จากยุบพรรค “อนาคตใหม่" สู่ยุบพรรค “ก้าวไกล”

12 พ.ย. 2564 | 07:03 น.

จาก“อนาคตใหม่”กรณีเงินกู้ มาถึงคดีล้มล้างการปกครองฯ จะมี “อาฟเตอร์ช็อก” เกิดขึ้นกับ “ก้าวไกล” จนถึงขึ้นยุบพรรคหรือไม่ น่าติดตามยิ่งนัก

 

หลัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ว่า การกระทำของกลุ่มแกนนำแนวร่วมม็อบราษฎร ประกอบด้วย 1.นายอานนท์ นำภา 2.นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง และ 3. น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง กรณีชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

 

โดยศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การกระทำและพฤติกรรมต่อเนื่องของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ดังกล่าว มีเจตนาซ่อนเร้น เซาะ กร่อนบ่อนทำลาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพมุ่งล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 และเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ผลพวงจากคำตัดสินของศาล 3 แกนนำม็อบดังกล่าว อาจถูกดำเนิน “คดีอาญา” โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ตามมา ทั้งจะสร้างความ “ลำบาก” ให้กับ “ม็อบราษฎร” หรือ กลุ่มผู้ชุมนุมอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวหรือคิดจะแตะต้อง “สถาบัน” ขณะเดียวกันอาจจะมี “เอฟเฟ็กต์” ทางการเมืองตามมา ถึงขั้นนำไปสู่การ “ยุบพรรคก้าวไกล” หรือไม่

 

เพราะภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวออกมา “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีล้มล้างการปกครองฯ ออกมาพูดถึงการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปว่า กระบวนการหลังจากนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอัยการที่จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปดำเนิน “คดีอาญา”

                                     

"เอฟเฟ็กต์"ล้มการปกครอง

 

สำหรับข้อเสนอการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของฝ่ายการเมือง  “ณฐพร” ยืนยันว่า จากคำวินิจฉัยจะทำให้คำร้องเอาผิด และ “ยุบพรรคก้าวไกล” ดำเนินการได้ หลังได้ยื่นคำร้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอาไว้ตาม มาตรา 92 

 

“เชื่อว่า กกต.จะขอคัดถ่ายสำเนาคำวินิจฉัยไปดำเนินการ เนื่องจากพรรคการเมือง และ ส.ส.ของพรรคดังกล่าว ให้การสนับสนุนทางการเงิน และการประกันตัวผู้ต้องหา รวมถึงอ้างว่ามีการไปร่วมชุมนุม ถือเป็นความผิด ซึ่งเชื่อมั่นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นสารตั้งต้นในการฟ้องร้องเอาผิดต่อผู้กระทำการละเมิดต่อสถาบัน” ณฐพร ระบุ

                                            จากยุบพรรค “อนาคตใหม่" สู่ยุบพรรค “ก้าวไกล”

                   

ดาบ 2 ยุบก้าวไกล

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2564 ณฐพร โตประยูร ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล

 

โดย ณฐพร แสดงความมั่นใจหลักฐานที่เชื่อมโยงว่า พรรคก้าวไกลกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2561 มาตรา 45 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองกระทําการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการก่อกวน หรือ คุกคามความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทําการอันเป็นการทําลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

 

รวมถึง มาตรา 92 ที่ระบุว่า เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น 

 

92 (2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  92 (3) กระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

 

ณฐพร ยืนยันว่า หลักฐานที่นำมาเสนอทั้งหมด เห็นได้ชัดเจนว่า “พรรคก้าวไกล” กระทำการยุยงส่งเสริมให้มีการชุมนุม ก่อความไม่สงบในบ้านเมือง และประเด็นสำคัญ ในมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง คือ กรณีที่ผู้ชุมนุมกระทำความผิดในประมวลกฎหมายอาญา ม.112 แล้วพรรคการเมืองไปสนับสนุน หรือ ส.ส.ของพรรคก็ไปประกันตัว และล่าสุดมีการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 

 

“ผมนำมาเสนอ เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องพิจารณา แต่เรามีหลักฐานความเชื่อมโยงของพรรคก้าวไกล เช่น กรณีสนับสนุนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ หรือ การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 โดยผลในทางลบที่สุดของพรรคก้าวไกล คือการถูกยุบพรรคในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ” ณฐพร ระบุ

 

ย้อนรอยยุบอนาคตใหม่

 

สำหรับ ณฐพร โตประยูร มีบทบาทในการยื่นตรวจสอบหลายเรื่อง จัดอยู่ในสาย “นักร้อง” ด้วยคนหนึ่ง

 

ย้อนไป เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2562 ในคดีอิลลูมินาติ ณฐพร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหา พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค มีแนวคิดและเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด

 

แต่เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563 ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องคดีนี้ โดยวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ตาม มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม  วันที่ 21 ก.พ.2563  พรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบใน “คดีเงินกู้ 191 ล้าน” ที่พรรคกู้เงินจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค โดยผู้ยื่นให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เป็น ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ยื่นต่อ กกต.ก่อนเรื่องไปถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ 

 

จาก“อนาคตใหม่”กรณีเงินกู้ มาถึงคดีล้มล้างการปกครองฯ จะมี “อาฟเตอร์ช็อก” เกิดขึ้นกับ “ก้าวไกล” จนถึงขึ้นยุบพรรคหรือไม่ น่าติดตามยิ่งนัก...  


+++

กกต.ขยับสอบยุบก้าวไกล 

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องของ นายณฐพร โตประยูร ที่ขอให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล จากกรณีเคลื่อนไหวทางการเมือง และยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ว่า ขณะนี้คณะกรรมการไต่สวนของสำนักงานฯ กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีข้อเท็จจริงค่อนข้างมาก จึงต้องใช้เวลา 

 

“ล่าสุดทราบว่าอยู่ระหว่างให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า 3 แกนนำกลุ่มราษฎร กระทำการล้มล้างการปกครองฯ ทางสำนักงาน กกต.จะขอคัดคำวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อนำมาพิจารณาว่ามีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับที่มีการร้องหรือไม่อย่างไร” เลขาฯ กกต.ระบุ 

 

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า การที่ส.ส.ของพรรคไปช่วยประกันตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมือง หรือพรรคเสนอแก้ไข ม.112 นั้น ไม่เข้าข่ายยุบพรรค เพราะเป็นการทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. และเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงไม่กังวลแต่ก็ไม่ประมาท แต่หากพรรคเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ก็ให้สังคมเตรียมตัว เพราะถ้ากระบวนการแบบนี้จะเกิดขึ้นซ้ำ จะเป็นระเบิดลูกใหญ่ในอนาคต