“ดร.ไชยันต์”ย้อนอดีต “ข้อสอบรั่ว” สมัย “อุ๊งอิ๊ง”เอนทรานซ์เข้าจุฬาฯ

29 ต.ค. 2564 | 08:50 น.

“ดร.ไชยันต์” ย้อนอดีต “ข้อสอบรั่ว” สมัย “อุ๊งอิ๊ง” เอนทรานซ์เข้าจุฬาฯ เป็นปมปริศนาความไม่เสมอภาคและความอยุติธรรมทางการศึกษาในปี 2547 #เหยื่ออธรรมนิรนาม

 

วันนี้(29 ต.ค.64) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ระบุว่า

 

ปมปริศนาความไม่เสมอภาคและความอยุติธรรมทางการศึกษาในปี พ ศ 2547

 

กรณีข้อสอบ Entrance ปี 47 รั่ว

 

แพรทองธาร คะแนนสูงมหัศจรรย์

 

เมื่อคะแนน Ent ครั้งนั้นออก

 

ผลการสอบของลูกสาวนายกฯ เทียบกับครั้งแรกตะลึง

 

ภาษาไทย จาก 52 เพิ่มเป็น 72

 

สังคม จาก 41.25 เพิ่มเป็น 67.5

 

ภาษาอังกฤษจาก 64 เพิ่มเป็น 84

 

คณิตศาสตร์ 2 จาก 27 เพิ่มเป็น 63

 

ศ.ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดซองต้นฉบับการ์ดข้อสอบ วิชาภาษาไทยและ วิชาสังคมศึกษาก่อนส่งให้คณะอนุกรรมการพิมพ์ข้อสอบ

 

ผลสรุปเอ็นทรานซ์รั่ว “ทักษิณ-อดิศัย”ต้องรับผิดชอบ (14 มิ.ย.47)

 

สรุปเอ็นทรานซ์รั่ว “ทักษิณ-อดิศัย”ต้องรับผิดชอบ

                       “ดร.ไชยันต์”ย้อนอดีต “ข้อสอบรั่ว” สมัย “อุ๊งอิ๊ง”เอนทรานซ์เข้าจุฬาฯ

 

กรณีข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเอ็นทรานซ์รั่วที่ปรากฏขึ้นในรัฐบาลชุดนั้น ถือเป็นรอยด่างให้กับวงการศึกษาไทยครั้งใหญ่

 

ทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อระบบการสอบเอ็นทรานซ์ ที่เคยได้รับความเชื่อถือศรัทธามานานนับสิบปีต้องสั่นคลอนอย่างหนัก

ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่างยืนยันว่า “ข้อสอบไม่รั่ว” รวมทั้งแสดงพฤติกรรมปกป้องคนผิดมาตลอด

 

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุด นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธาน มีข้อสรุปว่า “ข้อสอบรั่ว”

 

ศูนย์วิจัยฯ พรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้น เห็นว่าเมื่อผลสรุปออกมาแบบนี้ ทั้งนายกฯ ทักษิณ และ รมต.อดิศัย ต้องแสดงรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ผลสรุปคณะกรรมการสอบสวนฯ ตบหน้า “ทักษิณ-อดิศัย”

                              “ดร.ไชยันต์”ย้อนอดีต “ข้อสอบรั่ว” สมัย “อุ๊งอิ๊ง”เอนทรานซ์เข้าจุฬาฯ

 

ก่อนหน้านี้เมื่อเกิดเหตุการณ์อื้อฉาว สังคมตั้งข้อสงสัยเรื่องข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่ว เพราะมีการเปิดเผยพฤติกรรมของข้าราชการระดับสูงบางคน โดยเฉพาะ ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(ก.อ.) ว่าไม่โปร่งใส มีการเปิดดูข้อสอบหรือนำข้อสอบไปเก็บไว้ในห้องทำงาน

 

ในครั้งนั้นบรรดานักเรียน ผู้ปกครองรวมทั้งประชาชนทั่วไปเกิดความสงสัยและเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาโดยเร็ว

 

แต่ปรากฏว่า ได้รับการขัดขวางทุกวิถีทางทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะนายกฯ ทักษิณ และรมต.อดิศัยต่างออกมาปฏิเสธ

 

และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

 

