คน 

 

โดยพรรคที่มี ส.ส.แสดงตนครบทุกคน ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทรักธรรม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย และพรรคพลังธรรมใหม่

 

สำหรับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ไม่แสดงตน อาทิ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ,นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ , นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เป็นต้น 


ขณะที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลที่ไม่แสดงตน อาทิ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ,นายรังสิมันต์ โรม ,นายธีรัจชัย พันธุมาศ เป็นต้น 


สำหรับพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.ที่ไม่แสดงตน อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี, นายฐานิสร์ เทียนทอง เป็นต้น 


ขณะที่พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.ที่ไม่แสดงตน อาทิ นายธนยศ ทิมสุวรรณ , นายพรชัย อำนวยทรัพย์ เป็นต้น 
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.ที่ไม่แสดงตน อาทิ น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร, นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์, นายเกียรติ สิทธีอมร เป็นต้น


สถานการณ์การประชุมสภาที่ “สภาล่มซ้ำซาก” หากยังเป็นอยู่แบบนี้ คงไปไม่รอดทั้งสภา และ รัฐบาล เป็นแน่แท้...