“จักรทิพย์”ลงพื้นที่สกลนคร จับตาคุมอีสานเหนือ

13 พ.ย. 2564 | 05:56 น.

“จักรทิพย์” เดินทางลงพื้นที่สกลนคร ตรวจสภาพน้ำ ร่วมกับ “บิ๊กป้อม” ท่ามกลางกระแสจับตาเข้า “พลังประชารัฐ” คุมพื้นที่อีสานเหนือ

วันที่ 13 พ.ย.2564 วันที่ 13 พ.ย. 2564 พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.สกลนคร โดยมี นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ให้การต้อนรับ

 

ในการลงพื้นที่สกลนคร ของพล.อ.ประวิตร ครั้งนี้นอกจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แล้วยังมีคณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอดีตนายทหารที่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่ด้วย เช่น พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.ร.อ.พิเชษฐ์ ตานะเศรษฐ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้มอบหมายให้ดูงานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำ

  พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.

นอกจากนี้ยังมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่มีกระแสข่าวว่าจะไม่ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) แต่ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลพื้นที่ภาคอีสานเหนือ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป ร่วมเดินทางมาด้วย


สำหรับกำหนดการลงพื้นที่ ช่วงเช้าพล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เดินทางถึง ห้องประชุม ภูริทัตโต อาคารโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ และแผนหลักการพัฒนา/ฟื้นฟู บึงหนองหาร จาก สทนช.

“จักรทิพย์”ลงพื้นที่สกลนคร จับตาคุมอีสานเหนือ

 

โดยบึงหนองหาร นับเป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 77,016 ไร่ เป็นต้นน้ำของลำน้ำก่ำ ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ประชาชนในพื้นที่โดยรอบหนองหาร ประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ 33 ตำบลในเขตจ.สกลนคร และจ.นครพนม ราษฎรได้ใช้ประโยชน์รวม 80,750 ครัวเรือน พล.อ.ประวิตรและคณะ ได้รับทราบความคืบหน้า การดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่การบริหารจัดการทรัพยากรประมงและนิเวศสิ่งแวดล้อม จากกรมประมง ,การบริหารจัดการน้ำในหนองหาร การชะลอ หน่วง กักเก็บน้ำ จากกรมชลประทาน

 

การบรรเทาอุทกภัย การปรับภูมิทัศน์ แนวเขตการท่องเที่ยว โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมทั้งการกำหนดแนวเขตหนองหาร โดยกรมที่ดิน ซึ่งปัจจุบันได้มีการสำรวจรังวัดปักหลักเขตแล้วได้ระยะโดยรอบ 81.25 ก.ม. มีเนื้อที่ 76,322-0-38 ไร่และรับทราบ การจัดการน้ำเสียเทศบาลสกลนคร และชุมชนรอบหนองหาร จาก ก.ทรัพย์ฯ ประกอบด้วย งานหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1)การบำบัดและฟื้นฟูคุณภาพน้ำ,2)การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ,3)การสร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและ 4)การวิจัยและนวัตกรรม โดยได้ร่วมกับ ม.เกษตร วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ในการดำเนินงาน