อีกทั้งในบางครั้ง ยังออกมาพูดในทำนองว่า เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นเป็นเกมการเมือง หรือ มีบางกลุ่มต้องการสร้างกระแสเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสสังคมเริ่มกดดันขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลทนฝืนกระแสต่อไปไม่ไหว ก็มีการย้าย ร.ต.อ.วรเดช ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา แทนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง ให้คลายความสงสัยกับสังคม หรือ ยังมีการตบรางวัลความดีความชอบตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพิ่มให้อีก 2 ขั้น

 

ที่สุดแล้วเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงต้องยอมแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

 

และมีข้อสรุปในเวลาต่อมาว่า “ข้อสอบรั่ว”

 

รวมทั้งยังระบุว่า การกระทำของ ร.ต.อ.วรเดช เป็นการไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 ข้อ 30

 

เพราะในรายงานการสอบสวนยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนอีกว่า ร.ต.อ.วรเดช เป็นผู้เปิดดูซองข้อสอบและเปลี่ยนแปลงสถานที่เก็บข้อสอบถึงสองครั้ง

 

พฤติกรรมดังกล่าวของ ร.ต.อ.วรเดช ทางคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงยังระบุว่า มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ฐานปฏิบัติราชการไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการและมติ

 

คณะรัฐมนตรี ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการตามมาตรา 85และมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 และมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่

 

ดังนั้น เมื่อรายงานผลการสอบสวนออกมา ตรงกันข้ามกับท่าทีและคำยืนยันของผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล

 

สังคมจึงต้องการรู้ว่า ทั้งสองคนดังกล่าวจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

 

“อดิศัยท้าทายสังคม ‘ตัดตอน’ ผลสอบเอ็นทรานซ์รั่ว”

 

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อะไรคือสาเหตุจูงใจให้ ร.ต.อ.วรเดช และ รมต.อดิศัย ถึงกล้าแสดงพฤติกรรมที่ท้าทายสังคมมาตลอด

 

อย่างไรก็ดี ถ้าหากมองย้อนไปในอดีตแล้ว ก็สามารถเชื่อมโยงได้ทันทีจากคำพูดของนายกฯ ทักษิณ ที่เคยกล่าวว่า จะให้ นายอดิศัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไปจนครบ 4 ปี

 

ซึ่งถือว่าเป็นการประกันเก้าอี้กันไว้ล่วงหน้า ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ รมต.อดิศัย ไม่สนใจต่อสังคมมากนัก

 

ประกอบกับเวลานี้สิ่งที่สังคมยังตั้งข้อสงสัยและไม่พอใจคือ ความพยายามในการบิดเบือนข้อสรุปของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจาก นายอดิศัย โพธารามิก ที่เคยออกมาแถลงรายงานผลการสอบสวนเพียงบางส่วน โดยสรุปเหลือเพียง 2 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 15 หน้า

 

การแถลงดังกล่าวของ นายอดิศัย ทำให้หลายฝ่ายรวมทั้ง นายสุเมธ ถึงกับแสดงความผิดหวังพร้อมทั้งระบุว่า นายอดิศัยพยายาม “ตัดตอน” ผลการสอบสวน

 

พฤติกรรมการ “อุ้ม” พวกเดียวกันจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

 

โดยเฉพาะกรณีที่ นายอดิศัย แต่งตั้ง นายวีระศักดิ์ วงศ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) ซึ่งเป็นคนของกระทรวงศึกษาธิการด้วยกันเป็นประธานการสอบสวนวินัย ร.ต.อ.วรเดช แทนที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้สอบสวนตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ

 

พฤติกรรมของ นายอดิศัย ดังกล่าว นอกจากบ่งบอกถึงความไม่ต้องการให้มีการแสวงหาความจริงกรณีข้อสอบรั่ว รวมทั้งมีท่าทีปกป้องผู้กระทำผิดอย่างชัดเจนดังกล่าวแล้ว

 

ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในด้านการศึกษาและการบริหารทางการศึกษา

 

ซึ่งกรณีนี้นักวิชาการด้านกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ระบุว่า ร.ต.อ.วรเดช มีความผิดวินัยร้ายแรง แต่ นายอดิศัย ระบุว่า แค่มีความผิดวินัยเท่านั้น หรือ กรณีการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการซี 11 นั้น โดยหลักการแล้วจะต้องพักราชการผู้ถูกสอบวินัยร้ายแรงเอาไว้ก่อน อีกทั้งผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินการสอบสวนนั้นต้องไม่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้มีส่วนได้เสียอีกด้วย

 

นักวิชาการจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ถึงกับระบุอย่างตรงๆ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2547 ว่า สาเหตุที่นายอดิศัย ไม่ยอมเปิดเผยรายงานผลการสอบสวนทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า มีเงื่อนงำและมีการบิดบังความจริงต่อสาธารณชนอย่างแน่นอน

 

องค์กรภาคประชาชนไม่ปล่อยคนผิดลอยนวล”

 

จากพฤติกรรมพยายามปิดบังซ่อนเร้นดังกล่าวของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เกิดการรวมพลังเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรประชาชนหลายองค์กร ที่กำลังเคลื่อนไหว 2 แนวทางตามขั้นตอนคือ

 

แนวทางแรก ยื่นเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้วินิจฉัยสั่งการให้ นายอดิศัย เปิดเผยรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ

 

แนวทางที่สองนั้น จะใช้มาตรการทางสังคมโดยจะทำหนังสือถึง นายอดิศัย ขอให้ส่งรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงไปให้ ก.พ.เพื่อดำเนินการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับ ร.ต.อ.วรเดช

 

เนื่องจากเห็นว่า นายอดิศัยมีส่วนได้เสียจึงไม่มีสิทธิ์ที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ร.ต.อ.วรเดช

 

นอกจากนี้ยังจะปรึกษาไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้หรือไม่

 

และหากถึงที่สุดแล้วยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ก็จะใช้มาตรการตั้งโต๊ะเพื่อล่ารายชื่อ ร.ต.อ.วรเดช ให้ออกจากราชการ และขับไล่ นายอดิศัย ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

 

สรุป

 

ความเคลื่อนไหวของสังคมที่เกิดขึ้นเวลานั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ซึ่งกรณี “ข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่ว” เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนั้น

 

ที่สำคัญการกระทำผิดและการปกป้องการกระทำในครั้งนี้ถูกจับได้ไล่ทัน ด้วยผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นมาเอง

 

ฉะนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรีขณะนั้น นิ่งเฉยไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบใดๆ เหมือนกับกรณีอื่นๆ เป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้

 

#เหยื่ออธรรมนิรนาม

 

ขณะเดียวกัน ดร.ไชยันต์ ยังโพสต์เฟซบุ๊กว่า

 

เหยื่ออธรรมที่ไม่รู้ตัว

 

The Unknown LES MISÉRABLES !!

 

สังคมจะเห็นใจ สงสารอยากช่วยเหลือ เหยื่อหรือผู้ประสบปัญหาที่ระบุตัวได้หรือรู้ว่า ชื่อ นามสกุลอะไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร

 

ซึ่งในทางวิชาการเมืองนอก เขาเรียก เหยื่อลักษณะนี้ว่า “identifiable victim”

 

ต่างจาก เหยื่อนิรนาม ที่เป็นเพียงตัวเลขหรือสถิติ  สังคมจะไม่แคร์หรือไม่สนใจใยดี หรือแคร์น้อยมากกับเหยื่อประเภทนี้

 

จากปมปริศนาการสอบเอนทรานซ์ 2547

 

17 ปี ผ่านไป ! ชีวิตของเหยื่อนิรนามเหล่านั้นเป็นอย่างไร ? จากการถูกเบียดตกทางการศึกษา.....ไม่มีใครรู้ !!?

 

 Who cares !? 

 

ใครที่เรียกตัวเองว่า CARE เคย คิด แคร์ ต่อ เหยื่อเหล่านี้บ้างไหม ????

 

อนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่า เหยื่อเหล่านั้น “โชคดี” ที่ไม่ต้องมาเข้าร่วมหรือถูกบังคับให้ร่วมในกิจกรรม “ศักดินา” เช่น การถวายบังคม หมอบกราบ, แบกเสลี่ยงฯ, อัญเชิญพระเกี้ยวฯ

 

ป ล ผมขอขอบคุณ “บุ๊ค” นิสิตปริญญาเอกที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ ความยุติธรรมกับ “หมูป่า-ถ้ำหลวง” เพราะเขาเป็นคนไปค้นแนวคิดเรื่องความแตกต่างที่สังคมจะมีปฏิกิริยา ระหว่าง เหยื่อที่ระบุตัวได้ กับ เหยื่อนิรนาม

 

#เหยื่ออธรรมนิรนาม

 

พร้อมให้ข้อมูลว่า

 

รายชื่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตรในอดีต

 

2555 – 2558 ศ.ดร. ร้อยตำรวจเอก วรเดช จันทรศร